เทศกาลหยวนเซียว (2)
  2016-02-22 17:14:29  cri

 

ประเพณีสำคัญอีกอย่างของเทศกาลตรุษจีน คือ การเชิดมังกรและสิงโต โดยเฉพาะการเชิดมังกร เป็นกิจกรรมที่ต้องทำในพื้นที่ต่างๆ ของจีน ประเพณีนี้เริ่มมีตั้งแต่สมัยสามก๊ก มีประวัติศาสตร์กว่า 1,000 ปีแล้ว เล่ากันว่า สิงโตเป็นสัตว์พาหนะของพระมันชุศรี หลังศาสนาพุทธเผยแพร่เข้าสู่จีน กิจรรมการเชิดสิงโตก็เข้าสู่ชีวิตของชาวจีนด้วย สิงโตเป็นสัตว์ของเขตเปอร์เซีย เมื่อสมัยราชวงศ์ฮั่น จางเซียนนำคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับแคว้นต่างๆ ในเขตเปอร์เซีย และได้นำเอาสิงโตและนกยูงกลับมาจีนถวายให้ฮ่องเต้ สมัยราชวงศ์ถัง การเชิดสิงโตเป็นกิจกรรมที่นิยมกันทั้งในวัง กองทหารและหมู่บ้านทั่วประเทศ ในวิวัฒนาการเป็นเวลากว่า 1,000 ปีที่ผ่านมา การเชิดสิงโตแบ่งเป็นภาคเหนือกับภาคใต้ 2 สาขา ต่างมีลักษณะเด่นของตน ภาคเหนือเป็นฝ่ายบู๊ โดยปกติถ้าเป็นสิงโตตัวเล็ก จะเชิดโดยคนเดียว ถ้าเป็นตัวใหญ่จะเชิดกัน 2 คน คนหนึ่งยืนเชิดหัว อีกคนหนึ่งก้มตัวต่อเป็นช่วงตัวของสิงโต โดยจะมีแสดงตีลังกา กระโดด ขึ้นโต๊ะหรือแท่นสูง เดินตามเสาไม้สูง เล่นลูกบอลและท่วงท่าต่างๆ ที่ยากมาก

 

ส่วนของภาคใต้เป็นฝ่ายบุ๋น มีกระบวนท่าไม่ยากเท่าฝ่ายบู๊ มักมีท่าเกาหัว เลียขน น่ารักมาก ได้รับความนิยมในเขตกวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊า ตลอดจนประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในความเชื่อของคนจีน สิงโตเป็นสัญญลักษณ์ของการมีพลัง องอาจ กล้าหาญ สามารถขับไล่ภูตผีปีศาจ และสิ่งอัปมงคล คุ้มครองปกป้องให้คนและสัตว์เลี้ยงมีความสงบสุข จึงมักจัดกิจกรรมเชิดสิงโตในเทศกาลหยวนเซียวและงานสำคัญๆ

 

เทศกาลตรุษจีนจะขาดโคมไฟไม่ได้ สมัยโบราณ ชาวจีนนิยมจุดโคมขึ้นแล้วเอาไปวางที่วัด เพื่อขอพรจากพระพุทธเจ้า ให้ได้รับความสงบสุขตลอดทั้งปี

ส่วนทำไมในเทศกาลตรุษจีนจำต้องจุดโคมไฟ คำตอบมีหลายอย่าง ที่เล่าขานเป็นที่แพร่หลายมากที่สุด คือ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ซึ่งห่างจากปัจจุบันประมาณ 1,800 ปี พุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่จีน จักรพรรดิหมิงของราชวงศ์ตงฮั่นทรงมีรับสั่งให้สร้างวัดไป๋หม่า(ม้าขาว)ที่นอกเมืองลั่วหยาง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของฮั่นตะวันออก เมื่อได้ยินว่า ในพุทธศาสนามีประเพณีจุดไฟประทีบบูชาพระบรมสารีริกธาตในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย จึงมีพระบรมราชโองการให้จุดโคมไฟทั้งในวังและวัด เพื่อแสดงความเคารพบูชาพระพุทธเจ้า และให้ขุนนางและประชาชนจุดโคมไฟด้วย ต่อจากนั้นมา ก็ค่อยๆ กลายเป็นประเพณีของเทศกาลหยวนเซียนหรือเทศกาลโคมไฟ

 

