อินทนิล อินไชน่า : ถึงสูงวัยก็เป็นนางฟ้าได้
  2014-02-10 17:42:11  cri

ถึงสูงวัยก็เป็นนางฟ้าได้ ชื่อเรืองข้างต้นเป็นของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย แล้วเขียนเรียงความถึงครูต่างประเทศคนหนึ่ง ในหัวข้อ "My Favourite Foreign Teacher" ทั้งสี่เรื่องเขียนถึงครูคนเดียวกัน แต่ตั้งชื่อต่าง ๆ กัน ได้แก่ อาจารย์คือเพลงที่ไร้เนื้อเพลง เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใจ ผู้สูงวัยที่เหมือนเด็กขี้เล่นของเรา และถึงสูงวัยก็เป็นนางฟ้าได้ เพื่อเล่าว่าตัวเธอและพวกเธอทั้งห้องรู้สึกนึกคิดต่อครูคนนี้อย่างไร ทำไม และได้อะไรจากการสอนของครู ตลอดจนน้ำใจของครูที่มีต่อพวกเธอทุกคน ที่ใช้คำว่าเธอ ก็เพราะนักเรียนชั้นนี้มีสาว 13 คน กับหนุ่ม 3 คน นี่เป็นครั้งแรกที่อัตราส่วนระหว่างชายหญิง มีหญิงมากที่สุดและชายน้อยที่สุด นักศึกษา 9 รุ่นที่ผ่านมามักมีจำนวนนักศึกษาชายมากกว่านักศึกษาหญิง อย่างรุ่นแรกที่สอนมี 9 คน เป็นนักศึกษาชาย 7 คน หญิง 2 คน และที่จบไปสองปีที่แล้วมีชาย 11 คน หญิง 5 คน รุ่นนี้อัตราส่วนผกผันมาก

ปีการศึกษานี้มีกิจกรรมแปลกใหม่ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศฯได้บอกเล่าให้เราฟังเมื่อวันนัดพบและแนะนำตัวอาจารย์ใหม่ตอนต้นเทอม กิจกรรมนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ เมื่อก่อนเราจะรู้จักกันเพราะสอนคณะเดียวกันบ้าง เป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกันบ้างและเมื่อไปเที่ยวด้วยกันตามที่ฝ่ายวิเทศฯจัดบ้าง ส่วนเพื่อนชาวยุโรปและอเมริกันก็จัดงานปาร์ตี้กันเทอมละ 2 – 3 ครั้ง ชาวเอเชียส่วนใหญ่ก็มักมีกิจกรรมหรือหน้าที่ต้องทำ ประกอบกับบางคนเช่นครูไทยมีจุดอ่อนตรงภาษาต่างประเทศไม่แข็งแรง เต้นรำไม่ค่อยเป็น ฯลฯ ก็เลยไม่ค่อยได้ร่วมรายการ ทีนี้กิจกรรมใหม่เอี่ยมที่ว่าก็คือเขาจะคัดเลือกครูดีเด่นจากเสียงของนักศึกษา แล้วจะได้รางวัลตอนงานเลี้ยงปีใหม่ในช่วงหลังคริสต์มาสหรือก่อนปีใหม่เล็กน้อย

เราฟังแล้วก็ไม่ค่อยได้ใส่ใจ เพราะถ้าใช้เสียงหรือความเห็นของนักศึกษา ครูที่สอนภาษาอังกฤษก็ควรกินขาด เพราะเขาสอนเด็กเป็นร้อย ๆ คน ถ้าถือเสียงเพื่อนอาจารย์กลุ่มยุโรปที่รวมตัวกันหนาแน่นก็ควรจะได้รางวัลไป ครูในสถาบันเอเชีย - แอฟริกา แม้จะสอนภาษามากที่สุดแต่เป็นกลุ่มภาษาเล็ก บางภาษามีห้องเดียวคือสอนกันตั้งแต่ปีหนึ่งจนจบแล้วค่อยรับรุ่นใหม่ บางภาษามีสองห้องคือรับปีเว้นปี มีภาษาเกาหลีใต้ภาษาเดียวที่มีทุกชั้นปี ต่อมาจึงทราบจากพี่เลี้ยงที่ว่าตามฐานะที่เธอมีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือเราเกือบทุกอย่าง แต่ถ้าจะว่าตามความสัมพันธ์ละก็เธอเป็นลูกศิษย์เรา ขณะนี้มีฐานะเป็นเพื่อนอาจารย์ และเราก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของเธอกลาย ๆ เรียกได้ว่าถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เพียงแต่เราเป็นฝ่ายอาศัยเธอมากกว่า เธอบอกว่าปีนี้กรมผู้เชี่ยวชาญฯแห่งประเทศจัดรายการประกวดบทความจากนักศึกษาทั่วประเทศเรื่องครูชาวต่างประเทศที่ข้าพเจ้าชื่นชอบ แล้วนี่เองจะเป็นผลพลอยได้ให้มหาวิทยาลัยในฐานะด่านแรกพลอยมีตัวบ่งชี้เพื่อคัดสรรอาจารย์ด้วย

