เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:สามเทพเจ้าดาวมงคล ฮก ลก ซิ่ว (2)
  2012-02-16 17:18:10  cri

ลู่ซิง หรือเทพเจ้าลก ในสำเนียงแต้จิ๋วนั้น ชาวจีนโบราณยกให้ท่านเป็นดาวแห่งความเจริญรุ่งเรือง ความมีเกียรติยศชื่อเสียง และ เนื่องจากว่าคำว่า ลู่ หมายรวมถึงความมั่งคั่งร่ำรวยด้วย ดังนั้น ผู้คนจึงหยิบยืมภาพลักษณ์ของ จ้าวกงหมิง เทพเจ้าแห่งโชคลาภไฉเสินเหย่ (ไช้ซิงเอี๊ยในสำเนียงแต้จิ๋ว) ที่มีใบหน้าดำ หนวดยาว สวมหมวกเหล็ก มือถือแส้เหล็ก และนั่งบนหลังเสือ มาเป็นฐานบวกผสานเข้ากับหลักความเชื่อของลัทธิเต๋า ทำให้เทพเจ้าลกมีรูปลักษณ์ตามอย่างขุนนางฝ่ายบุ๊น ที่มีใบหน้าขาวแทน

(ภาพ) สามเทพเจ้ามงคล "ฮก ลก ซิ่ว" ผู้ซึ่งประทานสุข ความเจริญ ลาภยศ และความมีอายุยืนยาว

ตำนานความเป็นมาของลู่ซิง คนจีนโบราณถือว่า ท่านเป็นดวงดาวบนท้องฟ้า ที่ลงมาจุติเหมือนกับฝูซิง(เทพเจ้าฮก) แต่จะซับซ้อนมีหลายที่มามากกว่า บ้างว่าเดิมทีแล้วท่านคือ นักพรตเต๋าผู้มีความสามารถและชำนาญแม่นยำยิ่งในด้านการยิงธนู แต่บางตำนานว่าท่านคือ เมิ่งฉ่าง ฮ่องเต้หนุ่มรูปงามแห่งอาณาจักรโฮ่วสู่(ครองราชย์ระหว่างค.ศ.919-965) ในช่วงยุคห้าราชวงศ์และสิบอาณาจักร (ค.ศ.907-960) หรือเป็นเทพจางเซียนผู้ประทานบุตรนั่นเอง

แต่ที่มาที่ไปที่เป็นที่ยอมรับมากสุดนั้นก็คือ การนับถือว่า ลู่ซิง คือ เหวินชางซิง เทพเจ้าแห่งศาสตร์และศิลป์ ผู้ประทานพรแก่เหล่าบัณฑิตทั้งหลาย ให้สามารถสอบผ่านการคัดเลือก มีชื่อติดประกาศได้อย่างราบรื่นสมดังหวัง ทั้งนี้เพราะประเทศจีนในสมัยโบราณคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ ด้วยการจัดสอบวัดความรู้ความสามารถ เพื่อเฟ้นหาผู้ที่เป็นที่สุดของประเทศ ซึ่งการได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนาง นอกจากจะนำมาซึ่งอำนาจยศฐาบรรดาศักดิ์แล้ว ยังมีลาภยศเงินทอง ความมั่งคั่งตามติดมาด้วย

และด้วยเหตุนี้ชาวบ้านสามัญชนทั่วไปที่ต้องการยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของตัวเอง นอกจากจะยึดหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มุมานะขวนขวายหาวิชาความรู้ใส่ตัวกันแล้ว ก็จะยึดเทพเจ้าเหวินชางซิงเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญ ดังนั้น การกราบไหว้บูชาท่านจึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย และแพร่หลายที่สุดในสมัยราชวงศ์สุย(ค.ศ.581-618))และราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-907)เรื่อยมา พอถึงสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ(ค.ศ.960-1127) การเรียกขานว่า เหวินชางซิง ได้ค่อยๆ เข้ามาแทนที่ ลู่ซิง

