Pic2.1องค์กรสำหรับเด็กออทิสติกทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมองเห็นความหวัง
ถ้าหากว่าเมื่อ 9 ปีก่อน นางตู้ เจียเหมยไม่ได้พาลูกสาวเข้าร่วมการตรวจสุขภาพของเด็กอายุ 0-6 ขวบ ชีวิตของเธออาจไม่เป็นอย่างในปัจจุบัน เนื่องจากสถานที่ตรวจจัดอยู่ในบริเวณบ้าน ในวันจัดการตรวจสุขภาพนั้น นางตู้ เจียเหมยก็พาลูกสาว "ซวนซวน" ไปเข้าร่วมตามปกติ ไม่ได้คิดมาก แต่ในระหว่างการตรวจ ซวนซวนไม่ยอมร่วมมือกับแพทย์ และมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยเป็นปกติ ทำให้แพทย์วินิจฉัยว่า "สงสัยเป็นโรคออทิสติก" เมื่อได้ยินการวินิจฉัยจากปากของแพทย์ แม้ว่าเป็นหน้าร้อน และนางตู้ เจียเหมยกลับรู้สึกเนื้อตัวหนาวสั่นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
นางตู้ เจียเหมยบอกว่า ก่อนหน้านั้น ไม่เคยได้ยินคำว่าออทิสติก และคิดว่าคำนี้ห่างไกลจากตนเองมากเหลือเกิน แต่เมื่อลูกสาวถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสติกจริงๆ เธอรู้สึกช้ำใจและแทบจะสิ้นหวัง เธอไม่กล้าอยู่บ้านของตนเอง พาลูกหนีไปอยู่ที่บ้านแม่ 2 เดือน แต่ถึงเวลาที่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล จึงต้องกลับกรุงปักกิ่ง ในวันเปิดเทอม ทางโรงเรียนอนุญาตให้พ่อแม่มาเป็นเพื่อนกับลูกได้ ทำให้นางตู้ เจียเหมยสำนึกถึงอาการผิดปกติของลูกจริงๆ จนต้องทำใจเผชิญกับชะตากรรมของตนและลูกสาวอย่างกล้าหาญ
นางตู้ เจียเหมยกับศูนย์ช่วยเหลือเด็กออทิสติกของเธอ
ในช่วงเวลาที่ลูกสาวถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสติกนั้น นางตู้ เจียเหมยกำลังเตรียมจะสอบเข้าเรียนปริญญาเอก แต่เมื่อนึกถึงอนาคตของลูก เธอจึงสละการศึกษาของตนเอง หันมาดูแลลูกและแสวงหาวิธีการรักษาโรคออทิสติก
แต่เมื่อ 9 ปีก่อน จีนมีองค์การสำหรับเด็กออทิสติกจำนวนน้อยมาก นางตู้ เจียเหมยพาลูกสาวไปองค์กรรักษาทุกแห่งเท่าที่หาได้ แต่ไม่ได้ผลที่น่าพอใจ บังเอิญมีเพื่อนแนะนำให้เข้าร่วมการฝึกอบรมแบบ เอบีเอ(ABA) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากนั้น เธอก็กลับบ้านฝึกอบรมลูกสาวด้วยตนเอง และแสวงหาข้อมูลและหนังสือที่เกี่ยวข้องทั้งจากจีนและต่างประเทศ เมื่อผ่านการฝึกอบรมเอบีเอแบบสองต่อสองวันละ 4-6 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง เธอได้เห็นลูกสาวมีการพัฒนาหน้าอย่างเห็นได้ชัด คือซวนซวนสามารถตอบคำถามของครูอนุบาลได้ เวลาคุยกับคนอื่นสามารถมองเห็นคนที่กำลังพูดอยู่ได้ ข่าวดีๆ เหล่านี้ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กออทิสติกจำนวนมากมองเห็นความหวัง และพากันมาปรึกษาเรื่องการศึกษาของเด็กออทิสติกกับเธอ
ศูนย์ฝึกอบรมเด็กออทิสติก
นางตู้ เจียเหมยเล่าว่า แม้ว่าซวนซวนของดิฉันมีความก้าวหน้ามาก เรียกคุณแม่เป็นแล้ว ทำตามคำสั่งง่ายๆ ของดิฉันได้แล้ว ทำให้ดิฉันดีใจอย่างยิ่ง แต่ยังต้องใช้ความพยายามมากขึ้นต่อๆไป และยังมีเด็กออทิสติกอีกมากมายไม่เห็นผลคืบหน้าใดๆ เธอจึงคิดว่าควรแพร่หลายวิธีการรักษาและฝึกอบรมของตนให้พ่อแม่คนอื่นได้ทราบ เพื่อช่วยเด็กออทิสติกอื่นๆ ให้มีอาการดีขึ้น
