อินทนิล อินไชน่า : อาหารสื่อวัฒนธรรมจีน-อาเซียน
  2013-12-23 18:20:15  cri

ค่ำวันที่ 18 ธันวาคม 2556 มีการจัดงานฉลองครบรอบ 2 ปี ศูนย์จีน-อาเซียน ที่โรงแรมโฟร์ซีซัน กรุงปักกิ่ง วันนั้นดิฉันและคณะจากซีอาร์ไอซึ่งนำโดยรองผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินทางถึงสถานที่จัดงานตั้งแต่ไก่โห่จึงมีโอกาสเดินสำรวจตรวจตราสถานที่จัดงานและรูปแบบการตกแต่งสถานที่ ดูแล้วนึกชมคนวางแนวคิดในการจัดงานเขาช่างผสมผสานความเป็นจีนและอาเซียนโดยผ่านอาหารการกินและสิ่งที่นำมาตกแต่งอย่างข่า ตะไคร้ และใบตองได้เป็นอย่างดี แม้อาหารส่วนใหญ่จะเป็นอาหารอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็ตาม

ถ้าอยู่บ้านเราข่า ตะไคร้ ใบตอง คงเป็นของธรรมดา ๆ มาก เห็นอยู่กลาดเกลื่อน แต่สำหรับที่ปักกิ่งทั้งสามสิ่งแปลกใหม่ ลองถามเพื่อนคนจีนที่ไปงานด้วยกันพวกเขาไม่รู้จัก เพราะเมืองทางเหนือของจีนไม่มีพืชเหล่านี้ อาหารการกินในงานซึ่งจัดเป็นปุฟเฟ่ต์รูปตัวแอลถูกตั้งไว้ทางฝั่งซ้ายและขวาสุดของห้อง มีตะไคร้(ภาษาจีนคือเซียงเหมา)ทั้งต้นวางอยู่ในแจกัน ขณะที่ข่าหัวโตทั้งข่าแดงและข่าขาว วางอยู่ไม่ห่างจากตะไคร้ รายล้อมด้วยอาหารอาเซียนและจีน ส่วนใบตองเขาก็นำมาตกแต่งถาดผลไม้ดูแล้วเก๋มีเสน่ห์ขึ้นมาทันใด

ใบตอง ข่า ตะไคร้ถือเป็นตัวแทนอาเซียน แม้ทางภาคใต้ของจีนจะพอมีพืชพวกนี้อยู่บ้างแต่คนจีนส่วนยังไม่รู้จัก เมื่อคราวไปเที่ยวตลาดซานหยวนหลี่ ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นศูนย์รวมอาหาร เครื่องปรุงจากอาเซี่ยนและยุโรป ดิฉันได้แนะนำให้เพื่อนคนจีนทำน้ำตะไคร้ให้คุณตาของเธอรับประทาน เพราะเธอบ่นให้ฟังว่าคุณตาของเธอเป็นขัดเบา ตอนนั้นกลุ่มคณะที่ไปด้วยกันซึ่งล้วนเป็นคนจีนเกือบ 10 คน ไม่มีใครรู้จักตะไคร้เลย แต่นับจากนั้นมาพวกเขารู้จักตะไคร้และสรรพคุณของตะไคร้เป็นอย่างดี ตะไคร้ที่ตลาดซานหยวนหลี่ ต้นละ 1-2 หยวน พอฟาร่าห์เพื่อนชาวมาเลเซียรู้ราคาเธอบอกว่าแพงมากเพราะที่มาเลย์เขาปลูกตะไคร้กันโดยทั่วไป ราคาจึงถูกและคนมาเลย์ก็นำตะไคร้ไปเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารหลากหลายชนิด พอ ๆ กับคนไทย

ความที่ชอบใจการตกแต่งสถานที่ที่ดูเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความหมายดิฉันก็เลยเพลินกับการถ่ายรูปอาหารการกิน จนเพื่อนคนจีนถามว่าหิวหรือเปล่า ก็เลยบอกเขาว่าไม่หิวแต่อิ่มใจเจอใบตอง เจอข่า เจอตะไคร้ มันอิ่มใจคิดถึงบ้าน

