ค.ศ.618 หลี่เอียนตั้งตนเป็นจักรพรรดิราชวงศ์ถัง ทรงมีพระนามว่า จักรพรรดิถังเกาจู่ แม้ว่าสถานการณ์ตอนนั้นจะยังคงสลับซับซ้อนมาก มีผู้นำกบฏก๊กต่าง ๆ ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิ แต่หลี่เอียนอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าผู้นำกบฏก๊กอื่น ๆ เพราะมีกำลังทหารที่เข้มแข็งกว่า เมืองไท่หยวน ฐานที่มั่นเดิมของหลีเอียนก็เป็นปราการทางทหารที่มีความมั่นคงมาก
หลี่ ซื่อหมิน บุตรชายของ หลี่เอียน มีชื่อเสียงเกียรติคุณด้านการทหารมาตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อตอนมีอายุ 17 ปี เขามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ หลี่ เอียน ผู้เป็นบิดาตั้งตนเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อจักรพรรดิ สุยหยางตี้ และเป็นผู้วางแผนให้บิดายกทัพไปยึดเมืองฉางอัน หลัง หลี่ เอียน ตั้งตนเป็นจักรพรรดิราชวงศ์ถัง แม้ว่า หลี่ เจี้ยนเฉิง พี่ชายคนหัวปีของ หลี่ ซื่อหมิน ได้รับแต่งตั้งเป็นรัชทายาท แต่ หลี่ ซื่อหมิน โอรสองค์รองได้เป็นแม่ทัพใหญ่ มีอำนาจบังคับบัญชากำลังทหารทั้งหมด เพื่อทำการปราบปรามผู้นำกบฏก๊กต่าง ๆ ที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ หลี่ ซื่อหมิน ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถปราบปรามกบฏก๊กต่าง ๆ ได้ราบคาบ โดยที่ หลี่ ซื่อหมิน ไม่ได้ใช้วิธีการทางทหารเพียงอย่างเดียวในการพิชิตกบฏก๊กต่าง ๆ หากยังใช้กุศโลบายทางการเมืองด้วย โดยพยายามโน้มน้าวจิตใจผู้นำกบฏก๊กต่าง ๆ ให้หันมาสวามิภักดิ์กับตน ผลปรากฏว่า ผู้นำกบฏหลายคนได้กลายเป็นที่ปรึกษาชั้นยอดของ หลี่ ซื่อหมิน
ในสายตาของขุนนางส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า หลี่ ซื่อหมิน เป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่ง ส่วน หลี่ เจี้ยนเฉิง รัชทายาทกลับไม่มีความสำคัญอะไรเลย ด้วยเหตุนี้ หลี่ เจี้ยนเฉิง จึงคบคิดกับ หลี่ หยวนจี๋ น้องชายคนสุดท้อง หาทางกำจัด หลี่ ซื่อหมิน ในที่สุด หลังจากแผนวางยาพิษฆ่า หลี่ ซื่อหมิน ประสบความล้มเหลว หลี่ซื่อหมิน ก็ชิงเป็นฝ่ายลงมือบ้าง โดยเช้าตรู่วันหนึ่ง ในโอกาสที่ หลี่ เจี้ยนเฉิง และ หลี่ หยวนจี๋ มีกำหนดการจะไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิในวังหลวง หลี่ ซื่อหมิน พร้อมด้วยขุนพลคนสนิทนำทหารจำนวนหนึ่งไปซุ่มรออยู่ที่ประตูวังหลวง "เสวียนอู่เหมิน" เมื่อ หลี่ เจี้ยนเฉิง และ หลี่ หยวนจี๋ มาถึง ศึกชิงราชบัลลังก์ก็เปิดฉากขึ้น โดย หลี่ หยวนจี๋ ยิงเกาทัณฑ์เข้าใส่ หลี่ ซื่อหมิน ก่อน แต่พลาด ผิดกับ หลี่ ซื่อหมิน ที่ยิง หลี่ เจี้ยนเฉิง ตายคาที่ ส่วนขุนพลของ หลี่ ซื่อหมิน ก็สังหาร หลี่ หยวนจี๋ ในทันที
หลังจาก หลี่ เจี้ยนเฉิง และ หลี่ หยวนจี๋ ถูกสังหารที่หน้าประตูวัง "เสวียนอู่เหมิน" เป็นเวลาเพียง 3 วัน จักรพรรดิเกาจู่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ หลี่ ซื่อหมิน เป็นรัชทายาท และต่อมาอีกเพียงสองเดือน จักรพรรดิเกาจู่ทรงสละราชสมบัติ หลี่ ซื่อหมิน จึงได้ขึ้นครองราชบัลลังก์ ทรงพระนามว่า จักรพรรดิไท่จง
สาเหตุแห่งการล่มสลายของจักรพรรดิราชวงศ์สุยเป็นหัวข้อเรื่องที่จักรพรรดิไท่จงสนพระทัย พระองค์ถือว่า การล่มสลายของราชวงศ์สุยเป็นบทเรียนที่ดีที่สุดที่จักรพรรดิราชวงศ์ถังต้องศึกษา เพื่อจะได้ไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดของราชวงศ์สุย
