ดร.ณัฏฐนิจ แช่มสุวรรณวงศ์
  2017-08-28 13:52:07  cri

ผู้ทำวิจัยเรื่องอัตวิสัยในวลีประกอบตัวเลขไม่แสดงจำนวนแน่ชัดและปัจจัยเน้นความหมายในภาษาจีนปัจจุบัน

ขณะศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งโดยทุนรัฐบาลจีน(China Scholarship Council-CSC) ดร.ณัฏฐนิจ แช่มสุวรรณวงศ์ ทำวิจัยเรื่องอัตวิสัยในวลีประกอบตัวเลขที่ไม่แสดงจำนวนแน่ชัดและปัจจัยเน้นความหมายในภาษาจีนปัจจุบัน ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จะบ่งบอกถึงตัวเลขในวลีจีนที่ไม่ใช่สุภาษิต ซึ่งมีบางส่วนที่คนต่างชาติอาจจะเข้าใจผิดแล้วสื่อสารกันไม่เข้าใจ คือ คนจีนเข้าใจในความหมายหนึ่งแต่คนต่างชาติเข้าใจอีกความหมายหนึ่ง อย่างเช่น ภาษาไทยเราพูดสามวันดีสี่วันไข้ ซึ่งเลข 3 กับเลข 4 ไม่ได้แปลว่า 3 วัน หรือ 4 วันจริง ๆ แต่หมายถึงเจ็บป่วยบ่อย ๆ หรือภาษาไทยพูดคำว่าโจร 500 ก็ไม่ใช่โจรมา 500 คน ภาษาจีนก็มีอย่างนี้เหมือนกัน แต่ว่าเราจะศึกษาในระดับที่อาจจะมีกลิ่นไอของจำนวนนิด ๆ หรือในรูปของประโยคไม่ใช่เป็นสำนวนอย่างนี้ ซึ่งบางทีเราจะเทียบเคียงกับภาษาไทยหรือภาษาอื่นเลยไม่ได้ เช่น

อี้เหลี่ยนฮั่น(一脸汗)อี้(一)แปลว่า 1 เหลี่ยน(脸)แปลว่าหน้า ฮั่น(汗)แปลว่าเหงื่อ แปลตรงๆว่าหนึ่งหน้าเหงื่อ แต่จริง ๆ แล้วแปลว่าเหงื่อท่วมหน้า

อี้โส่วหนี(一手泥 )อี้(一)แปลว่าหนึ่ง โส่ว(手)แปลว่ามือ หนี(泥)แปลว่าโคลน รวมแล้วแปลว่าโคลนเต็มมือ

จะเห็นได้ว่าหนึ่งในที่นี้ไม่ได้แปลว่าจำนวนหนึ่งแต่หมายถึงระดับที่แปลว่าเต็ม ท่วม หรือมาก

(หมายเหตุ: "一" หากปรากฏเดี่ยว ๆ จะออกเสียงว่า"อี"แต่หากพยางค์ที่ตามมาเป็นเสียงสองหรือเสียงสาม จะออกเสียงเป็น"อี้")

ตอนทำวิจัยไปสัมภาษณ์คนไทยและชาวต่างชาติ 22ชาติ โดยแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกสัมภาษณ์นิสิตปี3และปี4ที่เรียนเอกภาษาจีนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวม 65 คน อีกส่วนเป็นต่างชาติที่เคยเรียนในจีน หรือกำลังศึกษาอยู่ในจีนและต้องเป็นต่างชาติที่มีความรู้ภาษาจีนในระดับสูงคือสอบวัดระดับภาษาจีนHSKได้ระดับ 5-6 ขึ้นไป หรือถ้าไม่ได้สอบHSK ก็ต้องเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทหรือปริญญาเอกคือมหาวิทยาลัยรับแล้วที่จะให้เขาเรียนในแผนกที่ใช้ภาษาจีนในการเรียนการสอน คือต้องเลือกผู้ที่มีพื้นฐานภาษาจีนสูงหน่อย เราจึงจะรู้ได้ว่าคนต่างชาติมีปัญหาจริงไหม เพราะถ้าไปถามคนในระดับที่เขาเพิ่งเรียนหรือในระดับกลางการที่เขาไม่เข้าใจก็เป็นเรื่องปกติ

