จีนปริทรรศน์: เรื่องหมูๆ ที่เซี่ยงไฮ้
  2013-03-11 15:56:59  cri

สัปดาห์ที่ผ่านมีมีเหตุการณ์ชวนสยองเกิดขึ้นในแม่น้ำหวงผู่ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของนครเซี่ยงไฮ้ นั่นก็คือ มีซากหมูตายลอยน้ำตุ๊บป่องๆ มาถึงราว 2,200 ตัว ที่สำคัญคือ มีหลายซายลอยไปฉวัดเฉวียนอยู่ใกล้กับโรงผลิตน้ำประปาหลักของเมือง ทำให้เรื่องหมูๆ นี้เป็นข่าวดังขึ้นมา เพราะเมื่อคนได้ทราบข่าวแล้วก็พากันเกิดความกังวลต่อคุณภาพของน้ำดื่มน้ำใช้ว่าอาจจะได้รับผลกระทบ ด้วยว่าตัวเลขหมูที่ปรากฏนั้นมหาศาล และไม่รู้ว่าตายมาแล้วกี่วัน

สำหรับเรื่องนี้ทางการของเมืองเซี่ยงไฮ้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้พากันนิ่งนอนใจ งานการประปาก็ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบน้ำในโรงผลิตต่างๆ ก่อนที่จะส่งไปตามบ้านเรือนของผู้คนอย่างเข้มงวด ซึ่งก็ปรากฏว่าในปัจจุบันยังไม่ตรวจพบว่ามีเชื้อโรคใดเจือปน

ด้านหน่วยงานเทศบาลที่ทำการเก็บกู้ซากจากความมักง่ายของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูครั้งนี้ระบุว่า ยังมีเรืออีก 6 ลำ ที่ออกไปตระเวนตามแม่น้ำหวงผู่ แม่น้ำสาขา และคลองต่างๆ ที่เชื่อมต่อถึงกันยังไม่กลับมา ซึ่งนั่นก็หมายความว่าจำนวนของซากหมูเหล่านี้อาจจะเพิ่มมากขึ้นอีกก็เป็นได้

จากการตรวจสอบในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่เทศบาลระบุว่า บริเวณที่พบซากหมูมากที่สุดอยู่ในคลองส่งน้ำผิงเชิน ที่ตัดจากแม่น้ำชุยโข่ว จากเมืองผิงหู มณฑลเจ้อเจียง เชื่อมต่อมายังเซี่ยงไฮ้ และข้อมูลจากแท็กที่ติดอยู่ที่หูของซากหมู จึงพออาจจะสรุปได้ว่าหมูเคราะห์ร้ายเหล่านี้น่าจะมีแหล่งที่มาจากฟาร์มแห่งใดแห่งหนึ่งในย่านนี้ ซึ่งยังต้องครวญหาผู้รับผิดชอบต่อไป

ด้านเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรก็ได้ส่งตัวอย่างซากหมูที่พองอืดไปยังหน่วยงานตรวจสอบและกักกันโรค เพื่อยืนยันให้แน่ใจว่า หมูเหล่านี้มีเชื้อโรคใดแฝงอยู่หรือไม่ ซึ่งในข้อสันนิษฐานแรกนั้น ต้องสงสัยว่ามีแน่นอน เพราะไม่เช่นนั้น เจ้าของฟาร์มคงไม่ทิ้งสัตว์ที่มีมูลค่ามหาศาลเหล่านี้ของตนไปเฉยๆ และมันก็น่าจะต้องตายพร้อมๆ กับ จนเจ้าของผู้ไร้ความรับผิดชอบจัดการไม่ไหว ต้องกำจัดส่วนที่เสียหายก่อนที่มันจะลุกลามไปสู่ตัวอื่นๆ ที่ยังปกติ และหมูจำนวนมากขนาดนี้ ถ้าคิดแบบคนเห็นแก่ตัว คำตอบก็จะออกมาได้ว่า "จะเอาไปฝังก็ย่อมต้องเสียค่าแรงจำนวนมาก สู้ทิ้งลงน้ำไปเลยดีกว่า"

ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องพยายามตรวจสอบอย่างละเอียดถึงเชื้อโรคที่แฝงอยู่ในซากหมู ส่วนเรื่องสืบหาเจ้าของที่มาของซากหมูลอยน้ำ ไม่น่าจะใช่เรื่องยากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมายได้ เพราะแท็กที่หูนั้นก็ระบุชี้ไปที่เจ้าของผู้เห็นแก่ตัวและมักง่ายอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