ข้อสรุปที่จักรพรรดิไท่จงได้จากการศึกษาถึงบทเรียนของราชวงศ์สุยคือ ผู้ปกครองเปรียบเสมือนเป็นเรือ ประชาชนเปรียบเสมือนเป็นน้ำ น้ำสามารถทำให้เรือลอยได้ แต่ก็สามารถทำให้เรือจมได้เช่นกัน เพื่อที่จะให้การปกครองของจักรพรรดิราชวงศ์ถังมีความมั่นคง จักรพรรดิไท่จงได้สรุปว่า ผู้ปกครองจำเป็นต้องปกครองประชาชนด้วยการอะลุ้มอล่วย ไม่รีดนาทาเร้นประชาชนมากจนเกินไป จึงพยายามดำเนินนโยบายไม่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องได้รับความเดือดร้อน โดยจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ชาวนา เพื่อให้ปริมาณการผลิตข้าวได้กลับคืนสู่ภาวะปกติ หลังจากเกิดสงครามกลางเมืองนานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะในตอนปลายสมัยราชวงศ์สุย รัฐบาลยังคอยระวังไม่ให้มีการเกณฑ์แรงงานในฤดูที่ชาวนาต้องทำงานหนัก เช่น ฤดูเก็บเกี่ยว ด้วยสาเหตุเหล่านี้ การผลิตด้านเกษตรกรรมจึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับกลไกการปกครอง รัฐบาลกลางมีองค์กรบริหารสูงสุด 3 องค์กร เช่นเดียวกับสมัยราชวงศ์สุย ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ ซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุดอันดับแรก เป็นผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ตลอดจนออกพระบรมราชโองการของจักรพรรดิด้วย องค์กรบริหารสูงสุดอันดับสองคือ องค์กรตรวจสอบพระราชอำนาจของจักรพรรดิ และองค์กรบริหารสูงสุดอันดับสามได้แก่ สำนักอัครมหาเสนาบดี ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามพระบรมราชโอการ ตลอดจนคำประกาศต่าง ๆ ขององค์กรบริหารทั้งสอง องค์กรบริหารทั้ง 3 แห่งนี้ถือเป็นส่วนบนยอดสุดของระบบราชการที่มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างกัน
ในสมัยราชวงศ์ถัง ผู้ที่สอบได้ จิ้นซื่อ เท่ากับได้ประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิทางวิชาความรู้ในระดับสูง สำหรับผู้ที่จะสอบเข้า จิ้นซื่อ ตำราคลาสสิคของลัทธิขงจื๊อถือเป็นหลักสูตรที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง และกวีนิพนธ์มีความสำคัญเป็นอันดับสอง ผู้ที่สอบได้เป็น จิ้นซื่อ จะมีอนาคตใหญ่ยิ่งในการรับราชการ
จักรพรรดิไท่จงสนพระทัยเรื่องสอบไล่คัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงเข้ามารับราชการอยู่ตลอดเวลา และทรงมีปรีชาสามารถในการแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ความสามารถให้เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ในรัชสมัยของพระองค์ รัฐบาลจึงมีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับความไว้วางพระทัยจากจักรพรรดิไท่จงมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้อย่างกว้างขวาง ทำให้จักรพรรดิไท่จงทรงบริหารราชการแผ่นดินได้เป็นอย่างดี ตลอด 23 ปีที่ครองราชย์ ในรัชสมัยไท่จง นอกจากมีเสถียรภาพอย่างทั่วถึงในราชอาณาจักรแล้ว ยังมีการสร้างกลไกการปกครองที่มีประสิทธิภาพ ยังผลให้อาณาจักรจีนรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ศิลปะและวัฒนธรรม
ในค.ศ.649 จักรพรรดิไท่จงทรงประชวร และพระอาการทรุดลงทุกที หลี่ จื้อ ในฐานะรัชทายาทที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งต้องเข้าวังเพื่อเฝ้าพระอาการของพระราชบิดาเป็นประจำทุกวัน ขณะนั้น หลี่ จื้อ มีอายุ 22 พรรษา ได้มาติดใจนางสนมวัย 24 ปีของพระบิดา นางสนมผู้นี้ชื่อ อู่จ้าว ต่อมาได้กลายเป็นจักรพรรดินีองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน คือ จักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน หรือ บูเช็กเทียน