ในประเทศจีน ประวัติศาสตร์การสร้างพระพุทธรูปหินแกะสลักจะย้อนรอยถึงช่วงปลายสมัยตุงฮั่นหรือสมัยฮั่นตะวันออก (ราว 1,800 ปีก่อน ) คือพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่จากอินเดียเข้ามาจีน บริเวณตอนเหนือแม่น้ำหวงเหอ เริ่มมีการสร้างวัดถ้ำหิน นั่นคือรูปแบบสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา ที่ขุดเจาะตามแนวหน้าผาภูเขา
พร้อมๆ กับพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นในจีน ในสมัยราชวงศ์ต่อมา หลายพื้นที่ก็มีการขุดสร้างวัดถ้ำหินจำนวนมาก ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่โตอลังการด้วย
ถ้ำหินโม่เกาเมืองตุนหวง ถ้ำหินโม่เกามีอีกชื่อหนึ่งว่าถ้ำพระพุทธรูปพันองค์ ตั้งอยู่ชานเมืองตุนหวงมณฑลกานซู่ภาคตะวันตกของจีน เริ่มสร้างตั้งแต่สมัย 16 ก๊กราว 1 ,700 ปีก่อน และมีการสร้างด้วยการแกะสลักอย่างต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยราชวงค์หยวนราว 700 ปีก่อน ระยะเวลาการสร้างประมาณ 1,000 ปี กลายเป็นวัดถ้ำหินโบราณที่มีขนาดใหญ่มาก รวมแล้วมีถ้ำใหญ่น้อยจำนวน 735 ถ้ำ ภาพผนัง 45,000 ตารางเมตร รูปปั้นพระพุทธรูปลงสี 2,415 องค์ กล่าวได้ว่าเป็นแหล่งพุทธศิลป์ที่มีขนาดใหญที่สุดและมีเนื้อหาสมบูรณ์ที่สุดในโลก
ปีค.ศ.366 พระภิกษุเล่อจุนเดินทางผ่านเขตตุนหวง ได้พบแสงที่มีรังสีเจิดจ้า เสมือนฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้าหมื่นองค์ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า จึงตัดสินใจขุดถ้ำแห่งแรกในที่นี่ ต่อจากนั้น พระภิกษุฝ่าเหลียงและพระภิกษุองค์อื่นๆ ก็ได้พากันบริจาคเงินมาขุดถ้ำและนั่งสมาธิในถ้ำ จึงตั้งชื่อว่า ถ้ำโม่เกา แปลว่าจุดที่สูงในทะเลทราย
แต่ก็มีพุทธศาสนิกชนให้คำแปลอย่างหนึ่งว่า ตามความคิดของพุทธศาสนา การสร้างถ้ำทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นบุญอย่างใหญ่หลวง ฉะนั้น ความหมายของถ้ำโม่เกาหมายความว่า การสร้างถ้ำพุทธศาสนาเป็นการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุด
ต่อมาอีก 200 -300 ปี ซึ่งตรงกับสมัยเป่ยเว่ย ซีเว่ยและเป่ยโจว การสร้างถ้ำหินได้รับการสนับสนุนจากบรรดาเชื้อพระวงค์และผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม จึงพัฒนาขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะจนถึงสมัยราชวงค์สุยและถัง ราวค.ศ. 581 - 907 พร้อมๆ กับความเจริญรุ่งเรืองของเส้นทางสายไหม เนื่องจากถ้ำโม่เกาเป็นจุดผ่านของเส้นทางสายไหม ทำให้ถ้ำนี้มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้น และมีการสร้างขยายมากขึ้นด้วย จนถึงสมัยบูเช็กเทียน มีถ้ำทั้งหมดกว่าพันแห่ง หลังจากนั้น ก็ยังมีการก่อ สร้างขยายต่อไปแต่ไม่มากนัก