อย่างภาษาไทย 3 วัน 3 คืนก็พูดไม่จบ อันนี้เราคนไทยเข้าใจกัน ภาษาจีนก็มีอย่างนี้เหมือนกันคือ ซานเทียนซานเย่เหย่ซัวปู้หวาน(三天三夜也说不完)อันนี้สองชาตินี้ก็แปลเหมือนกันเลยเข้าใจตรงกันว่าพูดยังไงก็พูดไม่จบ แต่ชาติอื่นเขาไม่มีการใช้อย่างนี้ เขาอาจเข้าใจไปอีกอย่างได้ เช่นเข้าใจว่า 3 วันจริง ๆ นะซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เราก็ไปศึกษาว่าเอ..ทำไมคนต่างชาติไม่เข้าใจ มีสาเหตุอะไรที่ทำให้ตัวเลขประกอบวลี 1 2 3 4 5 ไม่ได้หมายถึงจำนวนตัวเลขนั้นจริง ๆ มีอะไรไปกระตุ้น

ตอนเก็บข้อมูลใช้ทั้งแบบสอบถามและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยขั้นตอนที่หนึ่งจะเป็นแบบสอบถามไปให้เขาทำ โดยให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ-นามสกุล อายุ เรียนอยู่ที่ไหน การศึกษาเคยเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่ระดับไหนหมายถึงตั้งแต่ระดับประถม มัธยมหรือเพิ่งมาเรียนทีหลัง แล้วก็จะเป็นวลีภาษาจีนให้เขาดูว่าเขาเข้าใจไหม ถ้าเข้าใจแปลเป็นภาษาของเขาว่าอย่างไร พอเขาทำแบบสอบถามชุดที่หนึ่งเสร็จเราจะให้แบบเฉลยเขา พอเขาดูเฉลยแล้วเห็นว่าเขาผิดตรงไหน ก็ให้เขาบอกไปว่าอันนี้ฉันเข้าใจผิดนะ แต่มีปัญหาคือบางคนได้แบบสอบถามชุดที่สองที่มีเฉลยแล้วเขาก็ยังไม่เข้าใจอยู่ เขาก็ยังไม่เข้าใจว่าคำตอบนี้ถูกเขายังยืนยันคำตอบของเขาอย่างเดิม เพราะฉะนั้นเราต้องเพิ่มขั้นตอนที่สามคือขั้นตอนการสัมภาษณ์ ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องใช้การสัมภาษณ์ แต่ว่าไป ๆ มา ๆ ขั้นตอนนี้สำคัญมากเป็นการเช็กความเข้าใจ ถ้าเขาไม่เข้าใจเราอธิบายให้เขาฟัง

บอกหลักง่าย ๆ ว่า ถ้าเป็นอวัยวะในร่างกายของเราตามหลังตัวเลข 1 มันจะทำให้เลข 1 มีความหมายว่า เต็ม ท่วม อย่างนี้ค่ะ อย่างอี้เหลี่ยนฮั่น แปลว่าเหงื่อท่วมหน้า อันนี้เป็นหลักง่าย ๆ ทีนี้มีคำว่า อี้จุ๋ยเฉี่ยวเค่อลี่(一嘴巧克力) อี้ (一)แปลว่า 1 จุ๋ย(嘴)แปลว่าปาก เฉี่ยวเค่อลี่(巧克力)แปลว่าชอกโกแลต อันนี้หลายชาติรวมทั้งไทยจะแปลว่าชอกโกแลต1คำ มีอีกวลีหนึ่งที่ดูคล้าย ๆ กัน อี้โข่วเฉี่ยวเค่อลี่(一口巧克力)อี้(一)แปลว่า 1 โข่ว(口)แปลว่าปากเหมือนกันแต่อีกความหมายหนึ่งแปลว่าคำ เขาเอา อี้โข่วเฉี่ยวเค่อลี่ ไปปนกับคำว่า "อี้จุ๋ยเฉี่ยวเค่อลี่" แล้วเข้าใจผิด "อี้จุ๋ยเฉี่ยวเค่อลี่"แปลว่า ชอกโกแลตเต็มปากจนบางทีอาจเยิ้มออกมาข้างนอก ส่วนคำว่า "อี้โข่วเฉี่ยวเค่อลี่" แปลว่าชอกโกแลต1คำ

