สิ่งที่จีนทำเพื่อต่อสู้กับมลภาวะทางอากาศ (1)
  2018-03-07 20:26:48  cri

ก่อนหน้านี้ ทั่วโลกรู้ดีว่าจีนต้องต่อสู้กับมลพิษทางอากาศ ซึ่งถือเป็นปัญหาโลกแตกที่จีนเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยประชากรและความเจริญ และแน่นอนว่า…เมืองเหล่านั้นก็เต็มไปด้วยปัญหาด้านมลภาวะเช่นกัน

แผนการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ ออกมาในปี 2013 ไม่เพียงแค่ต้องการดูแลสุขภาพของประชากร แต่ยังเน้นเป้าหมาย คือ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต และจุดประกายฟื้นฟู "ไชน่าดรีม" หรือ "ความฝันของประเทศจีน" ขึ้นอีกครั้ง โดยจีนได้จัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อ Clean Air Alliance of China (CAAC) เพื่อวางแผนและรับมือต่อกรกับปัญหานี้โดยเฉพาะ หน่วยงานนี้ประกอบด้วยองค์กรและสถาบันการศึกษาหลัก 10 แห่งของจีนผนึกกำลังจัดตั้งขึ้น โดยมีผู้สนับสนุนหลักเป็น The Energy Foundation (องค์กรด้านพลังงานของประเทศจีน)

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงลงพื้นที่ตรวจในเขตหูท่ง เมืองปักกิ่ง (ภาพเมื่อปี 2014)

วางแผน 5 ปีและระยะยาว อากาศต้องดีขึ้น มีตัวชี้วัดชัดเจน

เป้าหมายที่วางไว้คือภายใน 5 ปี คุณภาพของอากาศโดยรวมทั้งประเทศต้องดีขึ้น โดยเฉพาะอากาศในเขตปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (จูเจียงซานเจี่ยวซึ่งอยู่ในกวางตุ้ง) และอีก 5 ปีถัดไปหรืออาจจะนานกว่านั้นมลพิษทางอากาศจะค่อยๆหมดไป

ตัววัดระดับที่ใช้คือ ภายในปี 2017 ค่าระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาด PM10 ในเขตเมือง (ค่า PM10) ต้องลดลง 10% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2012 จำนวนวันที่ท้องฟ้าสดใสด้วยสภาพอากาศที่ดีจะต้องเพิ่มขึ้น ค่าดัชนีคุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ( หรือค่า PM2.5 ) ในเขตปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลต้องลดลงประมาณ 25%, 20% และ 15% ตามลำดับ และรายงานค่าความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็กประจำปีของกรุงปักกิ่งต้องควบคุมได้ต่ำกว่า 60 ไมโครกรัมต่อคิวบิกเมตร

ทุกคนคงอยากทราบว่าจีนใช้มาตรการอะไรบ้างในการต่อสู้และลดปัญหาจากมลพิษอันไม่พึงประสงค์นี้ บทความจะขอแยกเป็น 10 หัวข้อใหญ่ ดังนี้

นักท่องเที่ยวถ่ายกับฉากเกาะฮ่องกงในวันฟ้าสดใส ซึ่งถูกนำมาวางไว้ในวันที่ฟ้าปกคลุมไปด้วยหมอกควัน

(ที่มาภาพ: Geochina.com )

1. เพิ่มมาตรการการควบคุมและลดการปล่อยมลพิษต่างๆอย่างเข้มงวดมากขึ้น

ควบคุมพวกอุตสาหกรรมต่างๆ ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจาก "ถ่านหินไปเป็นก๊าซหรือไฟฟ้า" ยกเว้นในกรณีจำเป็น

พวกบริษัทอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินขนาดเล็ก (มีข้อกำหนดคือใช้ถ่านหินต่ำกว่า 10 ตัน/ชั่วโมง) จะต้องย้ายออกจากชุมชนเมือง อุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินใดๆก็ตามจำเป็นต้องติดตั้งระบบกำจัดสารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน

เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมสาร VOCs หรือ "สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย" สารตัวนี้เป็นเคมีสำคัญที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนใช้ในครัวเรือน เช่น ทินเนอร์ สารทำความสะอาด น้ำมันหล่อลื่น ควันบุหรี่ สีทาบ้าน เป็นต้น 1

ต้องมีการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า "Leak Detection and Repair" (LDAR) หรือ "ระบบตรวจจับและซ่อมแซมรอยรั่ว" มาใช้กับอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี

เน้นควบคุมมลพิษ ฝุ่นละอองทางอากาศ และสนับสนุนการก่อสร้างแบบสีเขียว เขตก่อสร้างจะต้องมีกำแพงป้องกัน พาหนะขนอุปกรณ์ก่อสร้างต้องคลุมปกปิดอย่างดีและติดตั้งระบบดาวเทียมติดตาม สนับสนุนให้ประชากรคุ้นชินกับการไม่ก่อฝุ่นมลภาวะ เช่น นำเอาระบบกวาดถนนอัตโนมัติเข้ามาใช้ กระตุ้นการปลูกป่า หากเป็นอุตสาหกรรมอาหารต้องมีระบบจัดการกับน้ำมันและควัน

เพิ่มระบบป้องกันมลพิษกับยานพาหนะ ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้สะดวกยิ่งขึ้น การจัดการระบบขนส่งแบบอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพระบบจักรยานสาธารณะและทางเดินเท้า รวมถึงการจำกัดจำนวนรถยนต์ในเขตเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว

ปรับปรุงคุณภาพของเชื้อเพลิง และขจัดการผลิตและการขายเชื้อเพลิงหรือน้ำมันเถื่อน

กำจัดยานพาหนะที่ใช้งานมานานและรวมถึงรถที่มีสติ๊กเกอร์สีเหลือง (รถที่ปล่อยไอเสียออกมาจำนวนมาก) โดยตั้งเป้าภายในปี 2017 จะต้องกำจัดรถสติ๊กเกอร์เหลืองได้เกือบหมด ถ้ามีการผลิตรถยนต์ใหม่จะต้องเป็นไปในแนวรักษ์โลก

สนับสนุนพลังงานทางเลือก โดยให้นำไปใช้ในระบบขนส่งมวลชน สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานภาครัฐก่อน ออกนโยบายให้บุคคลทั่วไปซื้อรถยนต์พลังงานทางเลือกมาใช้ด้วยการให้สิทธิพิเศษด้านกู้ยืมและใบอนุญาต

ภาพมลพิษปกคลุมท้องฟ้าในเมืองสือเจียจ้วง มณฑลเหอเป่ย

(ที่มาภาพ: Epochtimes.com )

2. เพิ่มประสิทธิภาพในโครงสร้างอุตสาหกรรม รวมทั้งสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเสียใหม่

ทำให้การเข้ามาในอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงและก่อมลพิษสูงยากมากขึ้น ด้วยการปรับคุณสมบัติเบื้องต้นให้สูงขึ้น

สนับสนุนกำลังการผลิตแบบถดถอย (backward productivity) คือตั้งเป้าให้มีการผลิตขึ้นใหม่ลดลงในอุตสาหกรรมหนักที่ใช้พลังงานและทรัพยากรสูงแถมยังก่อมลพิษมาก อย่างพวกกลุ่มเหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ แก้ว (ผลิตน้อยลงแต่สามารถเอาของเก่ากลับมาใช้ได้ การรีไซเคิลสิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากรน้อยกว่า เป็นต้น)

กำหนดมาตรฐานด้านการประหยัดพลังงานและรักษ์โลกให้กับอุตสาหกรรม สนับสนุนให้บริษัทที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้ามาเป็นผู้นำในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นๆ

ระงับการก่อสร้างโรงงานใหม่โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีล้นตลาดแล้ว