ต่อมาคืนหนึ่งนักศึกษาที่มาฝึกภาษาที่บ้านครู เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ครูทำเป็นประจำกับนักศึษาชั้นปีที่ 1 ว่าที่จริงตั้งแต่เริ่มทำกับเด็กปีที่ 1 กลุ่มแรกหัวหน้าภาคก็บอกแล้วว่าการฝึกหัดเด็กนอกเวลาทางมหาวิทยาลัยและภาควิชาไม่ถือว่าเป็นภาระงานนะ เราก็ตอบว่าไม่เป็นไร เขาไม่ถือว่าเป็นการสอนโดยพลการก็ดีเท่าไหร่แล้ว อันที่จริงก็ไม่ได้เสียสละอะไรนักหนา เพียงแต่หลักสูตรที่ให้เราสอนการพูดสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง แล้วจะทำให้เด็กพูดชัดในระยะแรกนั้นเป็นการเหลือวิสัยของครูธรรมดาอย่างเรา และถ้าสอนไม่ได้ก็เสียชื่อเราผู้เป็นครูภาษาไทยดีเด่นระดับอุดมศึกษาอยู่ดี เราก็เลยแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มละ 3 – 4 – 5 คน มาบ้านครูตั้งแต่ทุ่มครึ่งถึงสามทุ่มโดยประมาณ แต่ตามที่มีประสบการณ์เด็กปี 1 เป็นเด็กขยันเรียนที่สุดในบรรดาเด็ก 4 ปี ทั้งขยันและงกเรียนไม่ยอมน้อยหน้ากัน เพราะฉะนั้นแม้ครูจะบอกว่าวันนี้พอเท่านี้(คือสามทุ่มแล้ว) เด็กก็จะยกมือสลอนคือมีปัญหาของถามทั้งที่สงสัยเอง ทั้งที่เป็นการบ้านของครูคนอื่น ฉะนั้นส่วนใหญ่จึงถึงสามทุ่มครึ่งหรือบางทีก็สี่ทุ่ม ทำให้ครูไม่มีวันจะหงอยเหงาเป็นอันขาด

ย่อหน้าที่แล้วขึ้นต้นว่าต่อมาคืนหนึ่ง แต่มัวเล่าเรื่องนักศึกษามาเรียนหรือฝึกพูด ฝึกออกเสียงสระสั้น - ยาว พยัญชนะที่เสียงไม่เหมือนจีน วรรณยุกต์ที่บางเสียงต่างจากจีน คำ ภาษาอื่น ๆ คำเข้าประโยค ฯลฯ นี่ก็ขยายความเรื่องฝึกภาษาไทยอีกแล้วซิ ต้องซ้ำเป็นรอบที่สามว่า คืนวันนั้นนักศึกษาคนหนึ่งหอบกล้องนัยว่าเป็นกล้องวีดีโอมาด้วยบบอกครูว่าจะขออนุญาตถ่ายภาพ ครูก็อนุญาต ยังนึกชมตัวเองว่าวันนั้นแต่งตัวเรียบร้อยพอเข้ากล้องได้ เรื่องหน้าตานั้นช่างเถอะถือว่าบุญทำกรรมแต่ง ยังไม่เคยมีวัยไหนที่ดูดี แล้วพอเด็กปีหนึ่งชมว่าครูน่ารักยิ่งทำให้กลุ้มใจหนัก เพราะนึกไม่ออกว่าคนแก่น่ารักได้อย่างไร

