จีน ---ประเทศที่มีประวัติ 5,000 ปี (16)
  2018-07-03 09:39:23  cri

ค.ศ.649 จักรพรรดิไท่จงทรงประชวร และพระอาการทรุดลงทุกที หลี่ จื้อ ในฐานะรัชทายาทที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งต้องเข้าวังเพื่อเฝ้าพระอาการของพระราชบิดาเป็นประจำทุกวัน ขณะนั้น หลี่ จื้อกำลังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น มีอายุ 22 พรรษา ได้มาติดใจนางสนมวัย 24 ปีของพระราชบิดา นางสนมผู้นี้ชื่อ อู่จ้าว เป็นลูกสาวของพ่อค้าคนหนึ่ง บิดาของอู่จ้าวได้ถวายลูกสาวให้เป็นสนมของจักรพรรดิไท่จงตั้งแต่นางมีอายุเพียง 14 ปี หลังจากนั้น อู่จ้าวอยู่ในวังนานถึง 10 ปี แต่ก็ยังคงเป็นสนมชั้นรอง ไม่มีความสำคัญอันใด ทั้ง ๆ ที่นางมีสติปัญญาเฉียบแหลม ตราบจนได้พบ หลี่จื้อ ชายหนุ่มผู้มีตำแหน่งว่าที่จักรพรรดิ แต่สัมพันธ์สวาทของคนทั้งสองต้องมาหยุดชะงัก เมื่อจักรพรรดิไท่จงสิ้นพระชนม์ อู่จ้าวในฐานะสนมของจักรพรรดิไท่จงต้องบวชเป็นชีตลอดชีวิตตามประเพณี

แต่เมื่อ หลี่จื้อ ได้ครองราชย์ทรงพระนามว่า จักรพรรดิเกาจง ได้สองปี ก็ได้เสร็จไปยังวัดหลวงแห่งหนึ่ง และได้พบหน้าแม่ชีสาวอู่จ้าวที่วัดแห่งนั้นโดยบังเอิญ ชีวิตของอู่จ้าวจึงเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นับแต่วันนั้น อู่จ้าวสึกชีตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดิเกาจง หลังจากนั้น ฐานะของอู่จ้าวไม่ใช่สนมธรรมดาอย่างเดิมอีก แต่เป็นคนโปรดของจักรพรรดิเกาจง และมีโอรสกับจักรพรรดิเกาจง ต่อมา อู่จ้าวได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิเกาจงให้เป็นพระมเหสี นี่ก็คือ อู่เจ๋อเทียน หรือ บูเช็กเทียน ขณะที่อดีตพระมเหสีและสนมเอกถูกถอดออกจากตำแหน่ง และถูกคุมขังอยู่ในวัง ทั้ง ๆ ที่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์ถังคัดค้านอย่างรุนแรง ต่อมา ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่เคยคัดค้านการแต่งตั้งให้ อู่เจ๋อเทียน เป็นพระมเหสี ถ้าไม่ตายก็ต้องถูกเนรเทศในข้อหาก่อกบฏ

เกาจงทรงเป็นจักรพรรดิที่อ่อนแอทั้งกายและจิตใจ หลังครองราชย์ไม่นาน จักรพรรดิเกาจงมีสุขภาพเสื่อมลงทุกที เมื่อเวลาเสด็จออกว่าราชการ อู่เจ๋อเทียน ซึ่งเป็นคนที่มีความสนใจในกิจการบ้านเมืองอยู่แล้ว จึงนั่งอยู่เบื้องหลังพระวิสูตร เพื่อคอยทูลเสนอแนะจักรพรรดิเกาจงในการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่สำคัญต่าง ๆ โดยที่ อู่เจ๋อเทียน มีสติปัญญาเฉียบแหลมอยู่แล้ว และมีกำเนิดมาจากสามัญชน จึงมีความเข้าใจในทุกข์สุขของประชาชนยิ่งกว่าจักรพรรดิเกาจง และก็วินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าจักรพรรดิเกาจงด้วย หลังจักรพรรดิ เกาจง ประชวรหนัก ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ อำนาจทั้งหมดในการปกครองอาณาจักรจึงตกอยู่ในกำมือของ อู่เจ๋อเทียน แต่เพียงผู้เดียว

ในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.683 จักรพรรดิเกาจงรับสั่งให้ตั้งหลีเสี่ยน โอรสองค์ที่สามเป็นจักรพรรดิสืบต่อจากพระองค์ แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้ากิจการบ้านเมืองเรื่องสำคัญมีปัญหา ให้ไปปรึกษา อู่เจ๋อเทียน ก่อน วันเดียวกัน จักรพรรดิเกาจงสิ้นพระชนม์ หลีเสี่ยน โอรสของพระมเหสี อู่เจ๋อเทียน เองได้เป็นจักรพรรดิสืบต่อจากเกาจง ทรงพระนามว่า จักรพรรดิ จงจง ส่วน อู่เจ๋อเทียน ได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระมเหสีพันปี แต่จักรพรรดิ จงจง ครองราชย์ยังไม่ถึงปี ก็ถูก อู่เจ๋อเทียน ถอดออกจากพระราชบัลลังก์ โดยอ้างว่า จักรพรรดิ จงจง ทรงมีเจตนายกบ้านเมืองให้ใครง่าย ๆ ถ้าขืนปล่อยให้ครองราชย์ต่อไป บ้านเมืองก็จะตกอยู่ในภาวะอันตราย ต่อมา หลี่ ตั้น โอรสองค์ที่ 4 ซึ่งเป็นโอรสองค์สุดท้าย ได้รับการแต่งตั้งจาก อู่เจ๋อเทียน ให้เป็นจักรพรรดิ ทรงพระนามว่า จักรพรรดิรุ่ยจง แต่รุ่ยจงเป็นเพียงจักรพรรดิในนามเท่านั้น เพราะว่านอกจากจะต้องประทับอยู่แต่ในวังแล้ว ยังไม่สามารถติดต่อกับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ด้วย

 

พฤติการณ์รวบอำนาจทั้งหมดของพระมเหสีพันปี อู่เจ๋อเทียน ทำให้ขุนนางในหัวเมืองจำนวนหนึ่งที่ยังคงจงรักภักดีต่อจักรพรรดิราชวงศ์ถังไม่พอใจและไม่อาจทนได้อีกต่อไป จึงมีการก่อกบฏขึ้นในบางพื้นที่ เพื่อโค่นล้มอำนาจของพระมเหสีพันปี อู่เจ๋อเทียน ผู้เป็นตัวการของกบฏครั้งนี้คือ สวี จิ้งเยี่ย ขุนนางที่มีความสามารถสูงคนหนึ่ง สวี จิ้งเยี่ย ใช้ทหารประจำเมืองหยางโจว เป็นกำลัง ออกแถลงการณ์ประณามพระมเหสีพันปี อู่เจ๋อเทียน อย่างรุนแรง ปรากฏว่า อู่เจ๋อเทียน ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับนี้อย่างพินิจพิเคราะห์จนหมด แล้วก็อุทานว่า เขียนได้เยี่ยมมาก และยังรับสั่งถามขุนนางที่นำแถลงการณ์มาถวายว่า ใครเป็นผู้เขียน ครั้นได้ทราบว่า ผู้เขียนด่าพระนางอย่างเจ็บแสบคือ ลั่ว ปิงหวาง พระนางก็รับสั่งว่า น่าเสียดายจริง ๆ ที่คนเขียนหนังสือได้ดีเยี่ยมเช่นนี้ถูกมองข้ามไป ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นประโยชน์

สำหรับกบฏครั้งนี้ มีกำลังทหารที่เมืองหยางโจวเป็นหลัก บรรดาผู้นำกบฏส่วนใหญ่เป็นขุนนางฝ่ายพลเรือน ไม่เคยมีประสบการณ์ในการรบทัพจับศึก ยิ่งกว่านั้น ราชวงศ์ถังว่างศึกมาหลายทศวรรษแล้ว สังคมมีเสถียรภาพ กลไกการปกครองก็มีประสิทธิภาพ ผลจึงปรากฏว่า มีผู้สนับสนุนการก่อกบฏครั้งนี้น้อยมาก ดังนั้น กำลังทหารของรัฐบาลจึงสามารถปราบกลุ่มกบฏได้อย่างราบคาบภายในระยะเวลาอันสั้น

กบฏครั้งนี้เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ อู่เจ๋อเทียน คิดสร้างกลไกปราบปรามศัตรูของพระนางอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น โดยมีการจัดตั้งหีบทองแดงในวัง เพื่อรับหนังสือที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดิน และการปราบปรามทุจริต ขณะเดียวกัน ก็มีช่องลับเฉพาะสำหรับรับหนังสือฟ้องร้องกล่าวโทษศัตรูของ อู่เจ๋อเทียนในการใส่ร้ายพระนาง หรือวางแผนก่อกบฏ ขุนนางที่เป็นมือปราบสำคัญในสมัยนั้นคือ โส่ หยวนหลี่ และไหล เจิ้นเฉิน ขุนนางสองคนนี้ได้จับกุมคุมขังและฆ่าคนบริสุทธิ์จำนวนมาก แต่สุดท้าย โส่ หยวนหลี่ก็ถูกฟ้องในข้อหาทุจริต ระหว่างที่ถูกดำเนินคดี เขาก็ถูกทรมานอย่างที่เขาเคยกระทำกับคนอื่นมา สุดท้ายก็ตายในคุก ส่วนไหล เจิ้นเฉิน ถูกคนฟ้องร้องกันมากมายทั้งในความทุจริตและสร้างคดีเท็จ ผลที่สุด อู่เจ๋อเทียน เป็นผู้มีประกาศิตให้ประหารชีวิตไหล เจิ้นเฉิน

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040