ช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ อย่างไหว้พระจันทร์(จงชิวเจี๋ย) บ๊ะจ่าง(ตวนอู่เจี๋ย) ตรุษจีน(ชุนเจี๋ย) เทศกาลบัวลอย(หยวนเซียวเจี๋ย) ฯลฯ ถ้าผ่านร้านขนมเต้าเซียงชุน ร้านขนมชื่อดังของปักกิ่งที่เปิดมากว่า 100 ปี เราจะเห็นผู้คนเข้าคิวยาวเหยียดที่หน้าร้านรอซื้อขนมแต่เช้าตรู่ก่อนร้านเปิดเป็นชั่วโมง หรือแม้แต่เข้าไปในร้านซึ่งจะมีช่องขายขนมอยู่ 4 – 5 ช่อง เราก็จะเห็นผู้คนเข้าคิวเพื่อรอซื้อขนมตามช่องต่าง ๆ เป็นภาพธรรมดาที่เห็นกันชินตา เป็นวิถีปฏิบัติที่ไม่ต้องมีใครมาบังคับ ใครมาถึงก่อนก็ไปเข้าคิวเป็นอันดับแรกๆ ใครมาหลัง ๆ ก็เรียงคิวกันไป ไม่เฉพาะร้านขนมแห่งนี้ที่ไหน ๆ ในจีนก็มีการเข้าคิวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าคิวรอเช็กอินที่สนามบิน รถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง ไม่เว้นแม้แต่รถเมล์
ที่ป้ายรถเมล์ในปักกิ่งนี่ยิ่งเห็นชัด เพราะจะมีการกำหนดช่องจอดสำหรับรถเมล์สายต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน คนที่จะขึ้นรถเมล์ก็จะไปยืนตามช่องเข้าคิวกัน พอรถเมล์มาจอดก็ขึ้นลงกันด้วยความเรียบร้อย คนขับรถเมล์ที่ปักกิ่งน่ารักสุด ๆ ใจเย็นรอจนคนขึ้นลงเรียบร้อยจึงปิดประตูออกรถ แถมยังจอดทุกป้ายตามที่กำหนดไว้ในตารางการเดินรถ
รถเมล์สาย 545 เป็นรถเมล์ที่วิ่งในระยะทางสั้น ๆ จากป้ายอู่จวงมาสิ้นสุดที่ตลาดเหล่าซาน มีประมาณ 10 ป้าย คนที่ขึ้นรถเมล์สายนี้พวกแรกคือขึ้นเพื่อมาต่อรถไฟใต้ดินสาย 1 ที่สถานีปาเป่าซันหรือปาเจี่ยว กับอีกพวกคือพวกที่จะไปซื้อของที่ตลาดเหล่าซาน ตลาดขนาดใหญ่ที่จำหน่ายทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าวของเครื่องใช้สารพัด แน่นอนผู้โดยสารกลุ่มนี้มักจะมีรถเข็นเพื่อใช้ในการใส่ของที่ซื้อมาด้วย แต่ละคนเมื่อซื้อของเสร็จก็จะมาเข้าคิวยาวรอรถ หลายครั้งที่ดิฉันเคยลองใจจอดเฉพาะรถเข็นเข้าคิวไว้ ส่วนตัวเองก็ไปเดินเล่น เพื่อจะดูซิว่าจะมีคนมาแซงคิวไหม ผลปรากฏว่าไม่ พอรถเมล์มาจอดคุณลุงคุณป้าที่มาเข้าคิวทีหลังดิฉันไม่ยอมขึ้น บอกให้ดิฉันขึ้นก่อนเพราะมาเข้าคิวก่อน นี่บ่งบอกให้รู้ว่าคนจีนคุ้นชินกับการเข้าคิว เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่เป็นข่าวบางทีลักษณะการเข้าคิวที่ทำกันอาจเป็นคิวที่ไม่ชัดเจน มีช่วงขาดแถมอาจไม่ได้สื่อสารกันให้ชัดเจนก็เลยเกิดปัญหาทำนองว่าคนจีนไม่เข้าคิว ทั้งที่จริง ๆ แล้วการเข้าคิวก็เป็นวิถีปฏิบัติประจำในจีนที่เห็นกันทุกที่ทุกวี่ทุกวัน "เข้าคิว" ภาษาจีนคือ ไผตุ้ย ค่ะ