ค่ำวันศุกร์ที่ 9 กันยายนที่ผ่านมามีการแสดงดนตรีของวงแชมเบอร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยชิงหัวกรุงปักกิ่งผู้ชมล้นหลามจนที่นั่งไม่พอต้องพากันยืนชมจนจบ เสียงเพลงสะกดผู้ชมทั้งคนจีนและชาวต่างชาติที่คาดว่าน่าจะมาจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกเพราะที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับต้น ๆ ทั้งที่เป็นผู้ใหญ่กระทั่งหนูน้อยวัยสามขวบกว่าที่ไม่มีทีท่าว่าจะงอแงไม่อยากฟัง สองเพลงหลังค้างคาวกินกล้วยกับมู่ลี่ฮัวเป็นการผนึกกำลังกันของนักดนตรีซึ่งเป็นนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยชิงหัว โอ้โห..เมื่อใช้ดนตรีจีนมาร่วมบรรเลงเพลงค้างคาวกินกล้วยมีความแปลกใหม่สดใสมีชีวิตชีวาไปอีกแบบ หลังการแสดงมีผู้ชมมาขอถ่ายภาพกับอาจารย์ศิโรวุฒิ ศรีนิเทศวาทินผู้อำนวยเพลงและนักดนตรีกันมาก ศิลปวัฒนธรรมนำมาซึ่งมิตรภาพและความร่วมมือจริง ๆ
ดร.สันติ ฉันทวิลาสวงศ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งนำวงแชมเบอร์ของมหาวิทยาลัยมาจัดแสดงที่มหาวิทยาลัยชิงหัวเล่าว่าในโอกาสครบ 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยชิงหัวได้ร่วมเฉลิมฉลองด้วยการส่งวงดนตรีไปแสดง คราวนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงส่งวงดนตรีมาแสดงที่นี่เพื่อให้ชาวจีนและชาวต่างชาติได้ชม พร้อมทั้งกล่าวอีกว่าดนตรีเชื่อมวัฒนธรรมได้ดีมาก ที่จริงโลกพัฒนาให้ค่าความสำคัญกับวิทยาศาสตร์กันมาก แต่ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยชิงหัวต่างก็มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เรายังมีของดีคือวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ที่จะแบ่งปันกันได้อีก การที่เรามีวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานเป็นความเข้มแข็งเมื่อผนวกเข้ากับเทคโนโลยีเราจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง หวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยชิงหัวจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจากการมาจัดแสดงดนตรีครั้งนี้
ด้านศาสตราจารย์ ดร.จาง ฉวนเจี๋ยรองผู้อำนวยการสำนักวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยชิงหัวกล่าวว่าปีนี้เป็นปีพิเศษที่มหาวิทยาลัยชิงหัวได้ตั้งพันธมิตรมหาวิทยาลัยเอเชีย(The AsianUniversities Alliance - AUA)หรือเอยูเอ โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยชิงหัวเป็นประธาน ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประธานหมุนเวียนในปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอยูเอในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ มหาวิทยาลัยชิงหัวจะพยายามเชิญสมาชิกไปร่วมประชุมให้มากที่สุด สมาชิกของเอยูเอประกอบด้วยมหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยปักกิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยโซล มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย มหาวิทยาลัยมาลายา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง มหาวิทยาลัยโคลัมโบ สถาบันเทคโนโลยีอินเดียมหาวิทยาลัยของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มหาวิทยาลัยคิงซาอุด และมหาวิทยาลัยนาซาบาเยฟ ศาสตราจารย์ ดร.จาง ฉวนเจี๋ยยังได้กล่าวด้วยว่าในด้านวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชิงหัวซึ่งตั้งมาแล้ว 106 ปีก็มีความโดดเด่นโดยในปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยจีน หากย้อนอดีตในปี ค.ศ.1911 ซึ่งมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนั้นมีการจัดการเรียนการสอนทุกสาขาวิชา กระทั่งในปี ค.ศ.1952มหาวิทยาลัยสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ถ่ายโอนการจัดการเรียนการสอนสายศิลป์ไปให้มหาวิทยาลัยปักกิ่ง อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.1978 มหาวิทยาลัยก็ได้นำการเรียนการสอนสายศิลป์กลับเข้ามา แม้ปัจจุบันจะเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นที่ 1 ของโลก ขณะที่การจัดอันดับของคิวเอสมหาวิทยาลัยชิงหัวเป็นอันดับที่ 25 ของโลก เพราะพิจารณาว่าแม้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากที่สุดก็ควรรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไปด้วยเพื่อช่วยให้นักศึกษามีจินตนาการมีความคิดสร้างสรรค์
อาจารย์กรรชิต จิตระทาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผยว่าในโอกาสวันชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มณฑลซานซีได้ส่งหนังสือให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดคณะนาฏศิลป์มาแสดงในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ด้วย ศิลปวัฒนธรรมเป็นใบเบิกทางสร้างสัมพันธ์และความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่ทรงพลังทีเดียว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------