อินทนิล อินไชน่า : ติดแรง บาปนะ
  2016-03-22 17:11:18  cri

คุณลุงสุชาติ ภูมิบริรักษ์ อดีตบรรณาธิการ นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญไทย ในวัย 89 ปีอยู่ปักกิ่งมากว่า 50 ปี ความจำยังดีมาก เคล็ดลับคืออ่านและเขียนหนังสือตลอด คุณลุงเล่าว่าเมื่อก่อนเขียนแล้วแทบไม่ต้องแก้ไข แต่ตอนนี้รู้สึกว่าต้องแก้ไขหลายครั้งแถมยังไม่ค่อยถูกใจ ความกระฉับกระเฉงว่องไวมันถูกพรากไปทีละน้อยแทนที่ด้วยความเชื่องช้า แต่ก็ต้องเข้าใจและพอใจกับมัน อย่าไปหงุดหงิดเป็นอันขาด เพราะถ้าหงุดหงิดแล้วตัวเราเองก็จะขาดความสุขคนรอบข้างยิ่งวุ่นวายยิ่งทุกข์ไปกันใหญ่ ต้องเข้าใจธรรมชาติของสังขาร เราก็จะอยู่อย่างมีความสุข คุณลุงเป็นตัวอย่างของผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่มีปัญหาสุขภาพหนัก ๆ จนต้องนอนอยู่กับพี่ แถมยังเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี ในวัยขนาดนี้ยังอยู่กันเพียงลำพังกับศรีภรรยาวัยใกล้ 80 ปีอย่างมีความสุขโดยมิต้องพึ่งพาบริการดูแลผู้สูงอายุแต่อย่างใด ความที่อยู่จีนมานานคุณลุงเล่าว่าได้เรียนรู้วิถีการกินการอยู่การใช้ชีวิตของคนจีนที่เขาเน้นสุขภาพเป็นสำคัญและได้นำมาปฏิบัติ หากผู้สูงวัยทุกคนมีสุขภาพดีอย่างนี้ก็คงดีไม่เฉพาะผู้สูงวัยเอง แต่ดีสำหรับครอบครัว สังคม และประเทศชาติด้วย แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนี้

จีนเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ข้อมูลจากคณะกรรมการประชากรผู้สูงอายุแห่งชาติจีนระบุ จนถึงสิ้นปี ค.ศ.2014 จีนมีประชากรผู้สูงอายุ 212 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.5 ของประชากรทั้งหมด ตามเกณฑ์ของสหประชาชาติหากประเทศใดมีประชากรสูงอายุกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าประเทศนั้นกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดว่า ปี ค.ศ2020 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 จีนจะมีประชากรสูงอายุ 240 ล้านคน และอีก 3 ปีให้หลังจะเพิ่มเป็น 300 ล้านคน และถึงปี ค.ศ 2033 จะมีประชากรสูงอายุมากถึง 400 ล้านคน มาดูไทยกันบ้างไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 โดยมีประชากรสูงวัยร้อยละ 10.7 และจากการสำรวจสำมะโนประชากร เมื่อปี 2010 ประชากรผู้สูงวัยได้เพิ่มเป็นร้อยละ 12.3 ของประชากรทั้งหมด เฉพาะในกรุงเทพมหานครประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2012 มีประชากรสูงวัยร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด จากข้อมูลของสหประชาชาติ ประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่ 3 ในเอเชียที่โครงสร้างประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว(รองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้)โดยในปี ค.ศ.2030 ประชากรสูงวัยจะเพิ่มเป็นร้อยละ 19.5 ของประชากรทั้งหมด

