เมื่อกล่าวถึงความสุขในชีวิต การแต่งงานมีครอบครัวคงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่อาจขาดได้เรื่องหนึ่ง สำหรับผู้คนส่วนใหญ่ของจีน การแต่งงานเป็นเรื่องที่จำเป็นและถูกมองว่าเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของความสุขในชีวิต แต่ปีหลังๆนี้ มีสถิติระบุว่า อัตราการหย่าร้างของจีนเพิ่มสูงขึ้น 7 ปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
ผู้ที่หย่าร้างส่วนใหญ่อยู่ช่วงอายุ 22-35 ปี ส่วนพื้นที่ที่มีผู้หย่าร้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นส่วนใหญ่เป็นเขตที่มีสภาพเศรษฐกิจค่อนข้างดี โดยเฉพาะเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองกว่างตง เทียนสิน และมณฑลต่างๆทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เจียงซู เจ้อเจียง และฮกเกี้ยน เป็นต้น ตัวเลขที่น่าตกใจคือ ปัจจุบัน อัตราการหย่าร้างที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ได้เกิน 1 ใน 3 แล้ว
สภาพเช่นนี้คงเป็นเรื่องที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่อยากมองเห็น การสร้างครอบครัวเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ต้องเสียสละและใช้ความพยายามมากมาย จึงไม่มีใครหวังจะหย่ากันขณะที่ไม่ได้เกิดปัญหาร้ายแรง หากเกิดการหย่าร้าง คนในครอบครัวทุกคนก็ย่อมจะถูกกระทบโดยเฉพาะลูกหลาน
กรุงปักกิ่งเคยทำการสำรวจทางจิตใจต่อนักเรียนมัธยมในโรงเรียน 70 แห่งจำนวน 5,000 คน ผลการสำรวจปรากฏว่า มีนักเรียนอย่างน้อย 20% มีปัญหาทางจิตในระดับต่างๆ ซึ่ง 65% มาจากครอบครัวที่หย่าร้าง การทะเลาะกันบ่อยหรือการหย่าร้างของพ่อแม่ล้วนได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้ที่ถูกกระทบอย่างหนักอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายหญิง ทางการปักกิ่งเคยทำการสำรวจต่อคู่ที่หย่าร้างในอายุกว่า 35 ปีจำนวน 100 คู่เป็นระยะ 5 ปี ครอบครัวที่หย่าร้างเหล่านี้มีลูก 1-2 คน ขณะที่หย่ากัน ผู้เป็นลูก 85% ได้รับการพิพากษาว่าให้อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของฝ่ายหญิง ผู้เป็นมารดา หลังจากหย่ากันแล้ว ฝ่ายชายส่วนใหญ่ได้แต่งงานใหม่ ส่วนฝ่ายหญิงมีที่แต่งงานใหม่ไม่ถึง 15% โดยยังต้องทำงานไป เลี้ยงลูกไป ยังมีจำนวนหนึ่งตกอยู่ในภาวะยากจน ปัจจุบัน มีกลุ่มด้อยโอกาสอีกกลุ่มหนึ่งปรากฏขึ้นในเมือง นั่นก็คือ แม่หย่าร้างที่ยากจน
เมื่อกล่าวถึงขณะนี้ คุณคงจะคิดว่า ผู้ชายส่วนใหญ่เป็นฝ่ายที่ไม่ได้ถูกกระทบหรืออาจได้รับผลประโยชน์จากการหย่าร้างเพียงฝ่ายเดียว แต่ความจริงไม่ใช่นัก ผลการสำรวจต่อผู้หย่าร้างจำนวน 5,000 คนปรากฏว่า มี 2 ใน 3 ของผู้ชายที่หย่าร้างแสดงความเสียใจต่อการหย่าร้าง โดยคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดในชีวิตของตน เพราะได้สูญเสียทั้งความรู้สึกและสินทรัพย์ไปมากมายแล้ว แต่ชีวิตภายหลังก็ไม่ได้ดีกว่าช่วงอดีต เราจึงสรุปได้ว่า ในการหย่าร้าง ไม่มีฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะ
แต่ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งแสดงการสนับสนุนต่อการหย่าร้าง โดยเห็นว่า ความหมายของการหย่าร้างคือ ให้โอกาสใหม่แก่ผู้คนที่หวังจะได้รับความสุขอีก พิจารณาในมุมสุขภาพและความมั่งคงของครอบครัว หากความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยาไม่ดี ลูกหลานก็ไม่อาจมีชีวิตสุขสบายได้ หากพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย จะเป็นผลร้ายทางจิตใจต่อลูกๆอย่างหนักแน่นอน