เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:ฮ่องเต้จีนในอดีตเสด็จออกว่าราชการเวลาใด
  2011-12-20 16:51:33  cri

"ซ่างฉาว" ในสำเนียงจีนกลาง หมายถึง การที่ขุนนางจีนในสมัยโบราณเดินทางมาเข้าเฝ้าถวายรายงานต่อฮ่องเต้ หรือก็คือการที่ฮ่องเต้เสด็จออกมาเป็นประธานเปิดประชุม เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหางานบ้านงานเมืองต่างๆ ซึ่งการเสด็จออกว่าราชการนั้น โดยปกติแล้วจะมีขึ้นในช่วงเช้าราวหกเจ็ดโมง ในรัชสมัยฮ่องเต้คังซี แห่งราชวงศ์ชิง(ครองราชย์ค.ศ.1661-1722) ทรงตั้งกฏระเบียบไว้ว่า การเสด็จออกว่าราชการตอนเช้านั้น หากเป็นในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนจะมีตอนหกโมงเช้า ส่วนช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวจะเป็นเจ็ดโมงเช้า

ในหนังสือ"ต้าหมิงฮุ่ยเตี่ยน" ที่จดบันทึกเกี่ยวกับข้อกำหนดกฎหมายพระราชกฤษฎีกาสมัยราชวงศ์หมิง มีเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวถึงว่า การเข้าเฝ้าประชุมขุนนางยามเช้านั้น เหล่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำต้องลุกจากเตียงตั้งแต่กลางดึก แล้วออกเดินทางเป็นระยะทางกว่าครึ่งเมืองมุ่งสู่ประตูอู่เหมิน(หมายเลข1ในรูปประกอบ02) ประมาณเช้ามืดตี 3 ขุนนางทั้งหลายต่างมาพร้อมกันที่หน้าประตู รอจนเสียงกลองจากบนประตูอู่เหมินดังขึ้นก็จะตั้งแถวจัดระเบียบ และเมื่อเสียงระฆังดังขึ้นในตอนตี 5 ประตูอู่เหมินจึงเปิดออก

บรรดาขุนนางต่างเดินตามทยอยกันเข้าไป ข้ามสะพานจินสุ่ยเฉียว(หมายเลข 2) แล้วไปหยุดตั้งแถวอีกครั้งที่ลานกว้างด้านหน้า ซึ่งหากระหว่างรอฮ่องเต้เสด็จมาถึงนั้นขุนนางคนใดกระแอมไอ ขากเสมหะ หรือยืนโงนเงนไม่มั่นคง ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจตราทำการจดบันทึกไว้รอรับโทษ โดยปกติแล้วฮ่องเต้จะเสด็จออกว่าราชการ ณ ประตูไท่เหอเหมิน(หมายเลข 3) หรือตำหนักไท่เหอเตี้ยน(หมายเลข 4) และเมื่อฮ่องเต้เสด็จแล้ว เหล่าขุนนางจะลงก้มลงหมอบถวายคำนับสามครั้ง ซึ่งจะมีเพียงขุนนางระดับ 4 ขึ้นไปเท่านั้น ที่จะมีโอกาสเข้าเฝ้าถวายรายงานต่อหน้าพระพักตร์ ภายหลังขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้กราบทูลถวายรายงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องตอบข้อซักถามหรือรับพระบรมราชโองการจากฮ่องเต้

(รูปประกอบ 02)

ทั้งนี้ การเสด็จออกว่าราชการตอนเช้านั้น ไม่มีข้อกำหนดตายตัวเรื่องเวลา ขึ้นอยู่กับฮ่องเต้แต่ละพระองค์ ว่าจะกำหนดให้เป็นวันละครั้ง หลายวันครั้ง หรืออาจทิ้งหายไปเป็นปีๆ เลยก็มี อาทิ ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) กำหนดให้เหล่าขุนนางมาเข้าเฝ้าทุกห้าวันครั้ง พอมาในสมัยต้นราชวงศ์ชิงกำหนดให้มีขึ้นทุกวันที่ห้า สิบห้า และยี่สิบห้าของทุกเดือน

แต่พอถึงรัชสมัยฮ่องเต้จูหยวนจางปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง(ครองราชย์ค.ศ.1368-1398)และรัชสมัยฮ่องเต้คังซีแห่งราชวงศ์ชิง กลับกำหนดว่า หากไม่มีเหตุสุดวิสัยหรือกรณีพิเศษใดแล้ว จะมีการเสด็จออกว่าราชการทุกวัน ซึ่งการเรียกประชุมขุนนางในทุกเช้านั้น ขุนนางชั้นผู้ใหญ่จะเป็นผู้ถวายรายงานสภาพการณ์บ้านเมือง ทำการถกปัญหาและหาวิธีแก้ไขร่วมกัน