3. เร่งให้มีการถ่ายโอนทางเทคโนโลยีให้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมพัฒนาขีดความสามารถในด้านนวัตกรรม

นำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาและประชาสัมพันธ์ สนับสนุนการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศและสุขภาพของมนุษย์ และแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับนานาชาติ

สนับสนุนระบบการผลิตแบบสะอาดเต็มรูปแบบ เพิ่มการตรวจมาตรฐานด้านการผลิตกับอุตสาหกรรมหนัก ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2017 ปริมาณไอเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรมหลักจะลดลงได้ 30% พัฒนาสูตรยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์รวมทั้งสนับสนุนให้ใช้สีที่มีตัวทำละลายแบบที่ไม่ใช่สารอินทรีย์

เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังงานหมุนเวียน (circular economy) ให้มีการรวมกลุ่มเชื่อมโยงอุตสาหกรรม

กระตุ้นให้มีการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมในแวดวงอุตสาหกรรม

หน้าปกของนิตยสารเศรษฐกิจรายสัปดาห์ของจีนที่สะท้อนให้เห็นเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศ

(ที่มาภาพ: http://www.kqwr.com/ )

4. ปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านพลังงานและเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด

ปรับตัวเลขของถ่านหินที่ประเทศต้องการใช้ ระบุแผนการในระยะยาวที่จะทำให้ถึงเป้าหมายรวมถึงฝ่ายที่รับผิดชอบ สัดส่วนของการใช้ถ่านหินต่อการใช้พลังงานทั้งหมดต้องลดลงต่ำกว่า 65% ภายในปี 2017 หาพลังงานมาทดแทนการใช้ถ่านหิน เช่น นำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ ก๊าซธรรมชาติ พลังงานเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิล (พลังงานจากฟอสซิลจะเป็นพวกพลังงานสิ้นเปลือง)

เร่งให้มีการใช้พลังงานสะอาด• เช่น ก๊าซธรรมชาติ ให้มากขึ้น รวมถึงพัฒนาการใช้พลังงานน้ำ ศึกษาการใช้พลังงานจากความร้อนใต้พิภพ ลม แสงอาทิตย์ มวลชีวภาพ รวมถึงศึกษาและพัฒนาการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย เพิ่มขีดการใช้ถ่านหินแบบสะอาดให้มากขึ้น เพิ่มกรรมวิธีการล้างถ่านหิน (coal washing) ห้ามการนำเข้าปิโตรเลียมโค้กที่มีสารซัลเฟอร์สูง

ห้ามไม่ให้มีการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าเพื่อจุดประสงค์ส่วนตัวโดยเฉพาะในเขตเมืองหลัก ขยายเขตพื้นที่ควบคุมพลังงานที่ก่อมลพิษสูงในเขตเมืองและจูงใจให้หันมาใช้ไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติทดแทนการใช้ถ่านหินด้วยการลดภาษี

เพิ่มการใช้พลังงานให้ได้ประโยชน์คุ้มค่า เพิ่มจำนวนอาคารสีเขียว ยกระดับมาตรฐานการประหยัดพลังงานโดยเฉพาะกับพวกอาคารที่มีการก่อสร้างขึ้นใหม่ สนับสนุนให้มีการใช้เครื่องไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องทำน้ำอุ่นจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

[1] ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ, "สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) คือ ??? (23 สิงหาคม 2012),http://bit.ly/1nzkXBU

[2] กูสกานา กูบาฮา และทรงศักดิ์ สกุลนิยมพร, การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตอนที่ 2, Technology Promotion. August – September 2010 Vol.37 No. 212 (p.55-56)

3. Clean Air Alliance of China, "State Council: Air Pollution Prevention and Control: Action Plan: China Clean Air Updates" English Translation, October, 2013

4. Clean Air Alliance of China, "China Air Quality Management Assessment Report (2017): Lite Edition"

--------------------

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040