เมื่อปีค.ศ.589 หยางเจียน จักรพรรดิสุยเหวินตี้ยกทัพไปพิชิตราชวงศ์ที่อยู่ทางภาคใต้ของจีน สามารถรวมอาณาจักรจีนเข้าด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง หลังตกอยู่ในสภาวะแตกแยกเป็นเวลานานเกือบ 300 ปี
จักรพรรดิสุยเหวินตี้ทรงมีความสามารถในการบริหารอาณาจักรอย่างสูง
โดยจัดสรรที่ดินให้ชาวนา อนุญาตให้ชาวนาบุกเบิกที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้เป็นที่ดินทำกิน ผ่อนปรนการเกณฑ์แรงงาน และการจัดเก็บภาษีจากประชาชน ทำให้การเก็บเกี่ยวพืชธัญญาหารทั่วราชอาณาจักรได้รับผลอุดมสมบูรณ์ ข้าวที่เก็บสะสมไว้ในยุ้งฉางของหลวงตามพื้นที่ต่างๆ มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก พระองค์ยังพยายามปรับปรุงเส้นทางการขนส่งทางน้ำให้ดีขึ้นโดยขุดลอกคลองให้มีทางระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การขนส่งข้าวจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง ป้องกันไม่ให้มีการขาดแคลนข้าวตามท้องที่ต่างๆ เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ก็พยายามสอดส่องทุกข์สุขของประชาชน ลดภาษีหรือไม่เก็บภาษีจากประชาชนในพื้นที่ประสบภัย นอกจากนี้ จักรพรรดิยังทรงเป็นแบบอย่างเรื่องมัธยัสถ์อดออม พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไม่เคยสิ้นเปลือง หากขุนนางสวมเสื้อผ้าแพรพรรณราคาแพงมาเข้าเฝ้า พระองค์มักจะไม่พอพระทัยยิ่ง ทำให้บรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ต้องสวมใส่เสื้อผ้าฝ้ายเนื้อหยาบเวลาเข้าเฝ้า
จักรพรรดิสุยเหวินตี้ได้ทำการปฏิรูปกลไกการปกครองและระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การบรรจุข้าราชการให้ใช้วิธีสอบคัดเลือกแทนวิธีเดิมที่ปฏิบัติการมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์เว่ย และราชวงศ์จิ้น เดิมนั้น หัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่นเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรรับเข้าทำงานราชการ แต่พอมาถึงรัชสมัยจักรพรรดิสุยเหวินตี้ ได้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ผู้ที่มีประวัติการศึกษาจึงมีสิทธิ์ร่วมในการสอบคัดเลือก วิธีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาผู้รับราชการส่วนใหญ่มาจากตระกูลเจ้าขุนมูลนาย หรือเจ้าที่ดินที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ารับราชการ นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอาญา ยกเลิกวิธีการลงโทษที่มีความโหดร้ายทารุณมาก ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สำหรับผู้ที่เห็นว่าการลงโทษไม่เป็นธรรมมีสิทธิร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้นได้ และมีสิทธิทูลเกล้าฯถวายฎีกาด้วย การทรงบริหารราชอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพของจักรพรรดิสุยเหวินตี้ทำให้สังคมมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจมีความเจริญเติบโต ท้องพระคลังมีทรัพย์สินเงินทองล้นเหลือ
