第四课:你家有几口人?
บทที่ 4: บ้านคุณมีกี่คน
ครอบครัว
ครอบครัวชาวจีนสมัยโบราณ
ตามขนบจารีตประเพณีในสมัยโบราณของจีน ผู้คนจะยกย่องเชิดชูครอบครัวใหญ่หรือครอบครัวขยาย การแยกออกไปตั้งครอบครัวใหม่จึงถือเป็นเรื่องน่าละอาย ครอบครัวในอุดมคติของคนในสมัยนั้นจะต้องมีสมาชิกในครอบครัวสี่หรือห้ารุ่นอยู่รวมในบ้านเดียวกัน คือ รุ่นอาวุโสกว่า ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า และรุ่นอ่อนอาวุโสกว่าได้แก่ รุ่นลูกและรุ่นหลาน ระบบการปกครองภายในครอบครัวใหญ่นี้คือระบบอาวุโสและถือลำดับรุ่นของสมาชิกในครอบครัวอย่างเคร่งครัด หัวหน้าครอบครัวมีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการเรื่องราวต่างๆ ภายในครอบครัว โดยที่ผู้อ่อนอาวุโสนั้นไม่มีสิทธิแสดงความเห็นหรือตัดสินใจ
"เลี้ยงดูผู้น้อย ผดุงผู้เฒ่า" เป็นรูปแบบการเลี้ยงดูผู้เฒ่าผู้แก่ของครอบครัวจีนสมัยโบราณ ชาวจีนถือว่าพ่อแม่นั้นให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่ เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่า ลูกๆ ก็ควรแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการเลี้ยงดูบุพการีในยามที่ท่านแก่เฒ่า
ครอบครัวชาวจีนในปัจจุบัน
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังปี ค.ศ. 1949 ครอบครัวของชาวจีนเปลี่ยนแปลงไปมาก นับวันรูปแบบของครอบครัวชาวจีนก็ยิ่งหลายหลากขึ้น โดยมีแนวโน้มค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นครอบครัวขนาดเล็กหรือครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ปัจจุบันการแยกครอบครัวออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยวกลายเป็นทางเลือกแรกของคนหนุ่มสาวทั้งในเมืองและชนบท โดยมากครอบครัวในเมืองจะประกอบขึ้นด้วยสามีภรรยาและลูกหนึ่งหรือสองคน ส่วนในชนบทนั้น ครอบครัวจำนวนไม่น้อยยังคงสภาพครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกสามรุ่นหรือสามรุ่นขึ้นไปอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน
ชาวจีนถือจารีตประเพณีในการนับถือผู้อาวุโสและให้ความรักความเมตตาแก่ผู้น้อยมาแต่โบราณ แม้ว่าในสังคมปัจจุบันจะมีครอบครัวจำนวนมากที่พ่อแม่และลูกที่เจริญวัยแล้วไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ก็ยังมีการไปมาหาสู่ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ และในทางกฎหมายถือว่าลูกที่บรรลุนิติภาวะแล้วมีหน้าที่เลี้ยงดูบิดามารดา ความรักความผูกพันในครอบครัวและวงศ์ตระกูลของชาวจีนนั้นแน่นแฟ้นมาก นอกจากเราจะเห็นชาวจีนไปมาหาสู่กับพ่อแม่และลูกของตนแล้ว เรายังสามารถสัมผัสถึงความอบอุ่นของสายสัมพันธ์ในหมู่พี่น้อง น้าหลาน อาหลาน รวมไปถึงในหมู่เครือญาติอื่นๆ ทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ด้วย
เจียผู่ (บันทึกลำดับการสืบเชื้อสายประจำตระกูล)
เจียผู่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมเฉพาะอย่างหนึ่งของจีนและถือเป็นหนึ่งในสามบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญของชนชาติจีน (ได้แก่ "กว๋อสื่อ" ประวัติศาสตร์ชาติจีน, "ตี้จื้อ" บันทึกทางภูมิศาสตร์ และ "เจียผู่ " บันทึกลำดับการสืบเชื้อสายประจำตระกูล) เจียผู่ จึงเป็นข้อมูลทางมนุษยศาสตร์อันสูงค่ายิ่ง เจียผู่ (หรือเรียกว่า "จู๋ผู่") เป็นบันทึกแบบตารางซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสืบเชื้อสายตามความสัมพันธ์ทางสายเลือดและเรื่องราวของบุคคลสำคัญในตระกูล