การตีความหมายของต่างชาติมีวัฒนธรรมของเขาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่าง "อี้จุ๋ยเฉี่ยวเค่อลี่ย" มีคนอินเดียที่เรียนปริญญาเอกทางด้านโทรทัศน์แต่เขาเคยเรียนปริญญาโทด้านภาษาจีนมาก่อน เขาเข้าใจว่าคำนี้แปลว่าโชคดี เขาอธิบายว่าเขาเห็นคำว่าชอกโกแลต ซึ่งชอกโกแลตเป็นขนมหวาน ในความคิดของคนอินเดียขนมหวานมีวิธีการทำที่ค่อนข้างยากเพราะมันจะต้องใช้นม น้ำตาล แล้วไม่ใช่ว่าทุกคนกินได้ จะต้องเป็นคนที่ค่อนข้างมีฐานะจึงกินได้ แล้วเวลากินขนมก็อร่อย เราก็มีความสุข เพราะฉะนั้นมันก็เป็นสัญลักษณ์ของความสุขความโชคดี แล้วอีกอย่างหนึ่งเวลากินขนมยิ่งกินยิ่งอ้วน ในวัฒนธรรมอินเดียจะถือว่าคนอ้วนเป็นคนมั่งมีศรีสุข เขาก็เลยตีความหมายคำนี้ว่า มีความสุข มีความโชคดี ถือว่าเป็นคำอวยพร โดยในแบบสอบถามเขาเลือกช่องว่าเข้าใจความหมายของคำนี้ อันนี้ก็จะทำให้เวลาคนจีนมาพูดกับเขาอย่างนี้ เขาก็เข้าใจว่าคนจีนกำลังอวยพรเขา แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ คนจีนบอกว่าเธอกำลังทานชอกโกแลตอยู่เต็มปากเลย....เป็นการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน

แล้วมีอีกตัวอย่างที่คนต่างชาติไม่ค่อยรู้โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มเรียนภาษาจีนหรือเรียนภาษาจีนในระดับกลางเพราะส่วนใหญ่แล้วจากการสัมภาษณ์มาทั้งสองกลุ่มอาจารย์ไม่ได้สอนไม่ว่าชาติไหนก็ตาม หรือเป็นกลุ่มที่อาจเคยเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่เด็กแต่ครูไม่ได้สอน อย่างคำว่าเหลี่ยง(两) ที่แปลว่า 2 เช่น หว่อเย้าชือเหลี่ยงเก้อผิงกั่ว(我要吃两个苹果)แปลว่าฉันอยากกินแอปเปิ้ลสองลูก อันนี้หมายความว่าแอปเปิ้ล 2 ลูกจริง ๆ แต่ถ้าเราพูดว่า โจ๋เหลี่ยงปู้จิ้วเต้าเลอะ(走两步就到了)แปลตรงๆว่าเดินไปสองก้าวก็ถึงแล้ว แต่ในภาษาจีนไม่ได้แปลว่า 2 ก้าวจริง ๆ แต่แปลว่าเดินไปไม่กี่ก้าวก็ถึง