แม้จักรพรรดิสุยเหวินตี้มีความสามารถอย่างสูงในการบริหารราชอาณาจักร แต่ไม่สามารถปกครองครอบครัวพระองค์เองโดยประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมแก่โอรสอย่างทั่วถึง เพราะพระองค์ไปหลงเชื่อคำกราบทูลของพระมเหสี ถอด "หยางหย่ง" ราชโอรสองค์หัวปีออกจากตำแหน่งรัชทายาท และแต่งตั้ง "หยาง กว่าง" ราชโอรสองค์ที่สองให้เป็นรัชทายาทแทน ทั้งๆ ที่หยาง หย่งไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ตามข้อกล่าวหา หากแต่ถูกพระมเหสีและหยาง กว่างใส่ร้าย ต่อมา จักรพรรดิสุยเหวินตี้ประชวร และได้มีโอกาสรู้ความจริงว่า หยาง กว่างมีความประพฤติที่ชั่วร้าย จึงรับสั่งให้ตามตัวหยาง หย่งมาเฝ้าโดยด่วน แต่แล้ว ผู้ที่มาเข้าเฝ้ากลับเป็นคนของหยาง กว่าง หลังจากนั้นไม่นาน จักรพรรดิสุยเหวินตี้ยังไม่ทันจะทรงมีพระบรมราชโอการเปลี่ยนตัวรัชทายาท ก็สิ้นพระชนม์โดยกะทะหัน จากนั้น หยาง กว่างขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า จักรพรรดิสุยหยางตี้
จักรพรรดิสุยหยางตี้ ทรงมีพระอุปนิสัยที่แตกต่างไปจากพระราชบิดามากทีเดียว เช่น จักรพรรดิสุยเหวินตี้ทรงมีอุปนิสัยประหยัดมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดกวดขัน แต่จักรพรรดิสุยหยางตี้ กลับทรงโปรดความโอ่อ่าหรูหรา และยังทรงมีปณิธานที่จะเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของอาณาจักร ด้วยเหตุนี้ พอขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ก็มีพระบรมราชโองการให้สร้างเมืองลั่วหยางเป็นเมืองหลวงแห่งที่สองของอาณาจักร เมืองลั่วหยางเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน แต่ต้องพินาศย่อยยับตั้งแต่ถูกกองทัพชนกลุ่มน้อยพิชิตจนสิ้นราชวงศ์จิ้นตะวันตก เมื่อจักรพรรดิสุยเหวินตี้ครองราชย์ ได้ใช้เมืองฉางอันเป็นเมืองหลวงมาตลอดรัชกาล
โครงการสร้างเมืองลั่วหยางเป็นเมืองหลวงที่สองนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีแรกที่หยาง กว่างขึ้นครองราชย์ โดยมีการเกณฑ์แรงงานเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างวังและอุทยานอันวิจิตรตระการขึ้น ปรากฏว่า ลำพังการขนไม้ท่อนขนาดมหึมาที่มีอยู่เฉพาะในทางภาคใต้ของจีนนั้น การขนไม้ท่อนเดียวก็ต้องใช้แรงงานกว่าพันคน แรงงานที่ทำหน้าขนส่งไม้ท่อนมหึมาและก้อนหินขนาดใหญ่ต้องเผชิญกับความทุรกันดารของภูมิประเทศ ทำให้มีแรงงานจำนวนมากต้องเจ็บป่วยล้มตาย
อีกมหาโครงการหนึ่งที่จักรพรรดิสุยหยางตี้ให้ดำเนินการคือ โครงการขุดคลองใหญ่ "ต้ายุ่นเหอ" คลองใหญ่นี้มีความยาวประมาณ 2,500 กิโลเมตร มีเมืองลั่วหยาง เมืองหลวงที่สองเป็นศูนย์กลาง ไหลจากทางปักกิ่งที่อยู่ภาคเหนือไปทางเมืองหังโจวที่อยู่ทางภาคใต้ของจีน เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางน้ำที่สำคัญในการขนส่งข้าวและอาหารจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ รวมทั้งถ่ายเทความอุดมสมบูรณ์ด้านอื่นๆ จากภาคใต้มายังภาคเหนือด้วย