วันรุ่งขึ้นเข้าสอนตั้งแต่สองโมง หัวหน้าห้องก็มาขอถ่ายรูปการเรียนการสอน จะเอาไปประกอบเรื่อง(อีกแล้ว) เคราะห์ดีที่วันนี้เป็นกิจกรรมของเด็ก คือเขาจะเริ่มเล่าเรื่องประมาณ 7 – 8 ประโยค เรื่องนี้เขาลองเขียนมาและครูแก้ให้แล้ว ฝึกพูดคำใหม่แล้ว ครูก็ไปยืนฟังหลังห้องบ้าง ข้าง ๆ บ้าง เรื่องของแต่ละคนบางทีเพื่อนไม่รู้ ทีแรกครูก็ช่วยอธิบาย(เป็นภาษาอังกฤษ) เพื่อให้เพื่อนเข้าใจ ตอนหลังคนเล่าก็เลยแปลเป็นภาษาจีนเสียเอง น่าจะเป็นครั้งแรกที่ชั้นปีที่ 1 เรียนรู้เรื่องการแปลโดยอัตโนมัติ แล้วทุกคนก็สนุกสนานกับทั้งเรื่องของตนเองและเพื่อน ก็เล่าคนละ 2 – 3 นาที จบแล้วครูก็สอนต่อ อธิบายเรื่องแต่งประโยคต้องมีเหตุและผล แต่ประโยคหลายความใช้คำเชื่อม ฯลฯ ประโยคคำถาม แล้วลงท้ายด้วยการถ่ายรูปหมู่ โดยวานนักศึกษาปริญญาโทที่จะมาใช้ห้องเรียนต่อเป็นช่างภาพ

เสร็จจากเรื่องพวกนี้แล้ว พี่เลี้ยงผู้แสนดีก็มาสัมภาษณ์เพื่อจะกรอกข้อความส่ง ที่เรียกพี่เลี้ยงผู้แสนดีก็เพราะเรามารู้ที่หลังด้วยความที่ไม่รู้ภาษาจีน แล้วเธอก็ไม่ได้บอกเล่าอะไรมากนัก ก็คือ เธอเก็บรวบรวมบทความ เรื่องของเรา ข่าวของเรา ผลสำเร็จ รางวัลที่ได้รับ ฯลฯ อะไรต่ออะไรมากมายเรียบเรียงประกอบ เก็บรูปถ่ายในกิจกรรมสอนคณะตำรวจ ทหาร รูปไปทัศนศึกษาสวนพฤกษศาสตร์กับนักศึกษา ฯลฯ รวมทั้งเรียงความของเด็กทั้งปีที่หนึ่งและสาม ประมวลทั้งหมดแล้วเสนอขึ้นไป

ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคมเป็นวันเลี้ยงผู้เชี่ยวชาญและมีคณะผู้บริหารด้วย บัตรเชิญบอกว่าเลี้ยงที่โรงอาหารชั้น 2 เพราะจัดในสถานที่การเดินทางก็สะดวก ข้อสำคัญน่าจะบอกว่าการจัดสถานที่นั้นงามราวกับภัตตาคารใหญ่ ถ้าไม่บอกจะไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นโรงอาาหาร เพราะใช้ฉากสวย น่าจะมีบทกวีหรือคำอะไรที่สำคัญกั้นทางเดินและกั้นห้องพื้นมีพรมสวยสีครามปู อาหารอร่อยทั้งที่เป็นพ่อครัวเป่ยว่ายนี่เอง รายการก็น่ารัก มีการแสดงและร้องเพลงของนักศึกษารวมทั้งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคน มาดและเสียงไม่แพ้นักร้องอาชีพเลย

