สรุปโดยรวม การประชุมดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญสามประการ เริ่มแรก ประเทศพัฒนาควรระมัดระวังไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเกิดความผันผวนไร้ระบบมากเกินไป เพื่อช่วยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในการรับมือกับปัญหาการหลั่งไหลเข้ามาของเงินร้อน (Hot Money) สำหรับเรื่องนี้ ก็เป็นมติที่พุ่งเป้าโดยตรงไปที่สหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐฯ ได้พิมพ์เงินดอลล่าร์จำนวนมหาศาล ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนลงเรื่อย ๆ จนเกิดแรงกดดันแบบฟองสบู่ต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ นายเรนเนอร์ บรุเดอร์เล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยีของเยอรมนีกล่าวในที่ประชุมว่า นโยบายเงินตราที่ผ่อนปรนมากเกินควรของสหรัฐฯ อันที่จริงเป็นการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราทางอ้อม
ประการที่สอง ประเทศต่างๆ ควรกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามกลไกตลาดและพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งการนี้คงทำให้ประเทศจีนเผชิญกับแรงกดดันของการปฏิรูปกลไกอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามากขึ้น การประชุมครั้งนี้ ยังทำให้ผู้คนรู้สึกว่า ในการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20 ที่กรุงโซลในเดือนหน้า ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจะเป็นประเด็นที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาที่ดึงดูดความสนใจมากที่สุดในกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก
ประการที่สาม ที่ประชุมไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อสภาพการณ์ที่บางประเทศได้ออกมาตรการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเมื่อเร็วๆ นี้ ในบรรดาประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ นอกจากญี่ปุ่นได้แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นครั้งแรกในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาแล้ว เกาหลีใต้และบราซิล เป็นอาทิ ก็กำลังศึกษาหรือได้ออกมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมทรัพย์สิน
ความเห็นเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเจียงจู ทำให้ผู้คนมีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่า "สงครามอัตราแลกเปลี่ยน" เป็นสิ่งที่ีหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็มีบางส่วนเกิดความกังวลว่า เนื่องจากที่ประชุมไม่ได้ออกมาตรการที่มีผลบังคับใช้ จึงอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนแนวโน้มพัฒนาการของข้อพิพาทด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราได้
เราควรมองเห็นถึงต้นเหตุที่ทำให้เกิดข้อพิพาทด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งก็คือ ความไม่สมดุลของการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก ความเร็วและสมรรถนะในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ระหว่างประเทศพัฒนาด้วยกัน และระหว่างประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กันเอง ล้วนมีความแตกต่าง ดังนั้น ย่อมจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ ดำเนินนโยบายมหภาคที่ไม่ตรงกัน กระทั่งตรงกันข้าม
แม้ว่า ในอนาคต สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจะดำเนินไปพร้อมๆ กับข้อพิพาทด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่จะคงความรุนแรงยิ่งขึ้นก็ตาม แต่หากประเทศต่างๆ ยินดีปฏิบัติตามความปณิธานที่ได้บรรลุร่วมกันในที่ประชุมเจียงจู ก็อาจกล่าวได้ว่า "สงครามอัตราแลกเปลี่ยน" ช่วงที่เลวร้ายที่สุด ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
(NL/Lin)