แต่ก่อนร่อนชะไรตอนที่วิถีชีวิตคนไทยยังไม่ได้ถูกยึดโดยพลาสติก เวลาไปกาดไปจ่ายตลาดเราจะมีตะกร้า กระจาด หาบ เข่งที่สานจากไม้ไผ่และหวายเอาไปใส่ข้าวของที่ซื้อ ของที่ซื้อพ่อค้าแม่ค้าก็มักจะผูก ห่อ มัดด้วยใบตอง ใบสักหรือใบไม้ต่าง ๆ สิ่งที่ใช้มัดไม่ใช่ยางวงเส้นเล็ก ๆ เหมือนปัจจุบันแต่เขาจะใช้เชือกล้วย หรือตอกจากไม้ใผ่เป็นหลัก เมื่อซื้อของได้ครบตามที่ต้องการบ้างก็หิ้วบ้างก็หาบคอนกระเดียดเอากลับบ้าน คุณย่าคุณยายเล่าให้ฟังว่ากว่าจะถึงบ้านก็อานเพราะของหนัก ถ้าหิ้วก็เมื่อแขน หาบก็เจ็บไหล่แรงกดทับของของที่อยู่ปลายสองข้างไม้คานมันหนัก กระเดียดซะตัวเอียงเมื่อยเอวเมื่อยแขน ยุคสมัยเปลี่ยนไปเดี๋ยวนี้ไปซื้อของที่ไหนๆแทบไม่เห็นคนพกตะกร้ามาใส่ของไปมือเปล่าเดี๋ยวพ่อค้าแม่ค้าก็ให้ถุงพลาสติกใส่ของหิ้วกลับมา แถมพ่อค้าแม่ค้าไทยส่วนใหญ่ใจดีซ้อนถุงให้หิ้วได้สบาย กลับถึงบ้านนั่งนับดูได้ถุงฟรีเยอะเลย แต่การหิ้วของหนักๆทำให้เมื่อยแขน ยิ่งพวกที่หิ้วของหนักบ่อย ๆ หิ้วนาน ๆ พาลปวดข้อปวดไหล่ไปเลยก็มี ..
ที่เมืองจีนมีแฟชั่นสำหรับคนไปจับจ่าย พวกเขาจะพกโก้อู้เช้อ(购物车)รถสำหรับซื้อของไปด้วย(โก้แปลว่าซื้อ อู้แปลว่าของ เช้อแปลว่ารถ) บางคนก็เรียกเสี่ยวเช้อ(小车)รถเล็ก ๆ ที่เป็นรถลากมีล้อแล้วก็มีถุงหรือตะกร้าทำจากพลาสติกหรือเหล็กไว้สำหรับใส่ของ รถซื้อของมีหลายขนาด หลายรูปแบบและสีสัน แต่ขนาดมาตราฐานที่ใหญ่หน่อยจะทำให้คนลากเดินตัวตรงตามปกติได้สบาย คันเล็กๆเหมาะสำหรับคนตัวเล็ก รถซื้อของนี่มีความจุมหาศาลซื้ออะไร ๆ ก็ยัดใส่เข้าไปได้ ไม่ต้องหิ้วให้เมื่อยแขน ใช้รถลากสะดวกสุด เห็นกระเป๋านักเรียนจีนรุ่นใหม่ ๆ เขาก็มีล้อลากกันแล้ว ไม่งั้นนักเรียนจีนก็เหมือนนักเรียนไทยหิ้วกระเป๋าหนังสือกันไหล่ทรุดเลย
ดิฉันมานั่งนึกขำ ๆ ว่า หากเราทำรถซื้อของเป็นแบบตะกร้าหรือเข่งที่มีฝาปิด เอาให้เป็นวิถีชีวิตแบบไทยๆเราบ้างคงเข้าที เพราะนอกจากจะช่วยผ่อนแรงให้ไม่ต้องหิ้วของหนักแล้ว ยังอนุรักษ์วิถีไทย เห็นตะกร้าเห็นเข่งสานจากไม้ไผ่จากหวาย มันคงได้บรรยากาศดีนะคุณ.