ครูไทยกับครูอินโดนีเซียได้รับเกียรติให้นั่งร่วมโต๊ะกับผู้บริหาร ครูไทยไม่สงสัยน่าจะเกิดจากความอาวุโส เมื่อปีกลายก็ได้นั่งอย่างนี้แหละรวมทั้งครูอินโดนีเซียกับครูตุรกี เราสามคนอยู่สถาบันเอเชีย – แอฟริกาด้วยกัน ครั้งหนึ่งครูตุรกีได้รางวัลมิตรภาพระดับนครปักกิ่ง ส่วนครูอินโดนีเซียได้รับเชิญไปพบท่านประธานาธิบดีคนใหม่มาสด ๆ ร้อน ๆ แล้วตอนนี้ภาคอินโดรับงานแปลเป็นภาษาอินโดหมายถึงงานเชิญท่านประธานาธิบดีไปเยือนหรืออะไรทำนองนั้น และคืนนั้นจะเป็นผู้กล่าวในนามผู้เชี่ยวชาญด้วย ส่วนครูไทยก็รับรางวัลมิตรภาพระดับประเทศมาหลายปีดีดักแล้วตั้งแต่ปี 2005 เมื่อหลายปีก่อนเขาจึงมาให้กล่าวในนามผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด ข้อสำคัญบอก 10 โมงจะให้พูดประมาณ 5 โมงเย็น ข้อกระทันหันทำให้ต้องเอาลูกศิษย์ที่เก่งภาษาอังกฤษไปเป็นล่าม เราพูดไทยลูกศิษย์แปลเป็นอังกฤษ ซักซ้อมกันไว้ก็เลยราบรื่นดี ก่อนหน้าได้รางวัลก็ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญดีเด่นหนึ่งในห้าของมหาวิทยาลัย ตอนนั้นประดักประเดิดกว่านี้เพราะพูดไทย หัวหน้าภาคแปลเป็นจีน รอง ผอ.วิเทศฯแปลเป็นอังกฤษ เพราะห้าคนนั้นมีญี่ปุ่น โรมาเนีย แล้วก็ฝรั่งอีกสองชาติกับไทย แถมหนึ่งในสองนั้นติดสอนเลยพบกันแค่สี่ มีญี่ปุ่นกับไทยเป็นหญิง อีกสองเป็นชาย

การได้ร่วมโต๊๊ะผู้บริหารและแขกจากข้างนอกนั้นเป็นเกียรติอย่างยิ่ง แต่ไม่เป็นอันกินหรอก ทุกคนนั่นแหละ เพราะต้องทักทายปราศรัยทั้งทางซ้าย ขวา ข้างหน้า ฯลฯ ฉะนั้น แม้โต๊ะจะติดเวทีก็ไม่เป็นอันฟังประกาศเท่าไร เริ่มต้นด้วยท่านรองเลขาธิการกรมผู้เชี่ยวชาญฯที่เคยพบกัน 2 – 3 ครั้งตั้งแต่ปีกลาย ท่านก็มาทักทายเราว่า "สวัสดีค่ะ" อย่างนี้แปลว่าท่านได้ยินเราขึ้นต้นและลงท้ายสุนทรพจน์ต่อท่านนายกรัฐมนตรคนก่อนเมื่อต้นปี นอกนั้นผู้นั่งซีกเดียวกันก็ถ้อยทีพูดคุยกัน ท่าน ผอ.ฝ่ายวิเทศฯของมหาวิทยาลัยทำหน้าที่พิธีกรเองเลย ท่านก็พูดถึงรางวัลผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ชื่นชอบยิ่งของลูกศิษย์ เริ่ม 5 คนที่โต๊ะอื่นเขารู้ว่าเป็นรางวัลที่ 3 ส่วนเรามัวแต่ดีใจที่อาจารย์เวียดนามเป็นคนแรก ต่อไปก็มีรายการอื่นคั่น แล้วก็เรียกรางวัลที่ 2 อีก 4 คนเริ่มด้วยอาจารย์อินโดนีเซีย ลงท้ายด้วยอาจารย์เกาหลี เท่านั้นก็ทำให้คณะพรรคเอเชีย – แอฟริกาตื่นเต้นพออยู่แล้ว แต่เพื่อนก็บอกว่า เขายังไม่ประกาศรางวัลที่ 1 นะ รางวัลที่ 1 มี 3 คน คือ ไทย เยอรมัน แล้วก็ยุโรปสโลวีเนีย ภาษาก็เป็นภาษาที่ 3 ด้วย เฮ้อ ตื่นเต้น

