"พรพรรณ สุทธิประภา ชีวิตเซรามิก และศิลปินพำนักในจีน"
  2018-03-19 20:28:36  cri

อ้อ พรพรรณ สุทธิประภา เซรามิกอาร์ทติส

"อย่างที่รุ่นพ่อรุ่นแม่บอกว่า ศิลปะไม่ทำให้คนอิ่มท้อง แต่เป็นคนดื้อมาตั้งแต่เด็ก "ยิ่งสบประมาท ยิ่งอยากทำ" ถึงยังไงก็ต้องพิสูจน์ว่าทำได้ ที่บ้านไม่รวยและทุกคนไม่สนับสนุน การมีสตูดิโอเซรามิกสักที่เป็นของตัวเอง เรื่องเครื่องมือทุกอย่างแพงมาก เตาราคา 8 แสน แป้นหมุน 4 หมื่น เช่าสตูดิโอเสร็จก็ต้องหาที่ที่เหมาะสมที่คนรอบๆ ข้างไม่กลัวว่าเราจะทำบ้านเขาไหม้ ในระหว่างการทำงาน งานแตกงานร้าว ซึ่งเป็นของที่ควบคุมไม่ได้เลย วันหนึ่งฝนตกวันหนึ่งแดดออก การหดตัวของงานก็เปลี่ยนไป ทุกอย่างมีผลหมด แต่ยิ่งต้องทำ มันถึงจะรู้"

อุปสรรคเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่ก็ไม่ง่ายที่จะคุ้นเคยกับมัน เช่นเดียวกับ "อ้อ" หรือ "พรพรรณ สุทธิประภา" ผู้ที่เรียกตัวเองว่า เซรามิกอาร์ติสท์ ทุกครั้งที่งานของเธอออกมาเหนือความคาดหมาย หรือทะลายไปต่อหน้าต่อตา เซรามิกที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ไม่เพียงทำให้เธอเสียใจ แต่กลับทำให้ได้คิด เก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์ และยังท้าทายอุปสรรคหนักข้อขึ้นด้วยการขึ้นงานที่บางเฉียบเรื่อยๆ จนกลายเอกลักษณ์ของเธอ

สายวันอาทิตย์ที่ร้างยวดยาน เราจอดรถที่ริมถนนพระราม 4 เพื่อรออ้อ พาเราไปยังตึกแถวเก่าแก่ไม่ไกลจากตลาดคลองเตย ทางเข้าลึกลับจนไม่อาจจินตนาการได้ว่ามีสตูดิโอผลิตชิ้นงานเซรามิคดีๆ ซุกซ่อนอยู่ ประตูเหล็กเลื่อนถูกฉีกออกด้วยมือนุ่มนวลที่โอบกอดดินทุกวันของเธอ แล้วเราจึงดั้นด้นเดินผ่านชั้นและกระสอบที่เต็มไปด้วยน็อตสกรูขนาดต่างของชั้นล่างมาแล้ว จึงพบทางขึ้นไปสู่ชั้นดาดฟ้า ที่อ้อมาขอใช้พื้นที่ตึกกงสีของเพื่อนทำที่หล่อเซรามิกและที่หลอมประสบการณ์ของเธอขึ้นมา

แค่ทางไปยังสตูดิโอของเธอ...ก็ยังมีอุปสรรคขนาดนี้เลยทีเดียว

คุณอ้อเรียกตัวเองว่าอะไร?

เซรามิกอาร์ติสท์ คือ คนทำงานเซรามิก

คิดว่าทำไมจีนถึงเชิญเราไปเป็นศิลปินพำนัก?

ครั้งแรกที่ไปเพราะว่าอาจารย์พิมชวนไป เป็นอาจารย์ที่มีคอนเนคชั่นกับทางนั้น แกก็อยากเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปแสดงศักยภาพของตัวเอง อย่างน้อยก็คือไปเป็นตัวแทนประเทศ เพราะคนไทยที่ทำงานลักษณะนี้มีน้อย และนั่นคืองานแรกที่จีน ได้มีโอกาสไปเจอศิลปินใหญ่ๆ หลายคน และก็เห็นว่าสิ่งที่เราโอดครวญมาตลอด 5 ปี นั้นเป็นการทำงานที่เล็กน้อยมาก เพราะเขาสู้กันมา 20 ปี แล้วเราก็ได้เห็นในความถ่อมตัว คือใหญ่มากแต่ถ่อมตัว กับคนที่ใหญ่มากแล้วอีโก้สูงมาก จะมีสองขั้วประมาณนี้

นี่เป็นความสุขของเซรามิกอาร์ติสท์ไหม ที่สามารถพาตัวเองไปที่ต่างๆ ไปทำงาน แถมได้ประสบการณ์ เราเติบโตขึ้นจากการทำงานทุกครั้งไหม?

