นักซ่อมหนังสือโบราณจีน(2-2)
  2017-02-15 14:58:00  cri

การซ่อมหนังสือโบราณเป็นการพูดคุยกับนักซ่อมหนังสือรุ่นก่อน

พัน เฟยกล่าวว่า เวลาซ่อมหนังสือต้องทำความรู้จักกับหนังสือที่จะซ่อมก่อน เหมือนคบกับเพื่อนใหม่คนหนึ่ง เมื่อซ่อมเสร็จแล้ว เธอจะกล่าวกับหนังสือว่า โอเค ฉันซ่อมคุณให้เรียบร้อยแล้ว บางทีเนื้อหาของหนังสือน่าสนใจ พัน เฟยก็ซ่อมไปอ่านไป และเธอพบว่าเรื่องบางเรื่องคนสมัยโบราณกับคนปัจจุบันก็มีแนวคิดเหมือนกัน เธอยกตัวอย่างว่า เมื่อสองสามวันก่อน เธอกำลังซ่อมหนังสือสมัยราชวงศ์หยวนเล่มหนึ่ง ซึ่งในหนังสือก็ระบุว่าควรแต่งงานช้าๆ ซึ่งแนวคิดนี้ก็เป็นที่นิยมกันของคนจีนรุ่นใหม่

หลี่ อี้ตงเห็นว่า การซ่อมหนังสือเหมือนกับการพูดคุยกับนักซ่อมหนังสือรุ่นก่อน เขากล่าวว่า นักซ่อมหนังสือสมัยโบราณก็มีบางคนไม่ค่อยจริงจัง อย่างเช่น ถ้าหนังสือขาดเป็นรู ก็ต้องตัดกระดาษให้มีขนาดเหมาะสมมาซ่อม กระดาษที่ตัดเพื่อใช้ซ่อมนั้นต้องมีขนาดพอเหมาะ และเกินขนาดรูไม่ถึง 1 มิลลิเมตร ถ้าใหญ่กว่านี้ก็ดูไม่สวย และทำให้หนังสือไม่ราบเรียบด้วย แต่นักซ่อมหนังสือสมัยโบราณบางคนก็ติดรูด้วยกระดาษใหญ่มากแผ่นหนึ่งไปเลย หลี่ อี้ตงกล่าวว่า สิ่งที่พวกเขากลัวที่สุดก็คือเมื่อนักซ่อมหนังสือรุ่นก่อนไม่จริงจัง พวกเราก็ยังต้องทำงานด้วยความรับผิดชอบ จะได้ไม่ถูกนักซ่อมหนังสือรุ่นหลังตำหนิเอา

ในอดีตนั้น การซ่อมหนังสือโบราณเป็นวิชาที่ครูสอนลูกศิษย์แบบมือต่อมือ เป็นการสืบทอดฝีมือรุ่นต่อรุ่น ไม่ได้เป็นวิชาที่สอบกันที่โรงเรียน จนถึงทุกวันนี้ ระบบแบบนี้ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้ที่ห้องสมุดแห่งชาติจีน คนรุ่นใหม่เมื่อเข้าทำงานแล้ว ก็ต้องจัดพิธีไหว้ครู แต่ในอนาคตการเปิดสอนวิชาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะเป็นกระแสหลักของระบบการเรียนการสอนวิชานี้

เฉิน เอี้ยนหง ผู้อำนวยการหอหนังสือโบราณแห่งหอสมุดแห่งชาติจีนกล่าวว่า ในอดีตนั้น นักซ่อมหนังสือโบราณถูกมองว่าเป็นช่างทั่วไป ไม่ได้รับความสำคัญอย่างสูง และการขอตำแหน่งวิชาการก็ค่อนข้างยาก จึงยากที่จะรับสมัครบุคลากรที่มีศักยภาพ แต่ทุกวันนี้ วัยรุ่นที่เข้ามาใหม่ส่วนใหญ่ได้รับการอบรมทางวิชาการ และเป็นปริญญาโทด้วย พวกเขานอกจากเรียนรู้จากครูผู้มีประสบการณ์ที่นี่แล้ว หากยังสามารถเอาความรู้วิชาการที่ได้เรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยมาประยุกต์ใช้ในการทำงานด้วย อย่างเช่น ใช้กล้องขยายวิเคราะห์เส้นใยกระดาษ ใช้ความรู้ทางเคมีวิเคราะห์ส่วนประกอบของรงควัตถุ ซึ่งสมัยก่อนเราทำไม่ได้ นี่เป็นข้อดีเด่นของวัยรุ่น

เมื่อปี 2006 คือประมาณกว่า 10 ปีก่อน จีนมีหนังสือโบราณกว่า 10 ล้านเรื่อง แต่มีนักซ่อมหนังสือเพียงไม่ถึง 100 คน ถ้าเป็นสภาพแบบนี้ต่อไป ต้องใช้เวลาประมาณ 1,000 ปีจึงซ่อมหนังสือโบราณให้หมดได้ แต่ช่วงที่ซ่อมหนังสืออยู่ หนังสือบางเรื่องก็จะขาดไปอีก การซ่อมหนังสือจึงเป็นกิจการที่ต้องทุ่มเทตลอดไป

หลี่ อี้ตงกล่าวว่า การมาทำงานที่หอสมุดแห่งชาติจีนเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะเขาเห็นว่า ของก๊อปกับของจริงนั้นแม้จะทำได้เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ขาดจิตวิญญาณ เมื่อจับของจริงแล้ว คุณจะได้สัมผัสถึงเส้นใยของกระดาษ ความขรุขระและความราบเรียบของกระดาษ นี่เป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถได้จากของก๊อป สิ่งของที่จับได้นั้น เราไม่รู้เลยว่าคุณค่าของมันมีมากเท่าไหร่ เราต้องอนุรักษ์ไว้อย่างดี

สมัยเด็ก หลี่ อี้ตงมีความฝันว่า โตขึ้นแล้วจะเป็นศิลปิน ศิลปินต้องการความสร้างสรรค์ แต่การซ่อมหนังสือสร้างสรรค์ไม่ได้ เพราะความสร้างสรรค์เมื่อใช้กับหนังสือโบราณแล้วจะเป็นการทำลายวัตถุโบราณ แต่หลี่ อี้ตงก็ไม่รู้สึกเสียใจ เขาเห็นว่าการที่ตนเองสามารถอนุรักษ์สิ่งของที่ตกทอดลงมาหลายต่อหลายรุ่นได้นั้น ก็เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง

(Yim/cici)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040