第八课:请慢一点儿说。
บทที่ 8: ช่วยพูดช้าหน่อยได้ไหม
ตัวอักษรจีนและภาษาถิ่น
ตัวอักษรจีนเป็นระบบตัวอักษรที่เก่าแก่และมีคนใช้มากที่สุดในโลกระบบหนึ่ง จากหลักฐานข้อมูลเท่าที่ขุดค้นพบได้ในปัจจุบันยืนยันว่า ตัวอักษรจีนมีประวัติความเป็นมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี นับจากตัวอักษรเจี่ยกู่หรือตัวอักษรซึ่งสลักบนกระดองเต่าในสมัยราชวงศ์ซาง ตัวอักษรเจี่ยกู่เป็นอักษรภาพเลียน(เซี่ยงสิงจื้อ) ทั้งยังเป็นตัวอักษรที่แสดงเสียงด้วย ทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้ตัวอักษรภาพเลียนจำนวนหนึ่งซึ่งแลดูพริ้วไหวเสมือนจริงในระบบตัวอักษรจีน
ปัจจุบันระบบตัวอักษรจีนแบ่งออกเป็นสองระบบใหญ่ได้แก่ ระบบตัวเต็มและระบบตัวย่อ ระบบตัวเต็มเป็นระบบที่ใช้ในไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊าและกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนระบบตัวย่อเป็นระบบที่ใช้ในจีนแผ่นดินใหญ่ มาเลเซีย สิงคโปร์และกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าระบบการเขียนของสองระบบนี้จะต่างกัน แต่สำหรับตัวอักษรที่ใช้บ่อยนั้นมีจำนวนตัวอักษรที่แตกต่างกันไม่ถึง 25% นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและเกาหลีก็ได้รับเอาระบบตัวอักษรจีนไปใช้ในภาษาของตนตั้งแต่สมัยโบราณ ระบบตัวอักษรจีนในภาษาญี่ปุ่นเป็นระบบตัวอักษรที่ได้ถูกปรับย่อแล้ว แต่ก็มีตัวอักษรบางส่วนที่ยังคงวิธีการเขียนแบบอักษรจีนโบราณเอาไว้ ส่วนระบบตัวอักษรจีนในภาษาเกาหลีนั้นถือว่ามีวิธีการเขียนที่ใกล้เคียงกับวิธีเขียนแบบจีนโบราณมากที่สุด โดยทั่วไปตัวอักษรจีนหนึ่งตัวจะมีหลายความหมายและมีความสามารถในการประกอบคำสูงมาก ทั้งตัวอักษรบางตัวยังสามารถเป็นคำได้ด้วยตัวเอง คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ตัวอักษรจีนมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง การใช้ตัวอักษรที่ใช้บ่อยเพียงประมาณ 2,000 ตัวก็สามารถครอบคลุมการใช้ตัวอักษรในภาษาเขียนได้มากกว่า 98% นอกจากนี้ตัวอักษรจีนยังมีลักษณะเฉพาะคือเป็นตัวอักษรที่แสดงความหมายและเสียง จึงทำให้ประสิทธิภาพในการรับสารโดยการอ่านตัวอักษรจีนสูงตามไปด้วย และเมื่อเทียบตัวอักษรจีนกับตัวอักษรระบบสะกดคำในปริมาณที่เท่ากัน ตัวอักษรจีนจะสามารถถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารได้มากกว่า
ภาษาจีนเป็นภาษาในตระกูลจีน-ทิเบต ในภาษาจีนมีภาษาถิ่นมากมาย ปัจจุบันได้มีจัดหมวดหมู่ของภาษาถิ่นต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นเขตภาษาถิ่น 7 เขตด้วยกัน ภาษาถิ่นเหล่านี้ได้แก่ ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอู๋(ภาษาถิ่นเจียงซูและเจ้อเจียง) ภาษาถิ่นเซียง(ภาษาถิ่นหูหนาน) ภาษาถิ่นกั้น(ภาษาถิ่นเจียงซี) ภาษาถิ่นจีนแคะ(ภาษาถิ่นฮากกา) ภาษาถิ่นเย่ว์(ภาษาถิ่นกวางตุ้ง)และภาษาถิ่นหมิ่นหนาน(ภาษาถิ่นฮกเกี้ยน) ในบรรดาภาษาถิ่นทั้งเจ็ดนี้ ภาษาถิ่นเหนือเป็นภาษาถิ่นที่ชนชาติฮั่นใช้สำหรับสื่อสารมากที่สุดในปัจจุบัน และถือเอาภาษาปักกิ่งเป็นตัวแทนของภาษาถิ่นเหนือ โดยภาษาถิ่นเหนือทุกภาษาจะมีเอกภาพทางโครงสร้างภาษาค่อนข้างสูง พื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นเหนือในการสื่อสารกินเนื้อที่กว้างที่สุดเมื่อเทียบกับภาษาถิ่นอื่นๆ ประชากรที่ใช้ภาษาถิ่นเหนือมีราว 73% ของประชากรทั่วประเทศ ส่วนภาษาถิ่นที่เหลือ 6 ภาษาจะใช้สื่อสารกันทางภาคใต้ของจีน หากพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่ต่างๆ จะใช้ภาษาถิ่นต่างกัน ดังนั้นผู้คนต่างถิ่นฐานกันก็มักจะสื่อสารกันไม่เข้าใจ ทว่า ระบบตัวอักษรที่ประชาชนทั่วประเทศจีนใช้นั้นเหมือนกันทุกประการ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบตัวอักษรของภาษาถิ่นต่างๆ ของจีนมีความเป็นเอกภาพสูง ดังนั้นภาษาที่ใช้จึงถือว่าเป็นภาษาเดียวกันคือภาษาจีน
การขอร้องและขอบคุณ
ในภาษาจีนมีวิธีพูดแสดงความขอบคุณและขอโทษที่ตายตัว โดยทั่วไป เวลากล่าวขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น จะขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า "má fan……" (รบกวนช่วย...) หรือ "qǐng……" (กรุณา...) หากขอความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย เช่น ขอยืมดินสอ ถามทาง ฝากข้อความ หรือเรียกคนมารับโทรศัพท์ คนจีนมักจะไม่เพิ่มคำสุภาพเข้าไปในประโยค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาพูดกับญาติหรือเพื่อนสนิท เพราะคนจีนเชื่อว่าผู้ที่ให้ความช่วยเหลือสามารถรับรู้ถึงความขอบคุณของตน จึงไม่จำเป็นต้องพูดออกมา เมื่อคู่สนทนากล่าวว่า "xiè xie" (ขอบคุณค่ะ/ครับ) โดยทั่วไปเราจะตอบกลับไปว่า "méi shénme" (ไม่เป็นไรค่ะ/ครับ) หรือ "bú yòng xiè" (ไม่ต้องขอบคุณหรอก)
เมื่อต้องการขอร้องหรือขัดจังหวะขณะที่ผู้อื่นกำลังสนทนาอยู่ โดยทั่วไปจะพูดว่า "láo jià" (ขอโทษค่ะ/ครับ) เมื่อต้องการขอทางจะพูดว่า "jiè guāng" (ขอทางหน่อยค่ะ/ครับ) หรือ "qǐng ràng yi ràng" (ช่วยหลบทางหน่อยค่ะ/ครับ) หากต้องการถามคำถามให้เพิ่มสำนวนว่า "qǐng wèn" (ขอถามหน่อยค่ะ/ครับ) ไว้หน้าประโยค