ท่านรองอธิการฝ่ายการศึกษาหรือวิชาการ ท่านชี้ว่าซองเล็กน่ะสำคัญ(กว่าเกียรติบัตรแผ่นใหญ่) เราก็อ่านไม่เห็นหรอก พรรคพวกมาอ่านแล้วบอกว่าได้รางวัลนะและหักภาษีเรียบร้อย เข้าบัญชีไว้ให้เมื่อวานแล้ว เมื่อได้ทั้งเกียรติบัตรและรางวัล ครูก็เลยอยากรู้ว่าลูกศิษย์เขียนอะไรหนอ เมื่อลูกศิษย์บอกจะปริ้นต์ออกมาให้และบอกว่าปี 3 ก็เขียน ครูจะอ่านได้หรือ เขาเขียนเป็นภาษาจีนนะ ครูก็ว่าเอาเถอะน่า ส่งมาก่อน เจอปี 3 ก็บอกให้ส่ง พอได้มาแล้วก็เป็นอย่างที่เด็กถามคืออ่านไม่ออก นอกจากที่เขียนชื่อภาษาอังกฤษอยู่สองคำ กับคำไทยว่า "ลูก" ทำให้ยิ่งอยากจะรู้เรื่องเหลือกำลัง แต่ไม่กล้าถามหรือใช้บริการนักศึกษาปีสามเพราะกำลังเตรียมสอบ เพื่อนอาจารย์ทั้งหลายก็ยุ่งเตรียมสอบรวมทั้งยังต้องสอนคณะตำรวจ ทหารผู้เข้าอบรม

วันหนึ่งเพื่อนระดับศาสตราจารย์มาหา เธอไม่สบายมากว่าสัปดาห์ได้รักษาทุกกรรมวิธีแล้วแต่กลางคืนจะมีไข้ต่ำ ๆ ฟังแล้วหมอ(เถื่อน) ก็อยากสรุปว่าอย่างนั้นคนไทยโบราณจะเรียกว่าเป็นไข้เส้น เพราะความเจ็บไข้มันทำให้ไม่สบายทั้งเนื้อตัว เราก็เลยเสนอว่าลองใช้บริการนวดไหม นี่หมอ(มือทอง)ของเพื่อน ๆ เชียวนะ เธอเองก็พอรู้ฝีมือมาก่อน พอทำหนแรกไข้ลดลงหน่อย หนสองก็เช่นกันคือไม่มีไข้แล้ว ทำหนสามอีกที เสร็จแล้วเธอก็เลยช่วยอ่านและแปลคร่าว ๆ ฉบับที่มีคำว่า " ลูก" เป็นของปีที่สาม แปลไปทั้งผู้แปลและผู้ฟังก็พากันหัวเราะเพราะเจ้าหนุ่มเขียนทั้งตามความรู้สึกตามความจริง และรวมความจริงหลายเรื่องที่เกิดคนละเวลามาใช้ด้วยกันราวกับแกงโฮะหรือจับฉ่ายหม้อโต ๆ สรุปว่าครูผู้สูงวัยนี่เป็นครูดี ทุ่มเวลาให้กับนักศึกษาเต็มที่ แต่ก็เข้มงวด จู้จี้ แม้จะรู้ว่าทำเพื่อพวกเราแต่บางทีเราก็เบื่อ ยิ่งเดี๋ยวนี้การบ้านมากตรวจแล้วให้เราดู บอกที่ผิด บอกวิธีแก้ไข แม้จะมีประโยชน์แต่ก็เคี่ยวเข็ญเราจริง ๆ ครูทำงานเสียจนต้องทิ้งครอบครัว ไม่ว่าสามีตายจนต้องไปจัดงานหรือบิดามารดาตาย ครูก็ยังเข้มแข็งและทำงานไปได้ดังเดิมตามแบบพุทธศาสนิกชนที่ปลงได้ เฮ้อ การเล่าเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้ลูกศิษย์จินตนาการเอาเองเสียจนครูเกือบ ๆ เป็นลูกอกตัญญู และภรรยาที่ละทิ้งสามีอย่างไรอยู่

