ภาพเขียนของทั้งอาจารย์ลูกศิษย์กลายมาเป็นที่นิยมในเวลาอันรวดเร็วครับ โดยเฉพาะตัวอาจารย์สวี เจี้ยนเองที่มีชื่อเสียงมากขึ้น เรียกได้ว่าดังไกลถึงต่างแดนทีเดียวเชียว
"ช่วงปี 1980 ผมย้ายไปอาศัยอยู่ฮ่องกง แล้วก็จะไป ๆ กลับ ๆ เพื่อมาเยี่ยมครูบ่อย ๆ กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2 ปีให้หลัง ครูผอมซูบและป่วยหนักกว่าเดิมมาก ผมขอครูถ่ายรูปคู่ขณะสวมกอด ซึ่งนั่นก็เป็นภาพถ่ายชิ้นสุดท้ายระหว่างผมกับท่าน"
ถึงตรงนี้ภรรยาอาจารย์สวี ก็เดินเข้ามาพอดีครับ แกเอาขนมนมน้ำมาให้ประทังชีพ สงสัยดูลาดเลาแล้วว่าการสัมภาษณ์น่าจะยืดยาวเป็นพิเศษ แกเสริมด้วยครับว่าช่วงที่อาจารย์หวังจากโลกนี้ไป ก็อาจารย์สวีนี่แหละที่เข้าไปทำความสะอาดเช็ดตัวอาจารย์หวังนานหลายชั่วโมง เหล่าบุคคลที่ชื่นชมในผลงานของท่านหรือแม้แต่ลูกศิษย์ลูกหาคนอื่น ๆ ต่างก็ซึ้งใจในความรักระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์คู่นี้ มีคนบอกให้อาจารย์สวี เก็บเส้นผมและขนคิ้วของอาจารย์หวังไว้เป็นที่ระลึก หากอยากจะพูดอะไรด้วยก็เขียนลงบนกระดาษแล้วยัดใส่กระเป๋าเสื้ออาจารย์ ซึ่งอาจารย์สวีก็เขียนประโยคสั้น ๆ ว่า "ขอให้อาจารย์กลับมาสอนผมวาดภาพในฝัน"
อาจารย์สวีใช้เวลาช่วงปี 2006-2010 เกือบ ๆ 5 ปี สร้างหอรำลึกอาจารย์หวัง เสว่เทา และหมดเงินจำนวนมากตามซื้อผลงานของอาจารย์ที่เคยขายทอดตลาดไปแล้วกลับคืนมา ในหอระลึกฯ จึงมีผลงานของอาจารย์หวังสะสมอยู่หลายสิบชิ้น รวมไปถึงกระทั่งจะหมายระหว่างอาจารย์สวี เจี้ยนและอาจารย์หวัง เสว่เทาที่เขียนถึงกัน อาจารย์สวี บอกว่า
"ถึงผมจะจนยังไง ครูก็ไม่เคยดูถูกผม มีแต่ส่งเสริมผมในทางที่ดี ทุกวันนี้ผมใช้เงินตัวเองที่ได้จากการขายภาพ ไปซื้อภาพต้นฉบับของครูกลับมาเก็บไว้ เพื่อตอบแทนบุญคุณที่ท่านให้จนทำให้ผมมีวันนี้"
เมื่อพูดถึงความสำเร็จในอาชีพ อาจารย์สวีถือได้ว่าเป็นจิตรกรที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยครับ 21 ปีก็สามารถขายภาพเขียนได้ในราคาสูงแล้ว ยิ่งช่วงชีวิตอาจารย์พอเข้าเลขสามนี่สุด ๆ จริง ๆ อาจารย์เล่าว่าตอนอายุได้ 31 ภาพเขียนอาจารย์ถูกนำมาใช้เป็นของขวัญของแผ่นดินที่มอบให้แก่เหล่านักการทูตประเทศต่าง ๆ และตอนอายุ 33 สมาคมศิลปะวรรณคดีจีนและคณะกรรมการที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีนถึงกับเดินทางมาขอภาพเขียนอาจารย์นำไปจัดนิทรรศที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ นิทรรศการครั้งนั้นทำให้อาจารย์ขึ้นแท่นเป็นจิตรกรแถวหน้าของประเทศโดยปราศจากข้อกังขา และตัวอาจารย์เองยังได้จัดนิทรรศอีกหลายครั้งหลังจากนั้นทั้งในและต่างประเทศ จนมาถึงครั้งสำคัญที่สุดก็คือการเปิดบ้านและหอรำลึกอาจารย์หวังต้อนรับคณะทูตานุทูตทั่วโลกเมื่อปี 2012 งานนี้จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับต่างนานาประเทศด้วยภาพเขียนรูปนกและดอกไม้ประจำชาติครับ แน่นอนว่าของประเทศไทยผมก็ไปถ่ายมาให้ได้ยลกัน เป็นภาพของ "ต้นราชพฤกษ์" และ "ไก่ฟ้าพญาลอ" เสียดายจริง ๆ ที่พอพูดถึงตรงนี้ ภรรยาอาจารย์ก็ตามให้ไปทานอาหารกลางวันอีกครั้ง ผมจึงสัมภาษณ์อาจารย์ได้เพียงเท่านี้ (ลิสต์คำถามในมือยังมีอีกเพียบ) แต่เชื่อว่าข้อมูลของงานคงมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยสื่อใหญ่ ๆ ของจีนแน่นอนครับ หากคุณผู้อ่านท่านใดสนใจก็สามารถลองสืบค้นต่อได้
เท่าที่ได้อ่านกัน คิดเหมือนกันไหมครับว่าเส้นทางชีวิตของอาจารย์สวีฝ่าฟันและผ่านมันมาได้ก็ด้วยพรสวรรค์ของตัวเองและการมีคนคอยชี้ทางอย่างอาจารย์หวัง มนุษย์เราหากยิ่งรู้ตัวไวว่าชอบสิ่งไหน ก็ยิ่งจะทำให้ชีวิตประสบพบเจอกับความสุขได้ไวกว่าคนอื่น ความรู้ของอาจารย์ทำให้อาจารย์ได้ทำในสิ่งที่รัก และได้สร้างชื่อเสียงตอบแทนให้กับแผ่นดินเกิดพร้อมกันไป ผมว่าเป็นบุคคลที่ควรยกย่องจริง ๆ ติดตามกันต่อไปเรื่อย ๆ นะครับ หากได้พบเจอกับชาวจีนที่น่าสนใจคนไหน ผมไม่ลืมจะนำมาฝากทุก ๆ ท่านที่นี้แน่นอน แล้วพบกันสัปดาห์หน้า สวัสดีครับ