ในประเทศจีน ประวัติศาสตร์การสร้างพระพุทธรูปหินแกะสลักจะย้อนรอยถึงช่วงปลายสมัยตุงฮั่นหรือสมัยฮั่นตะวันออก (ราว 1,800 ปีก่อน ) คือพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่จากอินเดียเข้ามาจีน บริเวณตอนเหนือแม่น้ำหวงเหอ เริ่มมีการสร้างวัดถ้ำหิน นั่นคือรูปแบบสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา ที่ขุดเจาะตามแนวหน้าผาภูเขา
พร้อมๆ กับพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นในจีน ในสมัยราชวงศ์ต่อมา หลายพื้นที่ก็มีการขุดสร้างวัดถ้ำหินจำนวนมาก ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่โตอลังการด้วย
ถ้ำหินม่ายจีเมืองเทียนสุ่ย
ถ้ำหินม่ายจีอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเทียนสุ่ย ปัจจุบันยังมีเหลือถ้ำหิน 194 ถ้ำ พระพุทธรูปหินและดินรวมประมาณ 7,800 องค์ ปี 2014 ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในฐานะที่เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งในช่วงปลายของเส้นทางสายไหม
ถ้ำหินม่ายจีสร้างตามหน้าผาสูง 20 – 80 เมตร กว้าง 200 เมตร พระพุทธรูปองค์ใหญ่สุดสูง 15.8 เมตร ภาพผนังกว่า 1,000 ตารางเมตร ได้รับการขนานนามว่า "หอแกะสลักแห่งบูรพา" และถูกจัดให้เป็น 1 ใน 4 ถ้ำหินขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งอีกสามแห่งคือ ถ้ำหินโม่เกาเมืองตุนหวง ถ้ำหินหยูนกั่งเมืองต้าถง และถ้ำหินหรงเหมินเมืองลั่วหยาง