อยากไปเรซิเดนซี เพราะว่าอยากเอาตัวเองออกจากคอมฟอร์ทโซน พอเราไปอยู่ในที่ที่เราไม่รู้ว่าเขาทำเซรามิกกันยังไง วัตถุดิบเป็นยังไง มันเหมือนดันตัวเองออกไปให้ไปเผชิญกับอะไรบางอย่างที่มันยาก เพราะว่าจริงๆ แล้วการทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ อยู่ในสตูดิโอคือรู้อยู่แล้วว่ามันขายได้ แต่เราอยากพาตัวเองเข้าไปอยู่ในบรรยากาศใหม่ แล้วเราไม่ได้มองว่าการไปเรซิเดนซีคือการไปเที่ยวหรือพักผ่อน แต่คือการพาตัวเองออกไปทำงานในบรรยากาศใหม่ ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะสนุก แต่จริงๆ มันสนุก แล้วเราก็เหนื่อยมากเลย คิดว่าปีละครั้งพอแล้ว

ถึงแม้ว่าจีนจะเจริญ มีความก้าวหน้าในเมืองเทคโนโลยีใหม่ แต่จริงๆ แล้วคนที่อายุน้อยเค้ายังมีความเหนียวแน่นเรื่องประวัติศาสตร์ของตัวเอง มีความห่วงแหน ซึ่งเราว่าเป็นเรื่องที่ดี คนยังมีความยินดีในการชงชา

ไปเมืองจีนครั้งล่าสุด ทำไมถึงไปเมืองนี้ทำไมไม่ไปจิ่งเต๋อเจิ้น และทำไมต้องเป็นเมืองช่างหยู

ปีนี้ไปจีนเป็นรอบที่ 3 เป็นครั้งที่ชอบมากที่สุด แต่สองรอบแรกเป็น International Workshop มีศิลปินต่างประเทศมารวมตัวกัน เผอิญว่าได้ไปรู้จักกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปะอันดับหนึ่ง เขาเป็นคนเกาหลีแต่มาเรียนที่จีนแล้ว 5 ปี เขาเห็นผลงานของเรา พอเวิร์คช้อปจบเขาก็ติดต่อเรามา อยากเชิญไปเรซิเดนซี ได้มาอยู่ที่ช่างหยูที่อยู่ในมณฑลฉงชิ่ง พอมาที่นี่แล้วรู้สึกว่าเมืองนี้ไม่ธรรมดา พอได้รู้ว่าเมืองนี้รัฐบาลตั้งใจทำให้เป็นเมืองเกมส์ดีเวลลอปเปอร์ มีธุรกิจการค้าอยู่แถวนั้นมากมาย มีคนต่างชาติ แต่เป็นความบังเอิญที่เมื่อประมาน 2- 3 ปีที่แล้วได้ไปขุดเจอชิ้นส่วนศิลาดลที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองจีน เป็นพื้นที่ที่ผลิตงานศิลาดลครั้งแรกของเมืองจีนหรืออาจเรียกว่าของโลกก็ได้ เพราะจีนก็มีเทคโนโลยีการผลิตงานเซรามิกที่เก่าแก่มาก เป็นความโบราณในเทคโนโลยี ศูนย์ศิลปะก็เลยเพิ่งตั้งมาได้ 2-3 ปี

มีศิลปินไปกันที่ประเทศ?

ไปกัน 3 ประเทศอยู่ในพีเรียดเดียวกันมี อิสราเอล เกาหลี และไทย เขาจะพยายามให้ศิลปินอยู่ประมาณ 2-3 คน ในพีเรียดเดียวกัน เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความรู้ คือเซ็นเตอร์นี้ โปรเฟสเซอร์บ๋ายหมิงซึ่งเป็นเพนเตอร์และเซรามิสต์ของจีนที่ดังมากเป็นไดเรกเตอร์ แล้วยังเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ปักกิ่งด้วย แกก็เลยใช้โอกาสนี้พาเด็กปริญญาโทมาทำงานคลุกคลีกับศิลปิน ถือเป็นโอกาสที่ดีที่นักเรียนจะได้รู้วิธีการทำงานหรือได้แลกเปลี่ยนความรู้ก่อนที่จะออกไปลงสนามจริง

ขณะกำลังทำงานที่เมืองช่างหยู

ได้อะไรมาบ้างทั้งจากเพื่อนอาร์ติสท์ นักเรียนและอาจารย์?

สิ่งที่ได้คือไปสอนเด็กมัธยมปลาย เลคเชอร์ให้ฟังว่า ชีวิตการทำงานเป็นยังไง ลักษณะงานเซรามิกที่ไม่ใช่ตามแบบฉบับของจีนที่ปกติเขาเห็นกันมาตั้งแต่เกิดมันเป็นยังไง ที่จริง 2 เดือนนี้ไม่ค่อยได้ไปไหนมาก 90% คือทำงานในสตูดิโอ แล้วก็จะมีแขกของรัฐบาล แขกของเซ็นเตอร์แวะเวียนมาบ้าง

ความยากลำบากของเซรามิกอาร์ติสท์ทั้งของที่รับรู้มาและของตัวเองด้วย?