ต่อมาอีกหลายวันศิษย์เก่าผู้กำลังเข้าอบรมและรู้เรื่องครูได้รางวัลจากการที่ศิษย์ปัจจุบันรู้เรื่องแล้วส่งต่อก็โทรมาหา ครูก็ปรารภเรื่องอยากรู้ว่าลูกศิษย์ปีหนึ่งเขียนอะไรบ้าง เธอก็เสนอตัวจะมาช่วยแปลให้ในวันหยุด จะให้เวลาครูสัก 3 – 4 ชั่วโมง ครูก็ยินดีรับบริการ เพราะกับหนุ่มคนนี้ครูต้องเปิดบริการหลังขายอย่างจริงจังติดต่อกันมาหลายปีแล้ว วานเธอเสียบ้างก็ไม่เป็นไรหรอก เธอจะต้องมากินข้าวเย็นบ้านครูพอให้เลือกรายการอาหารระหว่างบะหมี่ราดหน้ากับข้าวผัด เธอเลือกอย่างหลังและไม่ลืมกำชับว่าเธอแพ้อาหารทะเลนะ นั่นยิ่งไม่ยาก ครูก็ต้มปีกไก่ไว้ก่อนจะได้ไม่เหนียว แล้วจะทำต้มยำใส่เห็ดให้เธอ ส่วนครูจะกินแค่ต้มยำเห็ดเพราะกินปีกไก่ในซุปหม้อโตจนจะขันได้อยู่แล้ว อยู่คนเดียวก็ต้องทำอย่างนั้น แต่ของทำไว้ต้องห้ามนำมาเลี้ยงแขก(จีน) จะถือธรรมเนียมประเภทแกงส้มค้างคืนเข้าเนื้ออร่อยกว่า ปลาต้มเค็มค้างแล้วอุ่นจะทำให้ก้างนิ่ม เนื้อนุ่มไม่ได้เด็ดขาด แต่ถึงอย่างไรการผัดข้าวก็ใช้ข้าวที่หุงไว้ตั้งแต่มื้อกลางวันอยู่ดี

ข้าราชการกระทรวงที่หนุ่มสังกัดมีสวัสดิการหลายอย่าง เช่น มีที่พักให้อยู่ห้องละ 2 คน ขณะอบรมค่าอาหารที่โรงอาหารมื้อกลางวัน 1 หยวน มื้อเย็น 5 หยวน ราคาเช่นนี้ควรจะเรียกว่า มหาลาภ แต่หนุ่มกำลังพยายามระวังสุขภาพ เมื่อไม่ได้พบกันราว 2 เดือน ก็ดูเธอซูบลง เธองว่าหมอไม่ให้กินอิ่มเกินไป เธอก็เลยกินแต่น้อย ไม่ผอมตอนนี้ก็ไม่รู้จะผอมเมื่อไหร่แล้ว พอมากินอาหารแปลกกว่าที่เคย เธอก็ค่อยเติมนิดเติมหน่อยแล้วก็ซดน้ำต้มยำรวมทั้งกินเห็ดและปีกไก่ได้เท่าปริมาณที่ครูกะไว้ ผิดคำสั่งหมอไปมื้อหนึ่งละ

เธอก็แปลได้ 2 บท ใช้คำผิด สะกดผิดมากมายเพราะเรียนจบไป 4 ปีแล้วไม่เคยใช้ในชีวิตประจำวันนอกจากใช้กับครู ภาษาพูดยังไม่เท่าไหร่ แต่ภาษาเขียนลืมไปเกือบหมด ครูก็มานั่งแก้คำผิด ความผิด สำนวนผิดให้ผู้แปลดู แล้วเราก็โลภมากอยากรู้เรื่องทุกเรื่อง เลยขอว่าให้เธออ่านแล้วสรุปเป็นย่อหน้าได้ไหม ครูจะเขียนเอง ถ้าไม่เข้าใจก็จะถามเอา ด้วยวิธีนี้เธอก็อ่านแล้วสรุป ครูก็เขียนจนในที่สุดครูก็รู้เรื่องทั้งสี่เรื่องด้วยประการฉะนี้