นอกจากบวงสรวงเทพเจ้าแล้ว ในวันเทศกาลโคมไฟนี้ ชาวจีนยังนิยมปล่อยโคมลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วย เพราะสมัยโบราณ เมื่อเกิดภัยอันตราย ชาวบ้านจะรีบหนีเอาตัวรอดก่อน พอถึงสถานที่ปลอดภัยแล้ว จึงจะปล่อยโคมลอยเพื่อส่งสัญญาณว่าปลอดภัยให้ญาติมิตรรับทราบ ดังนั้น โคมลอยจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า โคมไฟมงคล หรือโคมไฟแห่งความสงบสุข ปัจจุบัน ผู้คนมักเขียนคำอวยพรหรือคำอธิษฐานไว้บนโคมลอย หวังว่าโคมลอยที่ปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า จะนำความหวังมาให้กับชาวโลก

เล่ากันว่า สมัยราชวงถัง จักรพรรดิถังไท่จงส่งเสริมให้ประชาชนขยันเรียนหนังสือ ให้ประชาชนส่งลูกไปเข้าเรียนในสถานศึกษา และในวันแรกหรือวันเปิดเทอม เด็กทุกคนจะต้องถือโคมไฟมาโรงเรียน และขอให้ครูอาวุโสเป็นผู้จุดโคมไฟขึ้น เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่า จะมีอนาคตที่สดใสดีงาม

ปัจจุบัน โคมไฟของจีนมีรูปแบบหลากหลายยิ่งขึ้น มีทั้งโคมไฟรูปสัตว์ เช่น โคมไฟมังกร โคมไฟเสือ โคมไฟกระต่าย และปีนี้เป็นปีวอก ไม่ว่าไปไหนก็จะเห็นโคมไฟรูปลิงมากมายหลายแบบ นอกจากนี้ ยังมีโคมไฟหมุน ซึ่งมักเป็นโคมไฟที่มี 8 ด้าน แต่ละด้านวาดภาพตามนิทานพื้นบ้านหรือบทกวีโบราณ หรือเขียนคำปริศนาให้ผู้ชมทาย ในบางพื้นที่ยังมีกิจกรรมชมโคมไฟ และเมื่อโคมไฟถูกเผาหมด จะหมายถึงทิ้งของเก่าของไม่ดีให้หมดสิ้นไป เพื่อต้อนรับสิ่งดีสิ่งใหม่ในปีใหม่

เทศกาลหยวนเซียวเป็นวันปิดท้ายเทศกาลตรุษจีน ทุกครอบครัวจะต้องรับประทานหยวนเซียว(บัวลอย) ต้อนรับเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง เที่ยวงานโคมไฟและเล่นทายปริศนา และแน่นอนว่าการจุดประทัดเป็นกิจกรรมสำคัญที่นิยมทำกันด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมพื้นเมืองอื่นๆ เช่น ทำกระดาษตัด เล่นกระบองหึ่ง การพันเชือก เชิดหนังตะลุง ระบำยังเกอ และการเดินบนไม้ต่อขา ซึ่งล้วนสร้างความสนุกสนานเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนทั่วไป

 

บางคนอาจยังไม่ทราบว่า เทศกาลหยวนเซียวเป็นหนึ่งในเทศกาลที่โรแมนติกที่สุดของจีนด้วย ในสมัยโบราณ หนุ่มสาวที่ยังไม่แต่งงาน ไม่มีโอกาสเจอกันข้างนอกได้อย่างเสรี เพราะหญิงสาวถูกห้ามออกนอกบ้าน ยกเว้นในช่วงเทศกาลสำคัญๆ อย่างเทศกาลหยวนเซียวเนื่องจากมีงานโคมไฟ หนุ่มสาวทุกคนจึงมีข้ออ้างที่ดีที่สุดว่า จะไปดูโคมไฟ และพ่อแม่ก็อนุญาตด้วย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีให้หนุ่มสามเจอกัน และรู้จักกัน จึงถือได้ว่าเป็นวันวาเลนไทน์ของจีน

การฉลองปีใหม่แต่ละพื้นที่แต่ละชนเผ่าก็มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ไม่ว่าจัดกิจกรรมอะไรในรูปแบบไหน ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือเพื่อให้มีความสงบสุขและอยู่ดีกินดีในปีใหม่ ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง มีความสุขทั้งครอบครัว และร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไปในปีใหม่นี้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040