ดังนั้น เมื่อปี 2011 นางตู้ เจียเหมยจึงจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเด็กออทิสติก ขึ้นชื่อว่า "ซิงซีหวั้ง" หรือแปลว่า ความหวังแห่งดวงดาว แต่เนื่องจากไม่มีครูทางวิชาการ เธอจึงฝึกอบรมครูด้วยตนเอง ถ่ายทอดประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายปีให้แก่ครูใหม่ เธอบอกว่า การอบรมครูใหม่คนหนึ่งต้องใช้เวลา 2 เดือน และเมื่อครูรู้วิธีการเรียนการสอนแล้ว ยังต้องเข้าสอบด้วย เมื่อผ่านการสอบแล้วถึงจะมีสิทธิเป็นครูฝึกอบรมเด็กออทิสติกได้
ในชั้นฝึกอบรม เด็กทุกคนต้องมีพ่อแม่เป็นเพื่อน นางตู้ เจียเหมยไม่เพียงแต่จะสอนเด็กอย่างอดทนและเอาจริงเอาจังเท่านั้น หากยังบอกบรรดาพ่อแม่ว่าจะฝึกอบรมลูกอย่างไร เธอบอกว่า พ่อแม่เป็นครูที่ดีที่สุดของลูก และการฝึกอบรมและรักษาเด็กออทิสติกต้องเสียเงินคนละประมาณ 100,000 หยวนต่อปี ถ้าพ่อแม่สามารถฝึกอบรมลูกด้วยตนเองได้ ก็จะสามารถประหยัดเงินจำนวนไม่น้อย ถึงแม้ว่าทำเช่นนี้อาจทำให้เธอมีรายได้น้อยลง จนต้องขายบ้านเพื่อให้ศูนย์ฝึกอบรมดำเนินงานเป็นปกติ แต่เธอไม่ได้ว่าอะไร ปัจจุบัน ซวนซวน ลูกสาวเธอกำลังเข้าเรียนในโรงเรียนประถมเหมือนเด็กธรรมดา เธอบอกว่านี่เป็นกำลังใจที่ทำให้เธอต้องยืนหยัดทำต่อไป
ภาพวาดของเด็กออทิสติก
ส่วนนายหวัง สวยกาง ครูสอนเด็กออทิสติก เคยเป็นครูการศึกษาพิเศษ เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมสังคมในช่วงศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 2 เขาพบเด็กชาย 3 ขวบหนึ่งคน ตาโตๆ น่ารักมาก แต่เมื่อเขาไปยืนอยู่ตรงเด็กชาย กลับพบว่าตนเองเหมือนเป็นอากาศ เพราะเด็กชายมองเขาเหมือนไม่ได้เห็นอะไรเลย ไม่ว่าเขายั่วหรือล่อให้เด็กหัวเราะอย่างไร เด็กชายก็เฉยตลอดเวลา เรื่องนี้ทำให้เขาตั้งใจทำงานด้านนี้ ถึงมหาวิทยาลัยปีที่ 3 เขาเลือกวิชาเรียนจิตวิทยาเด็กพิเศษ จึงทราบว่า การสอนเด็กออทิสติกต้องใช้วิธีการศึกษาพิเศษ เพราะว่าสำหรับเด็กปัญญาอ่อน เมื่อครูสอนซ้ำ 10 - 20 ครั้ง เด็กก็จะจำได้บ้าง แต่สำหรับเด็กออทิสติก ต้องสอนซ้ำเป็นร้อยๆ ครั้งจนกว่าเด็กจะจำท่าทางง่ายๆ ท่าเดียวได้ ปัจจุบัน นายหวังทำงานในศูนย์ช่วยเหลือครอบครัวที่มีเด็กออทิสติกที่กรุงปักกิ่ง สอนวิชาคอมพิวเตอร์ เพื่อฝึกอบรมวิชาชีพให้กับเด็กด้วย
นายหวังบอกว่า แม้ในระหว่างการทำงาน เคยถูกเข้าใจผิด จนกระทั่งถูกทำร้ายร่างกายก็ตาม แต่เขารู้สึกว่า เด็กออทิสติกก็มีใจรักด้วย มีครั้งหนึ่ง หลังเลิกเรียนฝนตกอย่างกระทันหัน เขากับเพื่อนร่วมงานกำลังจะเลิกงานกลับบ้าน แต่กลับถูกนักเรียนออทิสติกคนหนึ่งปิดประตูไว้ ไม่ให้พวกเขาออกไป ในขณะที่ทุกคนไม่ทราบว่าจะทำอะไรนั้น เด็กคนนี้ก็ได้เอาร่ม 2 คันมาให้พวกเขา ทำให้พวกเขาแทบจะร้องไห้ รู้สึกความพยายามของตนมีคุณค่ามาก