เมื่อวันที่ 12 มีนาคมนี้ เมียนมาร์ประกาศรายงานคณะกรรมการตรวจสอบฉบับสุดท้าย ระบุว่า ควรดำเนินโครงการเหมืองทองแดงที่มีบริษัทกิจการเหมืองว่านเป่าจากจีนร่วมทุน แต่ต้องมีมาตรการควบคุมที่จำเป็น รายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว ใช้เวลากว่า 3 เดือน เพื่อระบุถึง "ข้อได้" และ "ข้อเสีย" ของโครงการเหมืองทองแดงนี้
รายงานฉบับดังกล่าวมีความยาว 9 หน้า ระบุว่า คณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งมีนางอองซาน ซูจี เลขาธิการพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบโครงการนี้อย่างละเอียดทุกด้าน
ผลการตรวจสอบระบุว่า ไม่ได้พบว่า โครงการเหมืองทองแดงเลทปาดวงจะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง มวลอากาศที่ปล่อยจากโครงการก็ได้มาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเช่นกัน เอาเข้าจริงแล้ว โครงการฯ ได้สร้างงานในท้องถิ่นถึง 660 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นงานใหม่และให้โอกาสการอบรมอีกด้วย นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ให้เงินเวนคืนชดเชยแก่เกษตรกรที่สูญเสียที่ดิน รวมถึงการสร้างหมู่บ้านใหม่ให้กับผู้อพยพ พร้อมมีการสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษา ห้องสมุด วัด และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้อย่างครบครันด้วย
แต่ผลการตรวจสอบส่วนหนึ่งระบุว่า โครงการเหมืองทองแดงเลทปาดวงไม่ได้ทำการประเมินผลกระทบต่อสังคมรอบๆโครงการฯ สำหรับการชดเชยจากการเวนคืนที่ดินไม่ได้เป็นไปตามราคาตลาด จึงควรปรับให้ถูกต้อง คือ ให้เงินชดเชยเต็มร้อยตามราคาจริง และคืนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนไปมากเกินแก่ชาวบ้าน ส่วนสัญญาระหว่างบริษัทว่านเป่าของจีนกับบริษัทเมียนมาร์ อีโคโนมิก โฮลดิ้ง ควรเพิ่มเนื้อหาว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเพิ่มตำแหน่งงานใหม่ให้มากขึ้นเท่าที่ทำได้ด้วย
ข้อควรสังเกตของรายงานผลการตรวจสอบนี้คือ ระบุถึงความโปร่งใสหลายครั้ง โดยเห็นว่า เนื่องจากไม่ค่อยมีความโปร่งใส จึงทำให้ประชาชนเมียนมาร์แทบไม่รู้เรื่องใดๆ เกี่ยวกับโครงการฯ จนเกิดความเข้าใจผิดขึ้น
หลังจากนั้น ทางบริษัทว่านเป่าของจีนออกแถลงการณ์ฉบับภาษาจีน เมียนมาร์ และอังกฤษ เมื่อวันที่ 13 มีนาคมนี้ ระบุว่า มีความยินดีต่อผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบโครงการฯ และย้ำว่า จะปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในสัญญาอย่างจริงจัง ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นบรรลุซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต พร้อมกันนี้ บริษัทว่านเป่ายินดีที่จะรับฟังเสียงจากชุมชนและชาวเมียนมาร์ทุกเมื่อ ทั้งตั้งใจจะปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสูงสุดของโลก
(TON/LING)