ในปักกิ่งเราจะเห็นผู้สูงอายุรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายมาก ถ้าอยากดูต้องตื่นแต่เช้าแล้วไปตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างสวนสาธารณะในชุมชน หรือสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่มีอยู่หลายสิบแห่ง จะเห็นผู้สูงอายุออกจากบ้านมาออกกำลังกาย สูดอากาศอันบริสุทธิ์ บ้างก็รวมกลุ่มกันร้องรำทำเพลง เล่นไพ่นอกกระจอก คนไหนที่เดินไม่ไหวก็นั่งในรถเข็นทั้งชนิดที่เข็นเองและมีคนเข็นให้ พอสายหน่อยก็จะแยกย้ายกันไป ส่วนหนึ่งกลับเข้าบ้าน ขณะที่ส่วนหนึ่งอาจจะเดี่ยวหรือเกาะกลุ่มพากันไปซื้อของที่ซุเปอร์มาเก็ตหรือตลาดสด ซุเปอร์มาเก็ตที่เป็นของคนจีนเองเข้าใจและเอาใจลูกค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษเพราะช่วงเช้าลูกค้ากลุ่มอื่นยังไม่ค่อยเข้ามาซื้อของเพราะต้องไปเรียนต้องไปทำงาน ช่วงเช้าที่เพิ่งเปิดขายได้ลูกค้ากลุ่มชราชนจึงเป็นเรื่องดีไม่น้อย ลูกค้ากลุ่มนี้มีเวลาเหลือเฟือในการเลือกสินค้า ภาพชินตาคือผู้สูงวัยจะพากันไปยืนเลือกถั่วลิสง ถั่วเขียว เลือกพุทรา กุ้งแห้ง กุ้งแช่แข็ง ไข่ ฯลฯ เลือกกันทีละเม็ดทีละลูกทีละตัวทีละฟองเฟ้นจนพอใจ ฝั่งซุเปอร์มาเก็ตเองยังมีการจัดกิจกรรมลดแลกแจกแถมเป็นพิเศษในช่วงเช้าเอาใจขาประจำกลุ่มนี้ด้วย เพราะแต่ละคนซื้อกันไม่น้อย ไม่ได้ซื้อเฉพาะของที่ตนเองกินใช้แต่ซื้อไปเผื่อสมาชิกในครอบครัวด้วย ผู้สูงวัยบางคนหลานยังเล็กไม่ไปโรงเรียนต้องเลี้ยงหลานด้วยก็จะเข็นรถเข็นเด็กไปซื้อของโดยอาศัยรถเข็นเด็กนั่นแหละเป็นที่ขนของที่ซื้อกลับบ้านด้วย สังเกตว่าเวลาซื้อของถ้าเป็นจำนวนมากจะเตรียมรถเข็นของไปด้วยแต่ถ้าซื้อไม่มากจะเตรียมถุงเป็นพวกถุงพลาสติก หรือถุงผ้ามาใส่ โอกาสที่จะเห็นผู้สูงวัยขอซื้อถุงจากซุเปอร์มาเก็ตแทบไม่มี แสดงให้เห็นถึงการประหยัด

ในสวนสาธารณะขนาดใหญ่อย่างเช่นที่สวนปาต๊าชู่ ทางตะวันตกของปักกิ่ง วันที่อากาศดี ๆ ตั้งแต่เช้าตรู่ประตูสวนยังไม่เปิดผู้สูงอายุก็ไปรอกันหนาตาแล้ว จากการสอบถามผู้สูงอายุคุณยายแซ่จางวัย 74ปีเล่าว่ามาที่นี่เป็นประจำแทบทุกเช้า มาจนเดี๋ยวนี้มีเพื่อนเยอะและคุ้นกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสวนแล้ว มาออกกำลังกายพอเหนื่อยก็หยุดนั่งเล่นไพ่บ้าง คุยกับเพื่อนบ้าง อยู่บ้านมันเหงาลูกไปทำงาน หลานไปโรงเรียน มาที่นี่มีเพื่อนคุย พักแล้วค่อยกลับบ้านไปกินข้าวเที่ยง ช่วงบ่ายก็นอนพัก รอให้เย็นหน่อยค่อยลงไปเดินที่สวนในชุมชนอีกรอบ

ชราชนเหล่านี้ยังมีแรงที่จะดูแลตัวเองได้ดีแถมมีเผื่อแผ่ไปถึงคนรุ่นหลัง ๆในครอบครัวได้ด้วย ถ้าวันหนึ่งท่านเหล่านี้หมดกำลังที่จะดูแลตนเองได้ด้วยวัยที่สูงขึ้น คนรุ่นหลัง ๆ ก็จะขยับขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล ว่ากันตามจริงแล้วการดูแลก็คือการเอาแรงกัน ตอนเราเป็นเด็กเล็กพอแม่ดูแลเลี้ยงดูเราอย่างดีจนเติบใหญ่ พอท่านไม่ไหวเราก็ไปใช้แรงไปดูแลให้ท่านมีความสุขจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ไม่งั้นติดแรงท่านไม่ใช้คืน ทำกินไม่ขึ้น บาปนะเออ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040