ดังนั้น การเสด็จออกว่าราชการบ่อยครั้ง แสดงถึงความเอาใจใส่ในเรื่องกิจการบ้านเมืองของผู้ปกครอง และเมื่อย้อนดูบันทึกประวัติศาสตร์จีนที่ผ่านมา จะสังเกตุเห็นได้ไม่ยากว่า ฮ่องเต้ที่ไม่สนใจงานบริหารการปกครองบ้านเมือง จะเสด็จออกว่าราชการน้อยครั้ง และนำพาประเทศชาติสู่ความล่มจมในที่สุด

หมายเหตุ

1) ประตูอู่เหมิน สร้างขึ้นค.ศ.1420 ในรัชสมัยฮ่องเต้หมิงหย่งเล่อ ถือเป็นประตูรั้วทางเข้าออกหลักของพระราชวังต้องห้าม"กู้กง" มีลักษณะเหมือนตัวหนังสือจีนคำว่า "อาว凹" เฉพาะส่วนกลางที่มองแล้วเว้าเข้าไปนั้น ประกอบด้วยส่วนล่างที่เป็นกำแพงสูง 12 เมตร ส่วนบนเป็นห้องโถงมีความกว้างขนาด 9 ห้อง 60.05 เมตร ลึกขนาด 5 ห้อง 25 เมตร ประตูอู่เหมินมีทางเข้าออกทั้งสิ้น 5 ประตู หากมองตรงจะเห็นเพียง 3 ประตูนั้น ประตูกลางสำหรับฮ่องเต้ ถัดไปฝั่งตะวันออกสำหรับขุนนางเข้าออก ฝั่งตะวันตกสำหรับเชื้อพระวงศ์ ส่วนอีกสองประตูจะอยู่ที่ด้านข้าง ตรงส่วนที่ยื่นออกมาเหมือนแขนนั้น จะเปิดใช้เฉพาะตอนจัดงานพิธีใหญ่ๆ

2) สะพานจินสุ่ยเฉียว เป็นสะพานหินที่สร้างขึ้นในรัชสมัยฮ่องเต้หมิงหย่งเล่อเช่นกัน โดยสะพานหลักตรงกลาง สำหรับฮ่องเต้เสด็จผ่าน ตัวสะพานมีความยาว 23.15 เมตร กว้าง 6 เมตร ราวสะพานทำจากหินอ่อนขาว ส่วนยอดเสาแกะสลักเป็นรูปมังกรพันหลักทะยานอยู่ท่ามกลางก้อนเมฆ ถัดออกไปด้านซ้ายและขวา สำหรับเชื้อพระวงศ์ มีความยาว 21 เมตร กว้าง 5.4 เมตร ถัดออกไปอีกเป็นด้านนอกสุดทั้งทางซ้ายและขวานั้น สำหรับขุนนางระดับ 3 ขึ้นไป มีความยาว 19.5 เมตร กว้าง 4.8 เมตร

3) ประตูไท่เหอเหมิน มีความกว้างขนาด 9 ห้อง และลึกขนาด 3 ห้อง พื้นที่ทั้งสิ้น 1,300 ตร.ม. ได้ชื่อว่าเป็นประตูวังที่ใหญ่และสูงที่สุดของพระราชวังกู้กง เป็นสถานที่สำคัญสำหรับใช้เสด็จออกว่าราชการของฮ่องเต้สมัยราชวงศ์หมิงและชิง โดย สร้างขึ้นในรัชสมัยฮ่องเต้หมิงหย่งเล่อ ในชื่อเรียกว่า เฟิ่งเทียนเหมิน และถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น หวงจี๋เหมิน ในค.ศ. 1562 รัชสมัยฮ่องเต้หมิงเจียจิ้ง และเปลี่ยนมีชื่อเรียกดังปัจจุบันในค.ศ. 1645 รัชสมัยฮ่องเต้ชิงซุ่นจื้อ ต่อมาได้รับการบูรณะสร้างขึ้นใหม่สภาพดังที่เห็นในปัจจุบันในรัชสมัยฮ่องเต้ชิงกวงสวี้ ค.ศ.1889

4) ตำหนักไท่เหอเตี้ยน เป็นตำหนักไม้ที่ยังคงสภาพดีและมีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน สร้างขึ้นในรัชสมัยฮ่องเต้หมิงหย่งเล่อ เช่นเดียวกับประตูไท่เหอเหมิน ต่อมาภายหลังถูกไฟไหม้ได้รับการก่อสร้างขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง ซึ่งสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยฮ่องเต้คังซี แห่งราชวงศ์ชิง ค.ศ. 1695 โดยใช้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองหรือประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ อาทิ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีราชาภิเษกสมรส พิธีสถาปนาแต่งตั้งฮองเฮา

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040