ปี 2011 วิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนทวีความรุนแรงขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาไร้พลัง เศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจใหม่เติบโตอย่างเชื่องช้า ด้วยสาเหตุดังกล่าว เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะถดถอยมากขึ้น
เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2012 จะดีกว่าปี 2011 หรือไม่นั้น นักวิเคราะห์เห็นว่า ครึ่งหลังปี 2011 เศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวเร็วขึ้น แรงกดดันที่จำกัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯผ่อนคลายลง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการจ้างงานเริ่มดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ภาวะหนี้ของวิสาหกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ภาวะการส่งออกเป็นที่น่าพอใจ
จากสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2012 จะสูงกว่าปี 2011 แต่ความไม่แน่นอนหลายอย่างทั้งภายในและต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายในประเทศ กลไกการเมืองมีประสิทธิภาพต่ำในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้การลงทุนของวิสาหกิจมีความเสี่ยงมาก นอกจากนี้ การลดงบประมาณรายจ่ายอย่างมากจะทำให้ภาวะการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ส่วนต่างประเทศ ถ้าวิกฤตหนี้ยุโรปทวีความรุนแรงขึ้น ก็จะทำให้ การค้า และการเงินของสหรัฐฯได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ปี 2012 เป็นปีที่จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นักวิเคราะห์เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2012 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครึ่งปีหลังปี 2012 จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างมาก ถ้าดัชนีเศรษฐกิจตัวสำคัญ เช่นอัตราว่างงาน อยู่ในระดับที่น่าพอใจ นายโอบามาก็จะมีโอกาสดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกสมัยมากขึ้น แต่ถ้าอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 7.5% โอกาสในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยก็มีน้อยลง ขณะนี้ อัตราการว่างงานของสหรัฐฯอยู่ที่ 8.6% นักวิเคราะห์เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯต้องเร่งดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดอัตราว่างงงาน เช่น ต้องให้นโยบายการคลังมีความต่อเนื่องมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณะสุขให้สูงขึ้น ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จัดสรรรายได้ของสังคมให้มีความเที่ยงธรรมมากขึ้น เพิ่มคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น
ส่วนทางด้านธนาคารเมอร์ริล ลินช์ของสหรัฐฯ มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐที่ปัจจุบันดูดีจะชะลอตัวลงในปี 2012 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องดำเนินนโยบายเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2012 ทั้งนี้ เพราะนักลงทุนจะเริ่มกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้วันเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนปี 2012 รวมทั้งการที่รัฐสภาและฝ่ายบริหารจะต้องเจรจากันอีกครั้งเพื่อขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลภายในต้นปี 2013 หากหลังการเลือกตั้ง การเมืองสหรัฐยังมีความแตกแยกและไร้ทิศทางในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ก็อาจส่งผลต่อความมั่นใจของเจ้าหนี้ได้ในที่สุด ทั้งนี้ สหรัฐได้เปรียบยุโรปอย่างมาก เพราะมีอภิสิทธิ์ในการพิมพ์เงินสกุลหลักของโลกออกมาใช้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดและตลาดพันธบัตรรัฐบาลก็มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูง ทำให้รัฐบาลสหรัฐกู้เงินได้โดยเสียดอกเบี้ยต่ำแม้สถานะทางการคลังของสหรัฐจะย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารเมอร์ริล ลินช์ ได้กล่าวเตือนว่า ในระยะยาว หากสหรัฐไม่จัดการกับปัญหาการคลัง สหรัฐก็อาจต้องเผชิญกับวิกฤติหนี้สาธารณะในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากกรีซในขณะนี้ก็เป็นได้