กั้วเหลี่ยงเทียน( 过两天 ) แปลว่า สัก2-3วัน แต่ใช้คำว่าเหลี่ยงที่แปลว่า 2

หว่อกั้วเหลี่ยงเทียนเก๋ยหนี่ต่าเตี้ยนฮั่ว(我过两天给你打电话 ) แปลว่า เดี๋ยวอีกแป๊บหนึ่ง อาจจะเป็น 2 วัน 3 วัน 4 วัน 5 วันหรืออาจจะถึงสัปดาห์ก็ได้ในระยะนี้แหละเดี๋ยวจะโทรหา คนจีนเขาคุยกับคนต่างชาติอย่างนี้ คนต่างชาติก็อ๋อ..มันมีเลข 2 อยู่เพราะฉะนั้นฉันรอเขาวันที่สองเขาต้องโทรมา ปรากฏว่ารอเท่าไหร่ก็ไม่โทรมา เคยเกิดเรื่องจริง ๆ จากการสอบถามคนต่างชาติและประสบการณ์ของตัวเอง ตอนที่ยังไม่ข้าใจความหมายคำว่า 2 ว่าไม่ได้หมายความว่าจำนวน 2 จริง ๆ คือเรารอแต่เขาไม่มาแล้วเราโกรธ แล้วคนต่างชาติคนอื่นก็เหมือนกันรอคนจีนแล้วเขาไม่มาหรือไม่โทรหาก็โมโหและจะเริ่มบอกแล้วว่า "คนจีนนี่ไม่ตรงนัดเลยนะ" ไม่โทรมาหาตามเวลานัด ชอบผิดนัดอย่างนี้ค่ะ แล้วพอเขาโทรมาวันที่สี่ เพราะในความหมายของเขาคือเดี๋ยวช่วงนี้แหละจะโทรหา มันก็ยังอยู่ในสัญญาที่เขาให้เราอยู่ เขาทำตามสัญญาแต่ว่าเราเข้าใจผิดไปแล้วว่าเขาช้ากว่าที่สัญญา คิดว่าเวลาเจรจาธุรกิจนี่จะมีผลมาก เพราะเวลาเจรจาเราก็ใช้ภาษาพูด และคำว่าเหลี่ยง(两)ที่หมายถึง 2-3 หรือระยะหนึ่ง เขาใช้ในภาษาพูดไม่ใช้ในภาษาราชการหรือทางการ ถ้าคนจีนพูดว่าสัญญานี้เดี๋ยวเหลี่ยงเทียนค่อยมาพูดกันนะ คนต่างชาติก็จะจำไปว่าเป็น 2 วันจริง ๆ ก็จะเกิด communication gap(ช่องว่างในการสื่อสาร) สื่อสารแล้วเข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้เสียประโยชน์โดยใช่เหตุ

เรื่องที่ทำวิจัยเนื่องจากไม่ใช่สำนวน สุภาษิต ซึ่งสำนวน สุภาษิตเราไม่สามารถเปลี่ยนคำไหนได้เลย เพราะฉะนั้นในการเรียนการสอน อาจารย์จะบอกให้นักเรียนไปจำเอานะ อย่างคำว่าซานซานเหลียงเหลี่ยง(三三两两) อันนี้เป็นสำนวนที่ไม่สามารถเปลี่ยนตัวไหนได้เลย ซาน(三)แปลว่าสาม เหลี่ยง(两)แปลว่าสอง ก็คือคนเดินเข้ามเป็นคู่สองคนสามคน คือเราไม่สามารถพูดได้ว่าซานซื่อเหลี่ยงซาน (*三四两三--- เครื่องหมายดอกจันทน์หน้าประโยคทางภาษาศาสตร์แปลว่าผิดค่ะ พูดไม่ได้) แล้วก็พูดเหลี่ยงเหลี่ยงซาน ๆ(*两两三三) ไม่ได้ด้วย มันตายตัว ถ้าเป็นอย่างนี้เขาเอาไปสอนแล้วนักเรียนท่องได้ แต่ที่ศึกษาไม่ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวและท่องได้ อย่างคำว่า อี้เหลี่ยนฮั่น(一脸汗)แปลว่าเหงื่อท่วมหน้า อี้โส่วหนี(一手泥 )แปลว่าโคลนเต็มมือ เห็นได้ว่านอกจากตัวอี้(一 ) ตัวที่สองคือเหลี่ยน(脸)กับโส่ว(手)มันเปลี่ยนได้ ตัวที่สามฮั่น(汗)กับหนี(泥)เปลี่ยนได้ อย่างนี้มันเป็นโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงได้นิดหน่อย ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงได้ทุกตัว ถ้าเราสอนภาษาจีนหรืออาจารย์ท่านไหนสอนก็ควรจะบอกลูกศิษย์เรื่องนี้

เหล่านี้เป็นวลีที่พูดกันบ่อย ๆ ถ้าคนต่างชาติที่ไม่ได้อยู่จีนนาน ๆ ส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ หรือคนที่อยู่จีนมานาน บางทีก็ไม่เข้าใจแต่คิดว่าตัวเองเข้าใจถูกก็จะไปแปล ไปเข้าใจหรือดำเนินเรื่องต่าง ๆ ผิด เคยไปถามคนจีนเกี่ยวกับวลีที่ยกขึ้นมา คนจีนไม่มีปัญหาเลย เขาว่าง่ายมาก เขาก็ไม่เข้าจ่าทำไมคนต่างชาติไม่เข้าใจ

อย่างภาษาจีน จวี่ซวงโส่วจ้านเฉิง(举双手赞成)จวี่(举)แปลว่ายก ซวงโส่ว(双手) แปลว่ามือสองมือ จ้านเฉิง(赞成 ) แปลว่าตกลง ถามต่างชาติตอบว่าเข้าใจเป็นแถวเลย แล้วพอตอนดูคำตอบกับตอนสัมภาษณ์ เข้าใจค่ะแต่เข้าใจผิด กลายเป็นเข้าใจว่ายกมือจริง ๆ แบบในที่ประชุมยก 2 มือแปลว่าเเห็นด้วยเต็มที่ เห็นด้วยอย่างยิ่ง แปลเป็นไทยเราจะใช้คำว่าอย่างยิ่ง หรือ เต็มที่แทนคำว่ามือสองมือ เพราะคนเรามีแค่สองมือ คน ๆ เดียวไม่สามารถยกได้ 3 มือใช่หมคะ(หัวเราะ) บางคนไปเขาใจว่าเป็นสัญญาณของการทำความเคารพ บางคนเข้าใจว่าเยี่ยมหรือเจ๋งไปเลย คนที่เล่นเฟซบุ๊คบอกว่า อุ้ย..ให้ไลก์เลย กดไลก์เลย แปลว่าถูกใจเลย ชอบเลย ไปเข้าใจว่า กดไลก์ตามเฟซบุ๊ค

เราต้องเข้าใจความหมายของวลีเหล่านี้ แล้วใช้ให้ถูกที่ถูกทาง ถูกกาละเทศะ มันเป็นเรื่องปลียกย่อยที่ถูกมองข้ามไป แต่สิ่งเล็ก ๆ นี้ก็สำคัญ อยากเน้นไปเที่การเรียนการสอนภาษาจีน อยากให้อาจารย์ผู้สอนสอนเกี่ยวกับตัวเลขพวกนี้ด้วยเพราะว่าเวลาที่นักศึกษาจบไปแล้วเขาต้องไปเจอสังคมจริง ๆ ไปสื่อสารกับคนจีน เขาจะได้มีความรู้ว่า ตัวเลขที่เขาเจอมันหมายความว่าอะไรในประโยคนั้น ๆ

--------------------------------------------------------------------------------------------

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040