เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:สามเทพเจ้าดาวมงคล ฮก ลก ซิ่ว (1)
  2011-12-16 16:48:15  cri

ฮก หรือ ฝู ในสำเนียงจีนกลาง หมายถึง ความสมบูรณ์พูนสุข

ลก หรือ ลู่ ในสำเนียงจีนกลาง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองร่ำรวย

ซิ่ว หรือ โซ่ว ในสำเนียงจีนกลาง หมายถึง ความอายุมั่นขวัญยืน

โดยภาพลักษณ์ของ ฝูเสินหรือเทพเจ้าฮกนั้น มีจุดสังเกตุได้ง่ายและเป็นที่คุ้นตา คือ ถือแผ่นหรือม้วนตัวหนังสือจีนคำว่า ฝู (ความสุข) หรือมีอุ้มเด็ก ลู่เสินหรือเทพเจ้าลก จะถือสิ่งล้ำค่ามงคล อาทิ ก้อนตำลึงทอง หยกหยูอี้ เป็นต้น โซ่วเสินหรือเทพเจ้าซิ่ว ถือซิ่วท้อ(ผลท้ออายุยืน) นอกจากนี้ยังมีการใช้ "เปียนฝู ค้างคาว" "เหมยฮวาลู่ กวางซีก้า (Sika Deer)" และ "โซ่วถาว ผลท้ออายุยืน" ซึ่งมีเสียงพ้องกับสามมงคล "ฝู ลู่ โซ่ว" มาใช้เปรียบเปรยแทนได้ด้วย

(ภาพ) ศิลปะการตัดกระดาษจีนสื่อความถึง ฝู(สุข) ลู่(รุ่งเรือง) โซ่ว(อายุยืน) แบบต่างๆ 

ฝูซิง หรือดาวประทานสุข ชาวจีนสมัยโบราณเชื่อว่าเมื่อดาวอายุ(ซุ่ยซิง) หรือดาวพฤหัสบดีส่องสว่าง จะนำความสุขมาให้ จึงกลายเป็นที่มาของชื่อเรียกที่ว่า ฝูซิง อีกหนึ่งตำนานว่าเนื่องเพราะในสมัยฮ่องเต้ถังเต๋อจง(ครองราชย์ ค.ศ.780 - ค.ศ.805) แห่งราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618 – ค.ศ.917) เมืองเต้าโจวมีคนแคระมาก สร้างความสนพระทัยให้แก่พระองค์เป็นที่ยิ่ง ถึงกับมีรับสั่งให้นำคนแคระมาถวายตัวเป็นประจำทุกปี เป็นเหตุให้ชาวเมืองถึงกับต้องมีการนำเด็กที่ร่างกายปกติแข็งแรงดีมาเลี้ยงดูให้เป็นคนแคระ เพื่อส่งตัวเข้าถวายตามพระบัญชา

จวบเมื่อ หยางเฉิง ผู้ว่าราชการประจำเมืองคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง เห็นว่าการกระทำนี้ไร้มนุษยธรรม ยอมเอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงยื่นเรื่องถวายฎีกา ร้องขอให้พระองค์ทรงปลดข้อกำหนดส่งเครื่องบรรณาการนี้ออก เมื่อชาวเมืองได้รู้ต่างซาบซึ้งและชื่นชมในตัวหยางเฉิงมาก ร่ำลือต่อๆ กันไปว่าเขาคือดาวฝูซิงลงมาจุติเป็นแน่แท้ ซึ่งได้รับการยกย่องและเล่าขานสืบต่อกันเรื่อยมา โดยภาพลักษณ์ของหยางเฉิงต่อมา ได้มีการปรับประยุกต์ผสมผสานตามหลักความเชื่อของลัทธิเต๋า และบ้างก็จัด เทพจางเซียนที่ชาวจีนนับถือกันว่า เป็นเทพเจ้าผู้ประทานบุตรนั้น เป็นเทพฝูเสินอีกด้วย

(ภาพ) ชาวจีนส่วนใหญ่นิยมติดตัวอักษรคำว่า "ฝู" ในลักษณะสลับกลับบนลงล่าง

เพราะพ้องเสียงตรงกับความหมายที่ว่า ความสุขมาถึงแล้ว

นอกจากนี้ ชาวจีนยังให้นิยามถึง "ห้าสุข" เอาไว้มากมาย โดยแตกต่างและผันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อาทิ "ซ่างซู" ตำราบันทึกประวัติศาสตร์เล่มแก่แก่ที่สุดของจีน ที่บันทึกประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ซาง(1711-1066 ปีก่อนค.ศ.) ราชวงศ์โจวตะวันตก(1066 - 771ปีก่อนค.ศ.) และราชวงศ์โจวตะวันออก(770-256 ปีก่อนค.ศ.)เอาไว้ และถูกรวบรวมขึ้นโดยขงจื๊อ ซึ่งได้เอ่ยถึง "ห้าสุข" ไว้ว่า ห้าสุขประกอบด้วย หนึ่งอายุยืน สองมั่งคั่งสมบูรณ์ สามแข็งแรงปลอดภัย สี่มีคุณธรรม ห้าตายดี(สิ้นลมตามอายุขัยไปอย่างสงบ)

พอมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น ตำรา"ซินลุ่น" ของหวนถัน กล่าวถึงห้าสุขว่า คือ มีอายุยืน มั่งคั่ง มีเกียรติ สุขสงบ และการมีลูกมีหลานมากมาย ต่อมาภายหลังว่าห้าสุขประกอบด้วย ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง อายุยืนยาว ร่ำรวย และความปีติมงคล ซึ่งชาวจีนไม่น้อยต่างเชื่อว่า "ห้าสุข" นี้มีเหตุผลที่มาที่ไปของมันชัดเจนอยู่ในตัว โดยหนังสือ ยื่อร์สิงอีซั่น หรือทำดีวันละครั้ง (ออกวางจำหน่ายปี 2011) ของ ฟางไห่เฉวียน นักวิชาการด้านพุทธศาสนาและศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับอารยธรรมจีน ได้กล่าวถึงห้าสุขนี้ว่า

สุขแรก อายุยืนยาว เป็นผลมาจากการรู้จักดูแลเอาใจใส่ต่อสุขภาพ รู้จักเลือกอาหารการกิน

สุขสอง เจริญรุ่งเรือง เป็นผลมาจากการรู้จักสละทรัพย์ทำทานให้แก่ผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก

สุขสาม ไร้โรค เป็นผลมาจากการละเว้นไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีใจเมตตากรุณา

สุขสี่ ลูกหลานมากมี เป็นผลมาจากการเป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์ เห็นแก่ส่วนร่วม

สุขห้า สิ้นลมอย่างสงบ เป็นผลมาจากการประพฤติดีประพฤติชอบ อยู่ในศีลในธรรม

 

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

 

ลิงค์เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:เทพเจ้าดาวมงคล-ลก

https://thai.cri.cn/247/2011/12/16/41s192911.htm

 

เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:เทพเจ้าดาวมงคล-ซิ่ว

https://thai.cri.cn/247/2011/12/16/242s192912.htm

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040