ช่วงที่ผ่านมา ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของปัญหาทะเลจีนใต้ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า สถานการณ์ทะเลจีนใต้ที่ดำเนินมาถึงจุดนี้เป็นผลที่เกิดจากการใช้ปฏิบัติการบางอย่างของประเทศที่เกี่ยวข้อง และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความมั่นคงของภูมิภาค และของโลก ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ทะเลจีนใต้ทวีความตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น รวมถึงอธิปไตย ทรัพยากร ยุทธศาสตร์ความมั่นคง และบางประเทศที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ อ้างข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์และต่อเนื่อง นอกจากนี้ การที่ประเทศที่เกี่ยวข้องต้องคะเนเป้าหมายยุทธศาสตร์และนโยบายต่อทะเลจีนใต้นั้นก็มีส่วนทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่ทำให้สถานการณ์ทะเลจีนใต้เพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้นคือ ตั้งแต่ค.ศ.2009 สหรัฐฯ ประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาคเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายในปัญหาทะเลจีนใต้ และเข้ามาแทรกแซงโดยตรง
ขณะนี้ สิ่งที่ทุกคนสนใจคือ สถานการณ์ทะเลจีนใต้จะพัฒนาไปทางไหน ? ด้านสหรัฐกำลังเกาะติดว่า จีนจะใช้มาตรการอะไรในขั้นต่อไป ขณะที่จีนมีข้อกังขามากต่อจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯ เห็นได้ชัดว่า มีความเสี่ยงที่ข้อขัดแย้งจะทวีความรุนแรงขึ้น กระทั่งเป็นอันตรายหากมีการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ผิดพลาด
สิทธิของจีนในทะเลจีนใต้มีมาตลอด ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือ การปกป้องอธิปไตย บูรณภาพเหนือดินแดน และรักษาสันติภาพ เสถียรภาพของภูมิภาค การวิเคราะห์จีนนั้น สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือมิติทางประวัติศาสตร์ แม้จีนกำลังพัฒนาสู่การเป็นประเทศที่เข้มแข็ง แต่ชาวจีนไม่เคยลืมประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดที่เคยถูกต่างชาติรุกราน เหยียดหยามเป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ จีนก้าวเข้าศตวรรษ 20 อย่างกะโผลกกะเผลกภายใต้สถานการณ์ที่เมืองหลวงถูกกองทัพจากประเทศจักรวรรดินิยมยึดครอง นี่เป็นสาเหตุสำคัญมากที่ประชาชนและรัฐบาลจีนมีความรู้สึกไวต่อเรื่องที่เกี่ยวพันกับอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของประเทศชาติ และไม่ยอมให้เหตุการณ์ต่างชาติรุกรานเหยียดหยามจีนเกิดขึ้นอีกอย่างเด็ดขาด ไม่ยอมให้สูญเสียดินแดนของประเทศชาติ แม้ตารางนิ้วเดียว แน่นอน ปัจจุบัน ไม่มีการคุกคามภายนอกใดที่ร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายกับการอยู่รอดและการพัฒนาของจีนได้อีกแล้ว จีนจะเดินตามหนทางสันติภาพ การพัฒนาอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ทุ่มกำลังส่งเสริมสันติภาพ การพัฒนา และความร่วมมือระหว่างประเทศ แนวคิดและคำมั่นสัญญาดังกล่าวของจีนจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกล่าวที่ประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (CICA) ครั้งที่ 5 ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ.2016 ว่า จีนมุ่งมั่นรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ พร้อมทั้งพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยและสิทธิประโยชน์ของจีนในทะเลจีนใต้อย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่มาโดยตลอด ยืนหยัดจะแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธีโดยผ่านการเจรจากับประเทศคู่กรณีที่มีส่วนเกี่ยวพันโดยตรง จากการปรึกษาหารือระหว่างนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศอาเซียนจะเห็นได้ชัดว่า แนวคิด "สองประการ"ที่เสนอโดยจีน คือ ประการแรก ให้ประเทศคู่กรณีที่มีส่วนเกี่ยวพันโดยตรงแก้ไขข้อพิพาทอย่างเหมาะสมโดยผ่านการปรึกษาหารือและเจรจา และประการที่สองคือ จีนและอาเซียนร่วมกันรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้นั้นได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากประเทศจำนวนมาก อาเซียนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลาย และการกลับสู่เส้นทางการเจรจา