4. ปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงมากและมีความผันผวน เป็นส่วนหนึ่งของแรงคุกคามและเสี่ยงจะเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ แม้ขณะนี้รัฐบาลจีนสามารถควบคุมได้ระดับหนึ่งทำให้ราคาลดลงบ้างแล้ว แต่การควบคุมไว้ก็อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆติดตามมาและอาจเกิดภาวะฟองสบู่แตกร้าวได้
5. ปัญหามลภาวะเป็นพิษ ขณะนี้มีเมืองนับร้อยแห่งของจีน กลายสภาพเป็นเมืองในหมอกบ่อยครั้งเนื่องจากมลพิษทางอากาศ เกิดจากการพัฒนาเชิงวัตถุและอุตสาหกรรมจนเกินตัว ซึ่งเป็นภาพเดียวกับที่เกิดในประเทศพัฒนาแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นเมื่อ 30-40 ปีมาแล้ว หรือตะวันตกเช่นสหรัฐและยุโรป จะมีปัญหานี้มากในช่วงพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นปัญหาที่เจอเหมือนกันในหลายๆ ประเทศ แต่จะเป็นต้นทุนสำคัญที่รัฐบาลจีนต้องบริหารจัดการ เพราะเป็นข่าวอยู่ทุกวัน ในสื่อระดับนานาชาติ
" จากนี้ไป คนจะเป็นห่วงมาก ระหว่างการสร้างความสมดุล ทำให้การเติบโตและขยายตัวของเศรษฐกิจในเชิงปริมาณควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพของเศรษฐกิจด้วย เพราะเกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน แทนที่จะเน้นผลิตเยอะส่งออกมากแต่กลับมีปัญหามลภาวะมากติดตามมาด้วย สิ่งที่ต้องคิดให้มากคือ ทำอย่างไร ให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจเองและการเชื่อมโยงกับปัจจัยที่มีความสำคัญอื่นๆ รวมทั้งด้านนิเวศน์วิทยา"
รศ.ดร. สมภพเห็นว่า หากประเทศจีนยังคงพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบการ
เป็นรับจ้างผลิต Original Equipment Manufacturer (OEM)ไม่มียี่ห้อแบรนด์เนมเป็นของตัวเอง ไม่มีเทคโนโลยีของตัวเอง ผลิตตามคำสั่งซื้อของผู้ลงทุน โดยได้ส่วนแบ่งเล็กน้อยแต่จะต้องแบกรับต้นทุนด้านอื่นซึ่งเป็นภาระมหาศาล เช่นต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม จะเป็นปัญหามากในอนาคต
ดังนั้น จีนต้องยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นสูงขึ้น เพราะตอนนี้ จีน
ก็ไม่ได้มีบทบาทนำด้านค่าแรงถูกอีกต่อไป เพราะสินค้าต่างๆ ราคาแพงขึ้น ค่าแรงสูงขึ้นและมีประเทศเกิดใหม่ที่มีเงื่อนไขการลงทุนที่ต่ำกว่า มีข้อได้เปรียบมากกว่ามาเป็นคู่แข่งขันด้วย ในการผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดโลก
จีนจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นประเทศ Original Brand Manufacturer (OBM) หรือ Original Technology Manufacturer (OTM) เพราะจะทำให้การควบคุมดูแลผลข้างเคียงของการพัฒนาเช่นมลพิษลงไปได้ ในเวลาเดียวกันก็มีผลตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น จากเดิมได้แค่ค่าจ้างในการรับจ้างผลิต
มลภาวะในจีน ส่งผลต่อปริมาณการผลิตของสินค้าเกษตรลดลงอย่างมากด้วย รศ. ดร.สมภพกล่าวว่า นายกฯหลี่ เค่อ เฉียงกล่าวว่า จีนจะมุ่งสู่ความทันสมัยด้านการเกษตร หรือเกษตรสมัยใหม่ (Agricultural modernization) เพราะคนจีนจำนวนมากยังอยู่ในภาคเกษตร หรือเชื่อมโยงกับการผลิตภาคเกษตร
สำหรับการจัดการทุจริต นั้น รศ. ดร.สมภพตั้งข้อสังเกตเรื่องวิธีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมจีนว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะสภาพขณะนี้ต้องยอมรับว่า เจ้าหน้าที่และพนักงานของรัฐ ตั้งแต่ระดับสูงไปถึงระดับล่าง มีเงินตอบแทนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานเอกชน ภาคธุรกิจ ช่องว่างของรายได้เหล่านี้คือปัญหา บางครั้งแตกต่างกันหลายเท่าตัว
แต่หมวกที่สวมในตำแหน่ง ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ มีความสำคัญและมีบทบาทมาก
ชาวจีนและคนในภูมิภาคเอเชียจำนวนไม่น้อย ให้ความสำคัญกับหน้าตา ความหรูหราของวัตถุและฐานะชื่อเสียงทางสังคม
"รายได้ประจำน้อย แต่รายจ่ายทางสังคมสูงมาก เป็นความไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนต้องไปหารายได้เพิ่มจากการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องสะสมมายาวนาน นับสิบปี อาจเริ่มตั้งแต่จีนเปิดประเทศใหม่ๆแล้ว ดังนั้น การปราบคอรัปชั่น ด้านหนึ่งคือความถูกต้อง แต่จะเป็นปัญหาในการดำรงชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ทำอย่างไร รัฐบาลจึงจะสร้างความสมดุลเรื่องนี้ได้"
กระทั่งการรณรงค์เรื่องประหยัด เป็นมาตรการที่ดี แต่ต้องประเมินว่าผลกระทบในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร เพราะการที่ทางการรณรงค์เรื่องนี้ เป็นแบบอย่างที่ดีต่อประชาชน จำนวนคนได้รับผลกระทบมีมาก รศ. ดร.สมภพยกตัวอย่าง เจ้าหน้าที่สมาชิกพรรคคอมฯ มีประมาณ 90 ล้านทั่วประเทศ รวมกับสมาชิกพรรคสันนิบาต มีจำนวนเกิน 100 ล้านคน ไม่นับเจ้าหน้าที่ข้าราชการในระดับต่างๆอีก ดังนั้น มาตรการประหยัด ลดความฟุ่มเฟือย ก็จะทำให้รายจ่ายมหาศาลเหล่านี้จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจ ทำให้นโยบายการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศลดลง รัฐบาลจีนจึงต้องปรับทิศทางตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หากต้องการตั้งเป้าหมายให้พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้นเพื่อทดแทนการส่งออก