กีวี(Kiwi )ผลไม้ที่ชื่อเหมือนนกกีวีสัญลักษณ์นิวซีแลนด์ แต่ถิ่นกำเนิดจริงๆอยู่ที่จีนคนจีนเรียก "หมีโหวเถา"( 猕猴桃) หมีโหแปลว่าลิงกัง เถาแปลว่าท้อ เล่ากันว่าลิงกังชอบกินท้อชนิดนี้ด้วยเหตุนี้กระมังจึงได้ชื่อท้อลิงกังหรือหมีโหวเถา ส่วนชื่ออังกฤษไชนีส กูสเบอร์รีส์ (Chinese Gooseberry) มีเรื่องเล่าว่ากว่าร้อยปีมิชชั่นนารีนิวซีแลนด์มาจีนแล้วนำเอาเจ้าไชนีส กูสเบอร์รีส์ไปปลูก ขยายพันธุ์พัฒนาพันธุ์เป็นการใหญ่จนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ในขณะนี้ โดยในช่วงแรกๆที่ส่งออกยังใช้ชื่อไชนีส กูสเบอร์รีส์ ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นกีวี จนคนทั่วโลกติดปากกับชื่อนี้
ชื่อหมีโหวเถา ปรากฏขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ในตำราสมุนไพรจีนเปิ่นเฉ่าสืออี๋บันทึกไว้ว่า หมีโหวเถาไม่เป็นพิษ สามารถทำเป็นยาแก้อัมพาต ผมหงอก และริดสีดวงทวาร แสดงว่าเมื่อประมาณ 1,00 ปีก่อน ชาวจีนก็ปลูกพืชชนิดนี้กันแล้ว
ตามสถิติพบว่าทั่วโลกมีกีวีทั้งหมด 66 พันธุ์ที่ปลูกในจีนมีถึง 62 พันธุ์โดยปลูกกันในหลายมณฑลทั้งเหอหนาน ส่านซี กุ้ยโจว หูหนาน กว่างตง ซื่อชวน(เสฉวน) ฉงชิ่ง หูเป่ย เจ้อเจียง เจียงซี ซานตง ฯลฯ โดยมณฑลส่านซีเป็นมณฑลที่ปลูกกีวีมากที่สุดในจีนคิดเป็นหนึ่งในสามของพื้นที่ปลูกทั้งหมดในจีน ส่วนใหญ่กระจายอยู่ที่อำเภอโจวจื้อ อำเภอฮู่ของเมืองซีอาน อำเภอเหมย เมืองเป่าจี และอำเภออู่กง เมืองเสียนหยาง พื้นที่ปลูกกีวีในจีนประมาณ 400,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 ของทั่วโลก ในจำนวนประมาณ 30 ประเทศทั่วโลกที่มีการปลูกกีวี จีนจึงเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกกีวีมากที่สุด รองลงมาคืออิตาลี นิวซีแลนด์ ชิลี ฝรั่งเศส กรีซ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา กีวีเป็นพืชเมืองหนาวที่ปลูกได้ผลดีในพื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 800 – 1,800 เมตร
ผลผลิตกีวีของจีนในปี พ.ศ.2551 มีจำนวน 752,000 ตัน แต่ถึงปี 2556 เพิ่มเป็น 1,124,000 ตัน ยอดการค้ากีวีจีนเมื่อปี 2557 คือ 8,300 ล้านหยวน คาดว่าเมื่อถึงปี 2562 ยอดการค้าจะเพิ่มเป็น 13,200 ล้านหยวน แม้จีนจะมีการปลูกมากแต่มีการส่งออกเพียงร้อยละ 1 โดยส่งไปรัสเซีย ผลผลิตในประเทศที่เหลือร้อยละ 38 ทำเป็นกีวีเชื่อมและบรรจุกระป๋อง ร้อยละ 35 เป็นการขายปลีกเพื่อบริโภคสด ร้อยละ13 ทำเป็นเหล้าและไวน์ และร้อยละ 12 ทำเป็นน้ำกีวี แม้จีนจะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกกีวีมากที่สุดในโลก มีการส่งออกน้อยมาก แถมยังมีการนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะนิวซีแลนด์สูงมาก โดยเมื่อปี 2551 นำเข้า 23,000 ตัน ปี 2555 นำเข้าเพิ่มเป็น 52,000 ตัน
ความที่จีนปลูกกีวีมากพันธุ์ ดังนั้น รูปลักษณ์ของกีวีจึงมีหลากหลายมาก พันธุ์ที่ผลโตค่อนข้างกลมไม่ค่อยมีขน รสชาติจะออกเปรี้ยวมากกว่าราคาถูกมากชั่งละประมาณ 2 หยวนนิยมนำไปเชื่อม ดิฉันเคยซื้อมาเชื่อมพยายามอยู่หลายครั้งแต่เนื้อมันยังเละ ไม่เป็นชิ้นแห้งแข็งอย่างที่โรงงานเขาทำขาย พันธุ์ผลยาวรี มีขนพวกนี้จะหวาน เวลาซื้อถ้าต้องการรับประทานเลยก็เลือกผลที่ผิวตึงจับดูเริ่มนิ่มแล้ว เพราะพวกที่นิ่มเกินไปบางทีพอปอกแล้วเนื้อเละ ต้องผ่ากลางแล้วใช้ช้อนตัก แต่บางท่านก็ชอบบอกว่ารสกลิ่นมันเหมือนไวน์ เวลาเลือกกีวีต้องพิธีพิถัน ผลที่นิ่มผิวตึงเปรี๊ยะแต่เหมือนมีลมอยู่ข้างในพวกนี้อย่าเลือกเพราะปอกเปลือกออกมาแล้วเนื้อจะออกเละและเหม็นลม ส่วนมากดิฉันจะเลือกพวกที่เริ่มนิ่ม ซื้อเอามาวางไว้สักสองวันในอุณหภูมิห้องธรรมดา วันไหนจะกินก็เอาเขาตู้เย็น เวลารับประทานมันจะทั้งหอม หวาน เย็น ชื่นใจ ส่วนกีวีจิ๋วโตกว่านิ้วหัวแม่มือหน่อย เวลาจะทานเพียงล้างให้สะอาดรับประทานทั้งเปลือกได้
คราวหน้าจะมาสาธยายว่ากีวีมันดีต่อสุขภาพของเราอย่างไรบ้าง ติดตามนะคะ