เนื้อหาสำคัญของเจียผู่ ประกอบด้วยสามส่วน ส่วนแรกคือแผนภูมิการสืบสายตระกูล กล่าวคือเป็นเนื้อหาที่บันทึกว่าคนคนหนึ่งในตระกูลสืบเชื้อสายมาจากใคร นับเป็นลำดับรุ่นที่เท่าไหร่ บิดาของผู้นั้นคือใคร ส่วนที่สองเป็นเนื้อหาหลักของเจียผู่ เนื้อหาส่วนนี้จะแนะนำคนในตระกูลทีละคนตามลำดับก่อนหลังในแผนภูมิแสดงลำดับการสืบสายตระกูล โดยจะแนะนำรายละเอียดต่างๆ ของแต่ละคน เช่น ชื่อและสมญานาม ชื่อบิดา ลำดับพี่น้อง ยุคสมัยที่ดำรงชีวิตอยู่ ตำแหน่งขุนนาง บรรดาศักดิ์ อายุขัย วันถึงแก่กรรมและคู่สมรส เป็นต้น เนื้อหาส่วนที่สองของเจียผู่ จึงมีลักษณะเป็นชีวประวัติของคนในตระกูล จำนวนตัวอักษรที่ใช้ในการแนะนำบุคคลแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ที่แนะนำยาวจะใช้ตัวอักษรประมาณห้าสิบกว่าตัว ส่วนที่แนะนำสั้นๆ จะใช้ตัวอักษรเพียงสองสามตัวเท่านั้น สำหรับเนื้อหาส่วนที่สามเป็นภาคผนวก
ในการเรียบเรียงเจียผู่ บางเล่มจะมีการเรียงลำดับรุ่นอย่างชัดเจนตามชื่อของแต่ละรุ่นในสายตระกูลซึ่งได้ตั้งไว้ก่อนแล้ว ในชนบทจะเรียกวิธีการเรียบเรียงนี้ว่า "ไผเป้ย" ซึ่งหมายถึงการเรียงลำดับตามรุ่นนั่นเอง เนื่องจากสังคมจีนโบราณถือชายเป็นใหญ่ ดังนั้นในการตั้งชื่อเด็กชายจะต้องใช้ตัวอักษรที่กำหนดให้เป็นชื่อรุ่นประกอบในชื่อของเด็กชายด้วยเสมอ สำหรับชื่อที่มีสามตัวอักษร ตัวอักษรที่เป็นชื่อรุ่นอาจใช้เป็นตัวกลางหรือตัวท้ายของชื่อก็ได้ ตำแหน่งของตัวอักษรชื่อรุ่นนี้ไม่กำหนดตายตัว แต่ละรุ่นอาจวางในตำแหน่งที่ต่างกัน แต่ทั้งนี้ก็มีธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติต่อๆ กันมา
ชนชาติ
จีนเป็นประเทศที่ประกอบด้วยหลายหลากชนชาติ ชนชาติทั้งหมด 56 ชนชาติของจีนต่างอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ในบรรดาชนชาติทั้งหมดชาวฮั่นมีจำนวนมากที่สุดถึงร้อยละ 91.59 ของจำนวนประชาการทั้งหมด ชาวฮั่นจึงกลายเป็นสมาชิกหลักของครอบครัวใหญ่แห่งชนชาติจีน ชนชาติฮั่นเป็นชนชาติที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างชนชาติจีนโบราณและชนชาติอื่นๆ มาเป็นระยะเวลายาวนาน นอกจากนี้ยังมีการกลืนเอาชนชาติส่วนน้อยต่างๆ เข้ามาตลอดช่วงวิวัฒนาการของชนชาติ และท้ายสุดได้พัฒนากลายเป็นชนชาติฮั่นในปัจจุบันซึ่งกระจายอยู่ตามพื้นที่ส่วนใหญ่ของจีนและอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกกว่าสิบล้านคน
ชนชาติที่เหลือของจีนอีก 55 ชนชาติเรียกรวมว่า ชนชาติส่วนน้อย ชนชาติส่วนน้อยมีจำนวนประชากรทั้งหมด 106,430,000 คน คิดเป็นร้อยละ 8.41 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถึงแม้ว่าจำนวนชนชาติส่วนน้อยจะมีไม่มาก แต่ก็กระจายตัวอาศัยอยู่ในบริเวณกว้าง โดยพื้นที่ที่ชนชาติส่วนน้อยอาศัยอยู่คิดเป็นร้อยละ 50-60 ของเนื้อที่ทั้งหมดของจีน ชนชาติส่วนน้อย 55 ชนชาติประกอบด้วยชนชาติมองโกล หุย ธิเบต อุยกูร์ แม้ว อี๋ จ้วง ปู้อี เกาหลี หม่าน ต้ง ไป๋ ถู่จยา ฮาหนี คาร์ซัค ไต ลี่ซู่ หว่า เซอ เกาซาน ลาฮู่ สุ่ย ตงเซียง น่าซี จิ่งปัว เคอร์กิซ ถู่ คาร์วอ มู่เหล่า เชียง ปู้หล่าง ซาลา เหมาหนาน เกอเหล่า ซีป๋อ อาชัง ผูหมี่ ทาจิก นู่ รัสเซีย อุซเบก เย้า หลี โอเวนค์ เต๋ออัง ป่าวอัน อีว์กู้ จิง ทาทาร์ ตู๋หลง ออโรเควน เห้อเจ๋อ เหมินปา จีนั่ว ลั่วปา บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนมีชนชาติส่วนน้อยอาศัยอยู่ 20 กว่าชนชาติ แต่ละชนชาติมีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตน แต่ละปีจะมีเทศกาลของชนชาติต่างๆ รวมกว่า 1,000 เทศกาล ส่วนใหญ่เทศกาลสำคัญมักจะอยู่ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว
ชนชาติฮั่นมีภาษาและตัวอักษรเป็นของตนเอง นั่นก็คือภาษาฮั่นหรือภาษาจีนกลางซึ่งใช้เป็นภาษากลางของประเทศจีนในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารในระดับนานาชาติภาษาหนึ่งด้วย ในบรรดาชนชาติส่วนน้อย 55 ชนชาตินั้น มีสองชนชาติคือหุยและหม่านที่ใช้ภาษาจีนกลางในการสื่อสาร ส่วนอีก 53 ชนชาติที่เหลือต่างก็ใช้ภาษาของตน และมี 21 ชนชาติที่มีตัวอักษรของตัวเอง รวมจำนวนตัวอักษรที่ใช้ทั้งหมดมี 27 ชนิด