ถัดจากการสร้างเมืองหลวงแห่งที่สองและการขุดคลองใหญ่ต้ายุ่นเหอ จักรพรรดิสุยหยางตี้ยังตระเตรียมที่จะยกทัพใหญ่ไปพิชิตชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ลำพังการตระเตรียมยกกองทัพใหญ่ไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอาณาจักรก็สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่เคยเดือดร้อนมาแล้วอย่างสาหัสทั้งจากการเกณฑ์แรงงานสร้างเมืองหลวงแห่งที่สอง และขุดคลองใหญ่ ต้ายุ่นเหอ คราวนี้ ยังต้องเกณฑ์แรงงานเพื่อสร้างเรือรบและเรือขนส่งเสบียงอาหารจำนวนมาก และมีการเร่งรัดการต่อเรือ โดยบังคับให้คนงานต่อเรือตรากตรำทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ทำให้มีคนงานเสียชีวิตจำนวนมาก การที่จักรพรรดิสุยหยางตี้ยกทัพใหญ่ไปพิชิตชนกลุ่มน้อยครั้งนี้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ประชาชนไม่สามารถอดทนกันได้อีกต่อไป มีการก่อกบฎขึ้นทั่วทุกหัวระแหง
ปีค.ศ.617 หลี่เอียน แม่ทัพประจำเมืองไท่หยวนที่เพิ่ง
ได้รับแต่งตั้งจากจักรพรรดิสุยหยางตี้ประกาศตนไม่ขึ้นต่อราชวงศ์สุยอีกต่อไป การก่อกบฎของแม่ทัพหลี่เอียนครั้งนี้ได้แรงบันดาลใจจากหลี่ ซื่อหมิน บุตรชายคนที่สองของหลี่เอียน ในฤดูใบไม้ร่วงปีต่อมา แม่ทัพหลี่เอียนยกทัพลงใต้เข้ายึดเมืองฉางอันตามแผนของหลี่ ซื่อหมิน ถึงตอนนี้ วาระสุดท้ายของจักรพรรดิสุยหยางตี้ก็ใกล้เข้ามาทุกที ในฤดูใบไม้ผลิปีค.ศ.618 หลังจักรพรรดิสุยหยางตี้ไปประทับที่มณฑลเจียงซู ทางภาคใต้ของจีน ก็เกิดกบฏขึ้นในพระราชวัง โดยขุนนางคนสนิทและนายทหารรักษาพระองค์ และมหาดเล็กที่เคยรับใช้จักรพรรดิสุยหยางตี้อย่างใกล้ชิดเป็นผู้ปลงพระชนม์จักรพรรดิสุยหยางตี้ โดยใช้ผ้ารัดพระศอจนจักรพรรดิสุยหยางตี้สิ้นพระชนม์ เป็นอันว่า ราชวงศ์สุยถึงกาลอวสาน
ปีเดียวกัน หลี่เอียนตั้งตนเป็นจักรพรรดิราชวงศ์ถัง ทรงมีพระนามว่า จักรพรรดิถังเกาจู่ แม้ว่าสถานการณ์ตอนนั้นจะยังสลับซับซ้อนมาก มีผู้นำกบฏก๊กต่างๆ ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิ แต่หลี่เอียนอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าผู้นำกบฏก๊กอื่นๆ เพราะมีกำลังทหารที่เข้มแข็งกว่า เมืองไท่หยวน ฐานที่มั่นเดิมของหลีเอียนก็เป็นปราการทางทหารที่มีความมั่นคงมาก
หลี่ ซื่อหมิน บุตรชายของหลี่เอียนมีชื่อเสียงเกียรติคุณด้านการทหารมาตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อตอนมีอายุ 17 ปี เขามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้หลี่ เอียนผู้เป็นบิดาตั้งตนเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อจักรพรรดิสุยหยางตี้ และเป็นผู้วางแผนให้บิดายกทัพไปยึดเมืองฉางอัน หลังหลี่ เอียนตั้งตนเป็นจักรพรรดิราชวงศ์ถัง แม้ว่าหลี่ เจี้ยนเฉิง พี่ชายคนหัวปีของหลี่ซื่อหมินได้รับแต่งตั้งเป็นรัชทายาท แต่หลี่ ซื่อหมิน โอรสองค์รองได้เป็นแม่ทัพใหญ่ มีอำนาจบังคับบัญชากำลังทหารทั้งหมด เพื่อทำการปราบปรามผู้นำกบฏก๊กต่างๆ ที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ หลี่ ซื่อ หมินใช้เวลาไม่กี่ปีก็สามารถปราบปรามกบฏก๊กต่างๆ ได้ราบคาบ โดยที่หลี่ ซื่อหมินไม่ได้ใช้วิธีการทางทหารเพียงอย่างเดียวในการพิชิตกบฏก๊กต่างๆ หากยังใช้กุศโลบายทางการเมืองด้วย โดยพยายามโน้มน้าวจิตใจผู้นำกบฏก๊กต่างๆ ให้หันมาสวามิภักดิ์กับตน ผลปรากฏว่า ผู้นำกบฏหลายคนได้กลายเป็นที่ปรึกษาชั้นยอดของหลี่ ซื่อหมิน ภายหลังหลี่ ซื่อหมินครองราชย์ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของราชวงศ์ถัง