แล้วช่วงสำคัญของงานก็มาถึง นายหลิว เจิ้นหมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ขึ้นไปกล่าวบนเวทีว่าปีนี้ครบรอบ 10 ปีของความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-อาเซียน ช่วง 10 ปีนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประสบความสำเร็จมากมาย ไม่เพียงมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งฝ่ายจีนและอาเซียนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคด้วย ขณะที่นายหม่า หมิงเฉียง เลขาธิการศูนย์จีน-อาเซียน กล่าวว่า ผู้นำจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนหลาย ๆ ท่านได้เดินทางมาเยี่ยมศูนย์ฯ สะท้อนว่าทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสำคัญกับบทบาทและให้การสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ฯอย่างเต็มที่ ศูนย์จีน-อาเซียนทำหน้าที่ส่งเสริมความเข้าใจ ความเชื่อถือ ความเป็นมิตรและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างกัน ในปีนี้ มีการจัดกิจกรรมและร่วมกิจกรรมกว่า 100 ครั้งทั้งด้านการค้า การลงทุน การศึกษา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ มีการตั้งศูนย์การค้าผลิตภัณฑ์จีน-อาเซียนขึ้นที่อี้อู มณทลเจ้อเจียง มีการรับสินค้าจาก 9 ประเทศอาเซียนมาจำหน่าย นอกจากนี้ ศูนย์จีน-อาเซียนยังมีกำหนดตั้งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน-อาเซียนขึ้นที่มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ในวันที่ 18 ธันวาคม นี้

ย้อนไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 ในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน ครั้งที่ 14 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโอกาสครอบรอบ 20 ปีความสัมพันธ์คู่เจรจาระหว่างจีนกับอาเซียน ได้มีการประกาศจัดตั้งศูนย์จีน – อาเซียน นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้น กล่าวว่าประเทศอาเซียนและจีนควรสนับสนุนศูนย์จีน-อาเซียนเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งบรรดาผู้นำประเทศอาเซียนล้วนเห็นด้วยที่จะให้ศูนย์แห่งนี้แสดงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษาและวัฒนธรรม ต่อมาในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน ครั้งที่ 16 ที่กรุงบันดาเสรีเบกาวัน บรูไน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ปีนี้(2556) นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเสนอให้จีนและอาเซียนใช้มาตรการมากขึ้นเพื่อผลักดันการค้าทั้งการค้าสินค้าและการค้าบริการตลอดจนความร่วมมือด้านการลงทุน การเชื่อมโยงการคมนาคม เพื่อให้การเดินทางการขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว

จีนกับอาเซียนได้กำหนดให้ปี 2557 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน ปีหน้าจึงน่าจะเป็นปีที่เราได้เห็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองฝ่ายโดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลายอันจะทำให้เราได้เรียนรู้และทำความรู้จักกันและกันให้มากยิ่งขึ้น สำหรับดิฉันอาหารการกินถือเป็นสื่อวัฒนธรรมชั้นดีที่จะทำให้เราคุ้นเคยกันมากยิ่งขึ้น เราถ่ายทอดอาหารของเราให้เขารู้จักและลิ้มชิมรส ขณะที่เขาก็ถ่ายทอดอาหารของเขาให้เราได้รู้จักเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญา เป็นการสร้างความคุ้นเคย เป็นการทำให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้นและสนิทแน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย ยิ่งปัจจัยด้านการคมนาคมระหว่างจีนกับอาเซียนที่นับวันยิ่งสะดวกสบายก็ยิ่งทำให้เราได้รับประทานอาหารที่มีความสดใหม่มากยิ่งขึ้น กลางเดือนที่ผ่านมามีการเปิดขบวนรถไฟด่วนพิเศษจากไป่เซ่อ กวางสีมายังกรุงปักกิ่ง ขาขึ้นเพื่อขนส่งผลไม้จากอาเซียนมายังเมืองทางเหนือของจีนและขาล่องเพื่อขนส่งผลไม้จากเมืองทางเหนือของจีนไปขายยังอาเซียน สัปดาห์ที่แล้วสำนักงานควบคุม ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติจีนอนุมัติให้นครฉงชิ่งเป็นด่านนำเข้าผลไม้ทั้งทางท่าอากาศยานเจี่ยงเป่ยและท่าเรือชุ่นทาน โดยน่าจะเริ่มมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และมิถุนายนปีหน้าเป็นต้นไป เหล่านี้น่าจะเป็นสะพานเชื่อมวัฒนธรรมอาหารการกินระหว่างกันไปในตัวด้วย และถ้าจะสังเกตให้ดีตอนนี้มีอาหารจีนและอาหารจากประเทศอาเซียนไปขายในเมืองไทยเยอะ ขณะที่อาหารการกินจากประเทศอาเซียนก็มีขายในจีนเยอะขึ้นด้วยเช่นกัน หากความสุขของท่านคือการสรรหาอาหารที่แปลกใหม่มารับประทานแล้ว เชื่อว่าท่านจะมีความสุขทุกมื้อค่ะ.

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040