ยิ่งอยากให้งานเนี๊ยบเท่าไรยิ่งพลาดเยอะ เราเป็นคนเพอร์เฟคชั่นนิสต์ในงานตัวเองมาก บางคนพูดว่าปล่อยๆ บ้าง ไม่งั้นจะเครียดตาย เราก็บอกว่าไม่ได้ ถ้าหย่อนในมาตรฐานตัวเองแล้วใครจะมาช่วยทำในจุดนี้ รู้สึกว่างานที่เราทำออกไปคือเราตั้งใจ เราก็อยากให้คนรับรับของที่ดีที่สุด เราไม่ได้มองว่างานที่มีตำหนิเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเขาไว้วางใจให้เราทำงานให้เขา แสดงว่ามันต้องทำให้ดีที่สุด ตอนทำชิ้นงานแตก นั่งร้องไห้แล้วเลิกทำ พอละหยุดแค่นี้ คือมันทำแบบนั้นไม่ได้ เลยกลายเป็นเหมือนบันได ถึงจะต้องคลานขึ้นไปก็ต้องทำ บางคนเขาก็พูดกันนะว่า คนทำงานเซรามิกนี่มันอึดดีเนอะ

อ้อ พรพรรณ สุทธิประภา เซรามิกอาร์ติสท์

วิธีการต่อสู้กับถ้วยใบละ 150 บาท ให้คนมองเข้าใจยังไง?

ทำงานขึ้นมาแล้วขายแก้วใบละ 2,000 บาท ทุกคนถามว่าทำไมถึงแพง เราก็เลยถามกลับไปว่าเทียบกับอะไร เขาก็บอกว่าร้านค้ายังขายแก้วใบละ 150 บาท กินน้ำได้เหมือนกัน มันเป็นแค่การให้คุณค่าของของที่ไม่เหมือนกัน เพราะศิลปะเป็นของที่ถูกลืมอยู่แล้ว เปรียบได้กับถ้าต้องแลกกับข้าว คนก็ต้องไปหาข้าวมากกว่าศิลปะ

อย่างที่รุ่นพ่อรุ่นแม่บอกว่า ศิลปะไม่ทำให้คนอิ่มท้อง จริงๆ ตอนเริ่มทำงานเซเรมิกเริ่มที่จะเรียนศิลปะ ทุกคนในบ้านค้านกันหมด เพราะน้าก็ทำงานข้าราชการ พ่อก็ทำงานบริษัทใหญ่ พี่สาวก็ทำงานในองค์กรมั่นคง คือเราเป็นคนดื้อมาตั้งแต่เด็ก ยิ่งสบประมาท ยิ่งอยากทำ

ถ้ามีคนพูดว่าแก้วข้างนอกใบละ 150 บาท อ้อก็ไม่สู้นะ เพราะสู้ไปก็แพ้ ด้วยเหตุผลทั้งปวงที่มีแพ้แน่นอน รู้ว่าตลาดเราไม่ใช่สำหรับคุณ เพราะเราไม่ได้ทำงานแมส เพียงแต่ว่าต้องอดทนเชื่อในสิ่งที่ตนเองทำ ทำไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งจะเจอ แล้วก็เจอจริงๆ แต่กว่าจะเจอต้องอดทนเยอะ แต่ด้วยความที่อาจจะโชคดีที่ตัวเองเรียนจบ ID (Industrial Design) มันทำได้หลายอย่าง ในระหว่างที่เราไม่สามารถหาเงินจากเซรามิกได้ เราก็ไปทำอย่างอื่นก่อนบ้าง แต่ก็ยังไม่ปล่อยทางนี้

เปรียบงานตัวเองเหมือนกับอะไร?

บางคนพูดว่ามีพลังดึงดูด บางคนมองว่าเป็นของที่สวยแล้วก็จบแค่นั้น แต่สำหรับอ้อแล้วด้วยความที่เราไม่ได้ทำงานจากความต้องการของคนอื่นแต่มาจากตัวเองล้วนๆ เลยอ่านงานตัวเองและรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทาง นี่ก็เพิ่งจะสรุปกับตัวเองได้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เหมือนกับการทำงานเซรามิกกับการใช้ชีวิตมันไม่ได้ต่างกัน มีของที่ต้องทำและของที่ต้องเผชิญพอๆ กัน

--------------------------------

ยุพินวดี คุ้มกลัด เรียบเรียง

ณจักร วงษ์ยิ้ม ถ่ายภาพ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040