นักเขียนอเมริกันชื่อ เอ็ดการ์สโนว์ ผู้ซึ่งเคยแปลผลงานเรื่องนี้ของหลู่ซิ่น(แปลไม่จบ) ได้เขียนถึงว่า "หลู่ซิ่นนับเป็นนักเขียนชั้นแนวหน้าของฝ่ายซ้ายที่อาจหาญ งานเรื่อง "ประวัติจริงของอาคิว" นี้นับเป็นผลงานที่เผ็ดร้อน และได้ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง"
ด้านนักเขียนไทยที่เชี่ยวชาญเรื่องวรรณกรรมจีนและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจีนมายาวนาน อย่างสุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็ได้กล่าวถึงผลงานเรื่องนี้ว่า "งานเขียนของหลู่ซิ่นเป็นแนวอรรถนิยม ที่ท่วงทำนองการเขียนเป็นไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม แล้วสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของสังคม จัดเป็นแนวเขียนแบบก้าวหน้า อย่างเรื่อง "ประวัติจริงของอาร์คิว" ได้สะท้อนนิสัยของคนจีนออกมาอย่างชัดเจน เช่น การอวดตัว ทั้งที่ตัวเองไม่มีอะไร ทั้งถูกด่า ถูกตี ก็ยอมทน ซึ่งสะท้อนให้เห็นนิสัยยอมจำนน"
"ประวัติจริงของอาคิว" ได้กลายเป็นต้นธารวรรณกรรมสมัยใหม่ของจีน และผู้เขียนเองก็ได้ทำให้วรรณกรรมจีนมีที่ยืนในระดับโลก ถึงขนาดว่ามีคนเคยบอกว่าหลู่ซิ่นอาจจะได้รับรางวัลโนเบล แต่หลู่ซิ่นก็กล่าวต่อคำพูดนั้นอย่างถ่อมตัวว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่า ยังจะไม่มีนักเขียนจีนคนใดที่สมควรได้รับรางวัลนี้"
เดือนสิงหาคม ปี 1926 หลังจากขบวนการนักศึกษาที่ไร้อาวุธถูกทหารของรัฐาลยิงเสียชีวิตกว่า 200 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้มีนักศึกษาของหลู่ซิ่น 2 คน เขาประฌามเหตุการณ์ครั้งนี้ และเรียกว่า "วันที่มืดดำที่สุดตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐ" ทำให้เขาตกอยู่รายชื่อที่พวกฝ่ายปกครองปฏิกิริยาจะต้องจับกุม โดยกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้สนับสนุนขบวนการนักศึกษารักชาตินี้ ในขณะเดียวกันช่วงนี้เขาได้พบรักกับสวู่ กว่างผิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจให้เข้าหลบหนีไปทางใต้ และสอนหนังสือที่วิทยาลัยเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน