จีนจานเด็ด - กุ้งมังกรเล็กกับสารพันข่าวลือ (1)
  2015-10-29 13:12:19  cri

"กุ้งมังกรเล็กผัดเผ็ด" หรือภาษาจีนว่า "หมาล่าเสี่ยวหลงเซีย" อาหารจานเด็ดที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวจีน แรกสุดเป็นจานเด่นของมณฑลหูหนัน ต่อมาก็ได้แพร่หลายเป็นที่รู้จักและชื่นชอบไปทั่วประเทศจีน

นอกจากชาวเมืองฉางซา มณฑลหูหนันแล้ว ชาวปักกิ่งก็นิยมรับประทานกันเป็นพิเศษ โดยถนนกุ่ยเจีย ซึ่งเป็นย่านรวมร้านอาหารที่เปิดขายตลอด 24 ชั่วโมงของกรุงปักกิ่ง ก็ขึ้นชื่อในร้านขายกุ้งมังกรเล็กผัดเผ็ดอย่างมาก ขนาดว่า แต่ละวันจะขายกุ้งมังกรเล็กจำนวนนับเป็นตัน!

เกี่ยวกับกุ้งมังกรเล็ก บางคนว่าได้ยินได้เห็นมาบ้าง แต่ให้กินยังไม่กล้า เพราะมีข่าวลือหลายๆ อย่างที่ชวนให้เป็นกังวล เพราะฉะนั้น วันนี้ ซีอาร์ไอจะข่าวลือเหล่านี้มาแถลงให้ทราบว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

1. กุ้งมังกรเล็กไม่ใช่กุ้ง แต่เป็นแมลง? -- ผิด

กุ้งมังกรเล็กมีชื่อจริงว่า Procambarus clarkii เป็นกุ้งที่ใช้ชีวิตในน้ำจืด เป็นญาติของกุ้งมังกรใหญ่ด้วย

กุ้งมังกรเล็กแต่เดิมมีถิ่นอาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ บริเวณใกล้อ่าวเม็กซิโก โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า กุ้งรัฐหลุยส์เซียน่า เป็นสัดส่วน 70-80% ของจำนวนกุ้งมังกรน้ำจืดในแต่ละปี

2. จีนมีกุ้งมังกรเล็กท้องถิ่นไหม? -- มี

อันที่จริง จีนมีกุ้งมังกรเล็กท้องถิ่นทั้งหมด 4 ชนิด แต่ชนิดที่หาง่ายที่สุดขายกันในตลาดเป็นชนิดที่มาจากสหรัฐฯ กุ้งมังกรเล็กเป็นสัตว์ที่ดุร้าย สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย แถมยังแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว จึงเป็นภัยคุกคามต่อพันธุ์ท้องถิ่นอย่างมาก

3. กุ้งมังกรเล็กเป็นสัตว์ที่ทหารญี่ปุ่นที่รุกรานจีนปรับเปลี่ยนยีนและเพาะเลี้ยงเพื่อจัดการศพในระหว่างสงครามรุกรานจีน?– หลอก

เคยมีข่าวลือว่า กองทัพเคมีญี่ปุ่นประจำจีนในสมัยสงครามรุกรานจีนต้องการจัดการศพจำนวนมาก จึงปรับเปลี่ยนยีนของกุ้งมังกรเล็กสายพันธุ์สหรัฐฯ นี้ และเลี้ยงในฐานทัพญี่ปุ่นเพื่อให้ทำความสะอาดน้ำ แต่ปรากฏว่าคำกล่าวนี้ไม่มีหลักฐานใดใดยืนยันได้เลย ทั้งนี้ เมื่อทศวรรษปี 1970 มนุษย์ถึงเริ่มศึกษาการใช้เทคโนโลยีปรับเปลี่ยนยีน ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าทหารญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนยีนของกุ้งมังกรเล็กนั้นจึงเป็นเพียงข่าวลือ

คาดว่าข่าวลือชิ้นนี้มาจากข่าวที่ว่า กุ้งมังกรเล็กพันธุ์สหรัฐฯ ในจีนนั้น นำเข้ามาจากญี่ปุ่น โดยเมื่อปี 1927 ญี่ปุ่นได้นำเข้ากุ้งมังกรเล็ก 20 ตัวจากสหรัฐฯ เพื่อเลี้ยงเป็นอาหารของอึ่งอ่าง ต่อจากนั้นประมาณ 3 ปี จีนได้นำเข้ากุ้งมังกรเล็กพันธุ์นี้มาจากญี่ปุ่น และใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์เช่นกัน

4. ชาวญี่ปุ่นไม่กินกุ้งมังกรเล็ก ชาวต่างชาติของประเทศอื่นๆ ก็ไม่กินด้วย -- ไม่จริง

ปัจจุบัน การค้ากุ้งมังกรเล็กในบริเวณทั่วโลกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยยอดการค้าในแต่ละปีมีมากกว่า 300,000 ตัน ชาวสหรัฐฯ รับประทานกุ้งมังกรเล็กมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว กล่าวได้ว่ากุ้งมังกรเล็กเป็นอาหารทั่วไปของชาวอเมริกัน โดยมักจะต้มกับมันฝรั่งและข้าวโพด กุ้งมังกรเล็กที่เป็นอาหารในสหรัฐฯ นั้น 98% มาจากรัฐหลุยส์เซียน่า โดยเมื่อปี 1983 รัฐหลุยส์เซียน่ายังได้เลือกกุ้งมังกรเล็กเป็นสัตว์ประจำรัฐด้วย แถมยังจัดเทศกาลกุ้งมังกรเล็กทุกๆ ปี

ส่วนในญี่ปุ่น เนื่องจากมีอาหารทะเลหลากหลายชนิด แถมกุ้งมังกรยังถือเป็นอาหารเลี้ยงอึ่งอ่าง ชาวญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยนิยมรับประทาน เพราะรสชาติของกุ้งมังกรเล็กก็ไม่ได้พิเศษไปกว่าสัตว์น้ำอย่างอื่นนั่นเอง

ถ้าวิจัยจากสถิติการส่งออกของจีนจะพบว่า เมื่อปี 2011 เฉพาะที่มณฑลหูเป่ยที่เดียวก็ได้ส่งออกกุ้งมังกรเล็กกว่า 8,000 ตัน และยอดการส่งออกไปทั่วประเทศจีนคิดเป็นหลายหมื่นตันต่อปี โดยจะส่งออกไปยังเดนมาร์ค สวีเดน สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ซึ่งอาหารแปรรูปจากกุ้งมังกรเล็ก 90% ในตลาดยุโรปต่างนำเข้าจากจีน

Yim/Ldan

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040