เจ้าหน้าที่ด้านเกษตรกรรมของมณฑลเจ้อเจียงก็ได้ระบุว่า ถ้ามีการตายของสัตว์เลี้ยงในปศุสัตว์เจ้าของฟาร์มมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อช่วยกันในการตรวจสอบเบื้องต้นหาสาเหตุของการตาย จากนั้นก็ต้องกลบฝังอย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย และถ้าตรวจแล้วปรากฏว่าหมูตายด้วยโรคแอนแทร็กซ์ จะต้องมีการเผาทิ้งอย่างถูกต้องตามขั้นตอน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไม่ให้ลุกลาม

เจ้อเจียงนั้นเป็นหนึ่งในมณฑลสำคัญของจีนที่ผลิตเนื้อหมูป้อนตลาดทั่วทั้งประเทศ ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่ชาวจีนนิยมรับประทานเป็นหลักด้วย ดังนั้นปัญหาหมูลอยตายตามน้ำจำนวนมหาศาลมายังนครเซี่ยงไฮ้ครั้งนี้ จึงนอกจากจะทำให้ชาวเมืองศูนย์กลางแห่งการเงินโลกกังวลต่อความสะอาดของน้ำดื่มที่อาจจะมีการเจือปนของเชื้อโรคร้ายแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของอาหารหลักที่อาจจะมีเชื้อโรคด้วย เพราะการตายของหมูจำนวนมากเช่นนี้ น่าจะมีเรื่องที่ชาวเกษตรกรพากันปกปิดอยู่ จนจัดการกันเองไม่ไหว เพราะมีการล้มตายเกินรับมือ จึงปรากฎกายลอยมาเป็นข่าวใหญ่ให้รับรู้กันอย่างน่าตกใจอย่างที่เห็น

งานนี้เจ้าหน้าที่ด้านคุณภาพอาหารของจีนต้องเนื้อเต้นเร่งมือการจ้าละหวั่น เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยว้องกับการกินดีอยู่ดีของประชาชนที่รัฐบาลเน้นกันนักกันหนามาโดยตลอด

และชาวจีนในปัจจุบันเองก็มีมาตรฐานด้านการครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน ทั้งยังกล้าที่จะร้องเรียนทุกเรื่องที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ อย่างกรณีของเคเอฟซี ร้านไก่ทอดชื่อดังของอเมริกาที่มีสาขาในประเทศจีนถึง 4,000 กว่าสาขา ยังเกิดปัญหายอดขายตกไปมากกว่าร้อยละ 30 ต่อเดือน ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เพราะรับซื้อเนื้อไก่จากฟาร์มเจ้าประจำที่มีการใช้ยาเร่งโต สาเหตุก็เป็นเพราะว่ามีคนไปตรวจพบเข้านั่นเอง ซึ่งทางร้านก็ออกมาแก้ปัญหาโดยการขู่ยกเลิกสัญญาซื้อกับฟาร์มที่ใช้ยาเกินขนาด ซึ่งก็เป็นการแก้ที่ปลายทาง เพื่อนำประโยชน์ของตัวเองกลับคืนมา

เรื่องอย่างนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นเลย ถ้าหากว่าทุกข้อต่อในการผลิตจนถึงผู้บริโภคส่งอาหารเข้าปาก ได้รับการคุ้มครองคุณภาพจากการผลิตที่ซื่อสัตย์และได้มาตรฐาน

เรื่องของ "หมูที่เซี่ยงไฮ้" ในครั้งนี้ก็เช่นกัน การหาคนที่รับผิดชอบมาลงโทษนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเลยดังที่กล่าวไปแล้ว แต่จะหาคนที่มีความรับผิดชอบมาอยู่ในขั้นตอการผลิตได้อย่างไร น่าจะเป็นเรื่องที่ "ไม่หมู" ซึ่งต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น พร้อมไปด้วยการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมควบคู่ไปด้วย

งานนี้ได้แต่หวังว่าหลังตรวจสอบแล้ว จะไม่พบว่าหมูจำนวนมหาศาลเหล่านี้จะไม่มีเชื้อโรคที่ร้ายแรงแฝงอยู่

พัลลภ สามสี

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040