ค.ศ. 2013 เนื่องจากพิจารณาถึงสถานการณ์ทะเลหนานไห่ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก และความต้องการทั้งด้านพลเรือน และการทหารบนเกาะแก่งบางแห่งในทะเลหนานไห่ ตลอดจนการป้องกันอธิปไตยเหนือดินแดน จีนตัดสินใจดำเนินโครงการก่อสร้างบนเกาะแก่งบางแห่งที่จีนได้ควบคุมไว้อย่างแท้จริง ซึ่งเกาะแก่งเหล่านี้ล้วนห่างไกลจากเส้นทางการเดินเรือระหว่างประเทศ โครงการก่อสร้างดังกล่าวจึงไม่ได้กระทบถึงเสรีในการเดินเรือแต่อย่างใด แต่สหรัฐฯและฟิลิปปินส์ประโคมข่าวกรณีดังกล่าว และกล่าวหาจีนอย่างรุนแรง วันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2015 นางฮั่ว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาชี้แจงอย่างละเอียดถึงสิ่งที่ประชาคมโลกให้ความสนใจกับสื่อมวลชนที่กรุงปักกิ่งว่า การที่จีนดำเนินโครงการบำรุงรักษาอุปกรณ์และทำการก่อสร้างบนเกาะแก่งบางแห่งในหมู่เกาะหนานซานั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ประโยชน์เกาะแก่งเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทั้งด้านการปฏิบัติงานและการใช้ชีวิตของบุคคลบนเกาะแก่งให้ดีขึ้น รวมทั้งพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดน และสิทธิประโยชน์ทางทะเลให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิบัติตามหน้าที่และพันธกรณีระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น เช่น การค้นหาและช่วยเหลือทางทะเล การป้องกันและบรรเทาภัย การวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล การตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเสริมความปลอดภัยในการเดินเรือ และการให้บริการด้านการประมง เป็นต้น การดำเนินโครงการก่อสร้างบนเกาะแก่งบางแห่งในหมู่เกาะหนานซาเป็นกิจการที่อยู่ในขอบเขตอำนาจอธิปไตยของจีน ไม่ได้กระทบ และไม่ได้พุ่งเป้าไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง ช่วงเวลาที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างต่างๆที่จะให้บริการสาธารณะแก่ประชาคมโลกดำเนินการอย่างราบรื่น โครงการก่อสร้างเหล่านี้รวมถึง ประภาคาร สถานีอุตุนิยมวิทยาแบบอัตโนมัติ ศูนย์ตรวจรังวัดทางทะเล อุปกรณ์เพื่อการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล ในจำนวนนี้ มีประภาคาร 5 แห่ง ที่สร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือได้สร้างเสร็จเรียบร้อย และมี 4 แห่งได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการ
ปฏิบัติการดังกล่าวของจีนกลับมิได้รับความเข้าใจจากบางประเทศรอบข้าง ด้านสหรัฐฯเร่งเข้ามาแทรกแซงทะเลหนานไห่ โดยกดดันจีนด้วยคำกล่าวหาต่างๆ นาๆ เช่น จีนดำเนินโครงการก่อสร้างบนเกาะแก่งบางส่วนมากเกินไป เร็วเกินไป จีนใช้ปฏิบัติการทางทหารบนเกาะแก่งในทะเลหนานไห่ มิหนำซ้ำ สหรัฐฯยังส่งเรือรบแล่นเข้าใกล้เกาะแก่งในหมู่เกาะหนานซา และหมู่เกาะซีซา จีนมองการกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯว่า เป็นการท้าทายจีนด้วยวิธีการทางทหาร ซึ่งเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของจีนอย่างร้ายแรง
ชาวจีนส่วนใหญ่เห็นว่า สหรัฐฯเป็นผู้ที่ทำให้สถานการณ์ทะเลหนานไห่ทวีความตึงเครียดขึ้น เพราะปัจจจุบัน สหรัฐฯเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สร้างความสมดุลใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก และนับวันยิ่งพุ่งเป้ามายังจีน ค.ศ. 2013 สหรัฐประกาศจะเสริมกำลังทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยจะจัดวางเรือรบ 60% และกองกำลังทางอากาศที่ต่างประเทศ 60% มาประจำการอยู่ที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก่อนค.ศ. 2020
นอกจากนี้ ทหารสหรัฐฯยังพยายามประโคมข่าวกล่าวหาว่าจีนคุกคาม จีนต่อต้านการเข้าถึง หรือปิดล้อมบางพื้นที่ ซึ่งทั้งนี้เป็นภัยคุกคามต่อทหารสหรัฐฯ สหรัฐยังเร่งพัฒนาแนวคิดทางยุทธการต่างๆ ให้สมบูรณ์ขึ้น เช่น แนวคิดทางยุทธการที่มีชื่อเรียกว่า การรบทางอากาศ-ทางทะเล (Air-Sea Battle) โดยถือจีนเป็นเป้าหมายหลัก ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปฏิบัติการของสหรัฐฯดังกล่าวล้วนทำให้สถานการณ์เอเชีย-แปซิฟิก ทวีความสลับซับซ้อนและตึงเครียดขึ้น นักวิชาการจีนหลายๆ คนตั้งข้อสงสัยว่า สหรัฐฯอาจมโนภัยคุกคามและวิกฤตขึ้นมาเอง เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการปรับยุทธศาสตร์ของเขา หลัง จากนั้น ก็พยายามทำให้สิ่งที่มโนกลายเป็นจริงขึ้น
(IN/cai)