เรื่องควรจะจบแล้วล่ะ แต่ก็มีการเพิ่มเติมคืออยู่ ๆ ศิษย์เก่าอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นรุ่นน้องเธอ จบปริญญาโทแล้วก็สอบเข้าทำงานที่เดียวกันกับคนแรก เธอทั้งสองก็คุยกันเรื่องครู หนุ่มรายที่ 2 ที่ตอนเรียน ป.ตรีปั 3 และ 4 ก็ไปแบกจ๊อบเป็นผู้แปลข่าวส่งบริษัทที่รับงานจาก CCTV ระเบียบบริษัทมีว่าถ้าแปลตรงไหนไม่ได้ เขามีคนไทยไว้ให้โทรถาม แต่จะต้องจ่ายครั้งละ 20 หยวน งานแปลแต่ละชิ้นได้ 80 หยวน ครั้งหนึ่งเธอแปลข่าวเรื่องพระธาตุขึ้นลิฟท์ที่วัดแห่งหนึ่งในไทย แต่ผู้ตวรจข่าวของ CCTV เห็นว่าเธอแปลผิด ไม่มีมาตรฐาน ฯลฯ ไม่มีใครช่วยเธอได้ ก็เลยมาหาครู ครูก็อธิบายตำนานความเชื่อเรื่องพระธาตุของพุทธศาสนาฝ่ายใต้ ให้เธอแจ้งไปที่ผู้ตรวจ อ้างชื่อครูในฐานะผู้เชี่ยวชาญและรู้เรื่องดี ฯลฯ นี่เป็นครั้งแรกที่ครูเบ่ง(กับคนภายนอก) แล้วเขาก็เชื่อเธอก็เลยได้งานเรื่อยมา แถมไม่ต้องโทรถามให้เสีย 20 หยวน ขนาดภาษาถิ่นเหนือ อีสาน ใต้ ครูก็ฟังออกหมด นี่เป็นผลพลอยได้สมัยอยู่หอหญิงจุฬาฯ เพราะมีเพื่อนอยู่ทุกภาค แถมสำเนียงชายทะเลฝั่งตะวันออกครูก็ยังพูดได้เสียอีก ต่อมาเธอเรียนการแปล เวลาแปลเป็นไทย ก็มีครูเป็นที่ปรึกษาเฉพาะตัวอีกต่างหาก เธอว่าทำให้เธอ " ก้าวหน้า"

เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่ายังเหลืออีก 2 ฉบับยังไม่ได้แปล เธอก็โทรมารับอาสาจะเอาไปแปลให้ แล้วเอามาให้ครูแก้ไขสำนวนภาษาตามเคย เมื่อถึงเวลานั้นครูก็จะรู้ว่าลูกศิษย์ทั้งหลาย " นินทา" ครูไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าอย่างไรบ้าง ปีหนึ่งนั้นไม่มีปัญหาละ อะไร ๆ ครูก็ดีทั้งนั้นขนาดที่ว่า "ถึงสูงวัยก็เป็นนางฟ้าได้" หรือ ครูเป็นเพลงที่ไร้เนื้อเพลง เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใจ เพียงแต่ "ผู้สูงวัยที่เหมือนเด็กขี้เล่นของเรา" นี่นะจะทำให้นักศึกษา(เก่า)ในไทยทั้งหลายช่วยกันซ้ำเติมไหมว่าเห็นไหมอาจารย์ของเราควรมีสมญาว่า "เฒ่าทาริกา" เหมือนจิวแป๊ะทงในเรื่องมังกรหยก ยังไงยังงั้นเลย ทั้ง ๆ ที่ดูเหมือนหนุ่มสาวจีนทั้งหลายจะมองว่า ผู้สูงวัยหัวใจเป็นเด็กหรือหัวใจยังเยาว์นั้น จะเป็นคำชมก็ตาม

ผู้สูงวัยที่เป็นนางฟ้าของนักศึกษาจีนที่เรียนภาษาไทยข้างต้นคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกื้อพันธ์ นาคบุปผา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่มาเป็นอาจารย์ในโครงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งหรือเป่ยว่าย อาจารย์เริ่มมาสอนภาษาไทยให้นักศึกษาจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ระยะแรกเป็นแบบไป ๆ มา ๆ แต่ช่วงเกือบสิบปีนี้ อาจารย์สอนอยู่ที่นี่ตลอด นับเป็นอาจารย์ไทยที่เป็นที่รักเทิดทูนของทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าอย่างมาก เพราะอุทิศตนเพื่อการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ แถมศิษย์เก่าต้องการความช่วยเหลือต้องการคำแนะนำยังสามารถปรึกษาอาจารย์ได้ตลอดเวลา สมแล้วที่รัฐบาลจีนได้มอบรางวัลมิตรภาพระดับชาติเพื่อประกาศเกียรติคุณครูไทยที่มีหัวใจเป็นครูเต็มร้อย และเชิญครูไทยท่านนี้ไปพบกับท่านนายกรัฐมนตรีจีนทั้งท่านเวิน เจียเป่า และท่านหลี่ เค่อเฉียง ขณะที่ศิษย์ต่างรวมใจให้เป็นครูต่างชาติที่ชื่นชอบที่สุด .....อ่านเรื่องของอาจารย์เกื้อพันธ์ฯแล้วรู้เลยว่าวัยไม่ใช่ปัญหา มันอยู่ที่ว่าเราเต็มที่กับสิ่งที่เราทำหรือยัง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040