ระหว่างบรรทัด ความสัมพันธ์ระหว่างไทย – จีน ในโครงการ นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์
  2014-05-23 18:40:27  cri

ดร.ชยากร เล่าว่า รอบนี้มีตัวแทนมากันทั้งหมด 8 คน จากหลายหน่วยงาน อาทิ สวทช. วว. เน็คเท็ค มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยนเรศวร สนใจศึกษาในประเด็นและหัวข้อที่แตกต่างกันไป เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับตัวรถไฟ ระบบสัญญาณ มอเตอร์ การขับเคลื่อน เป็นต้น โดยหน่วยงานจีนที่รับผิดชอบคือ Beijing Jiao Tong University ใช้รูปแบบการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

"มีนักวิจัยจากจีนร่วมทำงานจับคู่ร่วมกับกับนักวิชาการไทย หนึ่งต่อหนึ่งในแต่ละหัวข้อที่สนใจร่วมกัน เพื่อให้ได้ชุดความรู้ที่จะนำไปปรับใช้ต่อไป เช่นส่วนของผม มาอบรมและวิจัยเรื่องระบบอาณัติสัญญาณเชื่อมระหว่างตัวรถไฟกับสถานีและการเชื่อมโยงกับระบบรางทั้งหมด ขณะนี้ สวทช. มีโครงการแลกเปลี่ยนความรู้โดยอบรมและสร้างคน และมีการทำวิจัยร่วม ห้องทดลองศูนย์กลางควบคุมขบวนรถไฟ อย่างน้อยน่าจะได้ข้อมูลที่จะได้นำกลับไปพิจารณาว่า ผลงานที่ได้จะนำไปเป็นต้นแบบโครงการในเมืองไทยได้หรือไม่ "

สำหรับการอบรม ก็มีการไปนั่งเรียนร่วมกับโครงการอื่นๆที่เชื่อมโยงกัน อาทิกระทรวงคมนาคม และพานิชย์ของจีน มีโครงการอบรมด้านรถไฟความเร็วสูง เป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ก็มีการจัดหลักสูตรและการอบรมเรียนรู้เรื่องนี้ นักวิจัยไทยก็ไปนั่งเรียนและฝึกปฏิบัติด้วย ดร.ชยากรเห็นว่า ปีนี้เป็นการริเริ่มปีแรก ดังนั้น นักวิชาการไทยอาจเรียนรู้ได้ไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับระบบรถไฟทั้งขบวน แต่ถ้าโครงการมีต่อเนื่องก็คาดว่าในอนาคตจะมีบุคลากรไทยที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างเต็มรูปแบบครบทั้งวงจร

"ตอนนี้ในเมืองไทยมีโครงการอบรมวิศวกรที่ทำงานด้านนี้ ประมาณ 4-5 ปี ชื่อ โครงการอบรมวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง จัดมาแล้วเป็นปีที่ 4 เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ และคาดว่าจะมีงานวิจัยเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ร่วมมือกัน ดังนั้นเป้าหมายคือ การมาแลกเปลี่ยนครั้งนี้ อยากได้อย่างน้อยสักเรื่องคือสรุปรายงานว่า หากไทยจำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูงแล้ว ข้อเสนอแนะคืออะไร"

ดร.ชยากรเห็นว่า กรณีรถไฟความเร็วสูง สามารถมองได้หลายมุม หากพิจารณาจากทางวิทยาศาสตร์ มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอน แต่ต้องดูว่าเมื่อไหร่ถึงจะพร้อมและเหมาะสม ประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่สองในเอเชีย มีรถไฟมาแล้วกว่าร้อยปี แต่พัฒนาการช้าและล้าหลังอีกหลายประเทศ ดังนั้น ขั้นบันไดที่จะพัฒนาควรดูจากสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว คือ รถไฟรางเดียวที่มีทั่วประเทศ ประมาณร้อยละ 90 ส่วนที่เหลือเป็นรางคู่ ต้องดูว่า คุณภาพของสิ่งที่มีอยู่ ให้บริการได้มาตรฐานเพียงพอและใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพียงพอแล้วหรือยัง หลังจากนั้นก็ยังต้องพิจารณาว่า รถไฟธรรมดาที่เป็นระบบรางคู่ซึ่งประเทศไทยก็มีอยู่นั้นเป็นอย่างไร ได้พัฒนาอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วหรือยัง เพราะระบบนี้ต้นทุนต่ำ จำเป็นสูงและมีประโยชน์มาก

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณารายละเอียดด้านอื่นประกอบด้วยอาทิ ขนาดของราง รถไฟความเร็วสูง ต้องมีรางของตัวเองเป็นการเฉพาะ เนื่องจากขนาดรางรถไฟของไทยแตกต่างจากในยุโรป เพราะในยุโรป สามารถใช้รางร่วมกันได้ทั้งรถไฟธรรมดาและความเร็วสูง

แต่รางรถไฟธรรมดาของไทยกว้าง 1 เมตร เล็กกว่าในยุโรป ตามศักยภาพอาจแล่นด้วยความเร็วสูงสุดได้ 160 กม.ต่อชั่วโมง แต่ในขณะนี้ยังแล่นเพียงแค่ 80 กม.ต่อชั่วโมง ดังนั้นจึง ต้องพัฒนาศักยภาพเรื่องนี้ก่อน ถึงค่อยพิจารณาเรื่องการสร้างรถไฟความเร็วสูง เนื่องจาก ต้องสร้างรางแยกออกไปต่างหากเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตามขนาดรางใหญ่ มีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงเห็นว่าควรพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่ก่อน แล้วค่อยคิดว่า จะสร้างรถไฟความเร็วสูงอย่างไร

ด้านคุณพณสินธุ์ เล่าว่า การอบรมครั้งนี้ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง ระบบการขับเคลื่อนตัวรถไฟ Electrical Multiple Unit (EMU) ใช้มอเตอร์เหนี่ยวนำให้รถไฟแล่นได้ด้วยความเร็วตามที่ต้องการ วว. เป็นหน่วยงานที่ให้บริการความรู้แก่ภาคอุตสาหกรรมและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับระบบรถไฟคือโครงการดูแลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และความปลอดภัย โดยเฉพาะความแข็งแรงของโครงสร้าง ว่าได้ตรงตามมาตรฐานหรือไม่

สำหรับความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นของรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย คุณพณสินธุ์ เห็นว่า ต้องจัดลำดับความสำคัญความเร่งด่วนและควรพิจารณาให้รอบด้าน

"รถไฟความเร็วสูง จำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ แต่หากมีแล้ว ประเทศจะพัฒนาได้หรือไม่ ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกมาก ทั้งด้านการศึกษา สังคม เป็นต้น จึงต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี รถไฟความเร็วสูงเป็นแค่หนึ่งในปัจจัยเท่านั้นเอง

ไม่จำเป็นต้องลงทุนครั้งเดียวทั้งระบบให้เต็มรูปแบบ สามารถทยอยดำเนินการก็ได้"

การอบรมในครั้งนี้ มีระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือน นักวิชาการแต่ละคนมีประเด็นศึกษาของตัวเองที่แตกต่างกัน ทำงานร่วมกับนักวิจัยชาวจีน คาดว่า เมื่อฝึกอบรมแล้วจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์และต่อยอดความรู้ได้ต่อไป

โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

2014-05-23

ภาพประกอบบางส่วนจาก

news.xinhuanet.com

www.chinadaily.com.cn


1 2
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040