(ภาพ) ภาพวาดเทพเจ้าลู่(ลก ในสำเนียงแต้จิ๋ว)ในรูปแบบต่างๆ

ภาพวาดมงคลของเทพเจ้าลก ที่ชาวจีนนิยมติดประดับหรือมอบให้กันในช่วงปีใหม่ แบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ คือ หนึ่ง เป็นภาพเทพเจ้าเหวินชางซิง ในรูปลักษณ์ของ "จื่อถงเสิน" ที่สวมหมวกและแต่งกายตามอย่างขุนนางจีนโบราณ โดยมีเด็กรับใช้เคียงกาย 2 คน ซึ่งเด็กรับใช้ทั้งสองนี้ มีชื่อเรียกว่า "เทียนหลง" กับ "ตี้หยา" ซึ่งหมายถึง ฟ้าไม่ได้ยิน(หูหนวก) และดินพูดไม่ได้(เป็นใบ้) ซึ่งสืบเนื่องมาจากชาวจีนโบราณเชื่อว่า จื่อถงเสิน คือ เทพผู้ทำการออกข้อสอบคัดเลือกขุนนางจีนในสมัยก่อน ดังนั้น เด็กรับใช้เคียงกายทั้งสองของท่าน จึงควรเป็นผู้ที่สามารถเก็บงำในสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นเกี่ยวกับข้อสอบไว้ ได้เป็นอย่างดี เข้าทำนอง "ผู้รู้ไม่พูด ผู้พูดไม่รู้" นั่นเอง

สอง คือ การวาดโดยเล่นคำพ้องเสียง ใช้ภาพ "ลู่" หรือกวางซีก้า แทนเทพเจ้าลก ด้วยความที่กวางเป็นสัตว์ที่น่ารัก อุปนิสัยสุภาพอ่อนโยน แถมมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นจุดลายบนตัว หรือเขาคู่สง่าบนหัว จึงได้รับการยอมรับให้เป็นสัตว์มงคลสืบเนื่องมาแต่โบราณ ซึ่งชาวจีนในอดีตเล่าขานกันว่า หากผู้ปกครองเป็นผู้ทรงคุณธรรม ใส่ใจในทุกข์สุขของประชาราษฎร์แล้ว จะมี "กวางสวรรค์" สีสันสวยงามสดใสปรากฏตัวให้เห็น

และหากเป็น "กวางขาว" ซึ่งพบได้ยากนั้น จะหมายถึงความมีอายุยืนยาว ซึ่งเชื่อกันว่ากวางขาวนั้น มาจากกวางธรรมดาที่พอมีอายุถึงห้าร้อยปีก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาว และกวางขาวนั้นสามารถมีอายุยืนยาวได้กว่าพันปี แม้ว่าปัจจุบันการสอบคัดเลือกขุนนางจีนโบราณจะสูญสิ้นไปแล้ว แต่กวางก็ยังเป็นสัตว์ที่ได้รับความนิยมชมชอบจากชาวจีน และยังถือเป็นสัตว์มงคลตัวแทนความเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องต่อกันมา

หมายเหตุ ห้าราชวงศ์ ประกอบด้วย โฮ่วเหลียง โฮ่วถัง โฮ่วจิ้น โฮ่วฮั่น และโฮ่วโจว

สิบอาณาจักร ประกอบด้วย อู๋กั๋ว หนานถัง เฉียนสู่ โฮ่วสู่ หมิ่นกั๋ว ฉู่กั๋ว หนานฮั่น หนานผิง(จิงหนาน) อู๋เย่ว์ และเป่ยฮั่น

 

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

 

ลิงค์เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:เทพเจ้าดาวมงคล-ฮก 

http://thai.cri.cn/247/2011/12/16/41s192910.htm

 

เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:เทพเจ้าดาวมงคล-ซิ่ว

http://thai.cri.cn/247/2011/12/16/242s192912.htm

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040