มีผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่า มีเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนไม่น้อยมาจากครอบครัวที่เกิดความรุนแรงอย่างหนัก เพราะเยาวชนเหล่านี้มองเห็นตั้งแต่เด็กว่า พ่อแม่จัดการปัญหาด้วยความรุนแรงบ่อยๆ จึงเกิดการฝังใจว่า การใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีและรวดเร็วที่สุดในโลก
นายหลี่ อิ๋นเหอ นักวิจัยสภาวิทยาศาสตร์ทางสังคมแห่งชาติจีนเห็นว่า ในสังคมสมัยปัจจุบัน ความรักระหว่างสามีกับภรรยามีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ความต้องการของผู้คนในครอบครัวก็มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากการสร้างครอบครัวปัจจุบันไม่สามารถสอดคล้องกับความต้องการของผู้คนแล้ว การหย่าร้างก็อาจไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายนัก
ปัจจุบัน มีผู้สนับสนุนการหย่าร้างจำนวนไม่น้อยจริงๆ ไม่น่าแปลกใจที่อัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่วนสาเหตุสำคัญคงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของแนวคิด ในสมัยปัจจุบัน กระแสปัจเจกนิยมได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้นนั้นได้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวจีนในสมัยปัจจุบันพยายามแสวงหาชีวิตที่มีความอิสระและมีคุณภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่สังคมพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แนวคิดของผู้คนโดยเฉพาะหนุ่มสาวจีนไม่เหมือนในอดีตแล้ว สมัยก่อน ชาวจีนมองการหย่าร้างเป็นความอัปยศที่ไม่ควรเปิดเผยต่อภายนอก โดยเฉพาะผู้หญิงที่หย่าร้าง จะถูกดูหมิ่นตลอดชีวิต ดังนั้น แม้จะไม่พอใจกับอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะพยายามอดทนต่อไปเพื่อรักษาความมั่นคงของครอบครัว
แต่หนุ่มสาวบางคนในสมัยปัจจุบันจะไม่เหมือนกัน ก่อนที่แต่งงานกัน เมื่อพบข้อบกพร่องหรือความเคยชินของแฟนที่ตัวเองรับไม่ได้ก็ไม่สนใจเท่าไร โดยเห็นว่าแต่งงานแล้วอาจเปลี่ยนได้ แต่ถ้าแต่งงานแล้วยังไม่เปลี่ยน ก็จะไม่อดทนต่อ และเลือกการหย่าร้างเป็นทางออก สมัยปัจจุบัน สิ่งที่แตกต่างกับช่วงอดีตอย่างเด่นชัดคือ เราพบได้ว่า มีฝ่ายหญิงที่เรียกร้องให้หย่ากันเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่ค่อยมีในสมัยก่อน
อีกด้านหนึ่ง ขณะที่เศรษฐกิจและสังคมพัฒนาไป บทบาทและอิทธิพลของครอบครัวก็เกิดการเปลี่ยนแปลง สำหรับชาวจีนในสังคมสมัยก่อน ครอบครัวนับเป็นหน่วยสารพัดประโยชน์ที่สมบูรณ์แบบ จะมีฟังก์ชั่นต่างๆ รวมทั้งด้านการสั่งสอน การเรียนรู้ การทำงาน การหาเงินและด้านศาสนา เป็นต้น แต่ในสังคมปัจจุบัน ฟังก์ชั่นเหล่านี้ของครอบครัวส่วนใหญ่ถูกองค์การทางสังคมต่างๆทดแทน จนทำให้บางคนเห็นว่า ครอบครัวเพียงแต่เป็นที่กินแล้วนอนเท่านั้น
ในแนวคิดของชาวจีน ครอบครัวไม่สำคัญเท่าสมัยก่อนแล้ว แม้เป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังยึดถือประเพณีที่สืบทอดกันมามากที่สุด ก็เกิดการแต่งงานเร็ว และหย่าร้างเร็วขึ้น บวกกับหนุ่มสาวชาวจีนในสมัยนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกคนเดียว ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาสลับซับซ้อนในการแบ่งทรัพย์สินและการเลี้ยงลูก จึงมีสิ่งที่น่ากังวลน้อยในการหย่าร้าง การตัดสินใจง่ายกว่าทำให้ผู้หย่าร้างเพิ่มมากขึ้นแน่นอน
อันที่จริง ประเทศที่เกิดปัญหาวิกฤตครอบครัวอย่างหนักไม่ใช่เพียงประเทศจีนประเทศเดียว ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ประเทศตะวันตกก็เคยเกิดกระแสการหย่าร้างหลายรอบแล้ว ปีหลังๆนี้ กระแสเช่นนี้แพร่ระบาดถึงประเทศในเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่กำลังมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของโลกคงกำลังจะบอกเราว่า ประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนา ครอบครัวในฐานะเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม ก็ย่อมจะถูกกระทบโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้