ปี 1936 หลู่ซิ่น อ่อนแอลงอย่างมากจากวัณโรค พอถึงเดือนมีนาคมในปีนั้น เขาก็ติดเชื้อในหลอดลมและมีไข้ ซึ่งต้องทำการรักษาด้วยการเจาะปอดเพื่อฉีดของเหลวเข้าไป จากมิถุนายนจนถึงสิงหาคม หลู่ซิ่นก็ป่วยอีก น้ำหนักลดลงเหลือเพียง 38 กิโลกรัม ระหว่างนี้ เขามีอาการดีขึ้นบ้างเล็กน้อย และได้เขียนบทความ 2 ชิ้น ที่สะท้อนถึงการตาย คือเรื่อง "มรณกรรม" และ " นี่แหละชีวิต" เวลาตี 3 ครึ่ง ของวันที่ 18 ตุลาคม หลู่ซิ่นสะดุ้งขึ้นมากลางดึก เพราะเกิดอาการหายใจติดขัด หมอประจำตัวถูกเรียกมาที่บ้านอย่างเร่งด่วน และได้ฉีดยาบรรเทาอาการปวดให้ โดยมีภรรยาอยู่เคียงข้างตลอดเวลา จนกระทั่งย่ำรุ่งเวลา 05.11 น. ในเช้าวันที่ 19 ตุลาคม เขาก็ได้คืนลมหายใจให้ผืนดิน และร่างของเขาก็ถูกฝังอยู่ที่สวนสาธารณะหลู่ซิ่น เมืองเซี่ยงไฮ้
ตลอดทั้งชีวิตหลู่ซิ่นได้เขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายออกมาจำนวนมาก ผลงานของเขาได้สร้างอิทธิพลทางความคิดแก่นักคิดนักเขียนของจีนในยุคต่อมาอย่างยิ่ง รวมถึงสร้างแนวคิดใหม่ๆ ให้กับผู้อ่านในประเทศอื่นด้วย
ไฟที่เขาได้หยิบยืมมาจากต่างประเทศ และคบเพลิงที่เขาจุดขึ้นเองในภายหลัง ได้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่มีวันมอดดับ ได้สาดส่องให้เห็นหนทางที่ต้องดุ่มเดินไปข้างหน้าเพื่อเยียวยาผู้คนด้วยความรู้ การศึกษา และศิลปวรรณกรรม ดังเช่นที่ตั้งปณิธานไว้ เมื่อครั้งลาออกจากโรงเรียนแพทย์
และเขายังคงเป็นอมตะอยู่ในจิตวิญญาณของทุกคนในชาติ
ในวันที่บ้านเมืองแตกแยก การได้เรียนรู้ชีวิตของผู้ที่รักและต้องการหลอมรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว และฝ่าฟันความอยุติธรรมต่างมามากมายเช่นชีวิตของท่านหลู่ซิ่นนี้ คงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังบ้างไม่มากก็น้อย
ครับ...รายการหน้าต่างเมืองจีนในวันนี้ ขอจบลงเพียงเท่านี้
พบกับผมพัลลภ สามสี ได้ใหม่สัปดาห์หน้า
สวัสดีครับ