เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้รับเชิญให้เข้าไปสื่อข่าวงานเทศกาลไทย "สยามเมืองยิ้ม ชิมไปยิ้มไป" ที่สถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่งมาครับ งานนี้พิเศษตรงที่ ฯพณฯ พิริยะ เข็มพล เอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่งเปิดบ้านจัดงานต้อนรับทั้งเหล่าทูตานุทูต แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนร่วมงานอย่างอบอุ่น งานงานจัดขึ้นอย่างเป็นกันเองครับ ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและการบินไทย นำคณะนักแสดงระบำ 4 ภาคบินตรงมาสร้างความประทับใจให้ถึงที่ โดยภายนอกมีซุ้มร้านอาหารไทยต้นตำรับตั้งเรียงรายชวนน้ำลายสอ ซึ่งผมก็ได้เก็บภาพบรรยากาศพร้อมแวะสัมภาษณ์พ่อค้าแม่ค้ามาฝากคุณผู้อ่านด้วยในสัปดาห์ถัดไป แต่สัปดาห์นี้ครับ ผมว่าสิ่งที่คนไทย-จีนสนใจไม่แพ้กันก็คือประเด็นนโยบายการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติของไทย และโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยว่าคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว วันนี้ผมได้รับโอกาสสัมภาษณ์ ฯพณฯ พิริยะ เข็มพล พร้อมกับสื่อมวลชนไทย-จีนหลายสำนัก จึงขอถอดคำสัมภาษณ์ของท่านทูตในประเด็นดังกล่าวมาฝากคุณผู้อ่านดังนี้ครับ
"นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ทุกวันนี้ไทยมีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างจีนเองก็เป็นประเทศที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น ไทยเรามีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เราพยายามเชิญชวนวิสาหกิจแวดวงเทคโนโลยีเข้าลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีซีซี มากยิ่งขึ้น ท่านลองนึกภาพตามนะครับ ปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิง มาลาว และในอนาคตก็จะเชื่อมไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ ข้ามไปอินโดนีเซีย ซึ่งโครงการต่าง ๆ ของจีนไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายไหมทางบกหรือทางทะเลก็จะใช้เส้นทางนี้ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญแน่นอนในอนาคต ผลที่เกิดขึ้นตามมาแน่ ๆ ก็คือการเคลื่อนย้ายคน การลงทุน ธุรกิจ ที่ก็จะเป็นไปตามเส้นทางนี้อย่างรวดเร็ว ทวีปเอเชียจะกลายมาเป็นประเทศเอ คนจากคุนหมิงสามารถเดินทางมาไทยโดยรถไฟใช้ ผมคำนวนแล้วน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 7 ชั่วโมง เนื่องจากก่อนหน้าที่เมื่อครั้งได้เดินทางไปที่คุนหมิง ทราบมาว่าเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงไปชายแดนจีน-ลาวใช้เวลา 3 ชั่วโมง จากลาวมาไทย 2 ชั่วโมง และจากชายแดนไทยเข้ากรุงเทพฯอีก 2 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นหากคุณเดินทางออกจากคุนหมิงในตอนเช้า คุณก็สามารถมาจิบกาแฟที่ไทยในตอนบ่ายได้แล้ว
ส่วนเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้น เรากำลังพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อให้มีความคืบหน้า และสามารถลงนามได้ที่นี่ บรรดาเจ้าหน้าที่เทคนิคมีการประชุมที่กรุงเทพฯทุกวันมานานแล้ว เพื่อหาข้อสรุปในรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯถึงชายแดนลาวระยะทาง 300 กิโลเมตร แม้ไทยเราจะมีกฎหมายพิเศษที่ช่วยเปิดช่องให้การเจรจาเป็นไปด้วยความคล่องตัวมากขึ้น แต่เราเป็นประเทศเปิด มันจึงต้องใช้เวลาสักระยะ เมื่อต้องเจรจาต่อรองสัก 1 โครงการ คุณจำเป็นต้องหยั่งเสียงถามสังคมด้วย ยิ่งสังคมตอบรับเป็นเอกฉันท์มากเท่าไหร่ นั่นก็แสดงให้เห็นถึงการรับรู้และความเข้าใจไปในทางเดียวกันมากขึ้นเท่านั้น นี่จึงเป็นอีกงานด้านหนึ่งของเรานอกเหนือจากการหาข้อสรุปอย่างที่ได้กล่าวไป คือสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในสังคม ให้พวกเขาเข้าใจว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้ได้รู้ว่าผลที่จะได้รับมันคือโอกาสสำหรับพวกเขาเป็นข้อ ๆ หนึ่ง สอง สาม สี่อย่างไร ซึ่งผมก็หวังว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นก่อนการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศบริกส์ครับ"