第十四课:请问……在吗?
บทที่ 14: ขอถามหน่อย......อยู่ไหม
พิธีและธรรมเนียมปฏิบัติ 2: การรับโทรศัพท์
คนจีนส่วนใหญ่เมื่อรับโทรศัพท์จะพูดว่า "wèi! nǐ hǎo!" (ฮัลโหล สวัสดีค่ะ/ครับ) หากเป็นการรับโทรศัพท์ในที่ทำงาน จะต้องบอกชื่อหน่วยงานของตน เช่น "zhè li shì..." (ที่นี่...) และบางครั้งอาจจำเป็นต้องบอกชื่อแซ่ของผู้รับสายด้วย หากรับโทรศัพท์ที่บ้าน โดยทั่วไปผู้รับสายจะถามว่า "qǐng wèn nín zhǎo nǎ wèi?" (ต้องการพูดสายกับ(หา)ใครคะ/ครับ) หากผู้รับสายคือคนที่ผู้โทรต้องการพูดด้วยก็ให้พูดว่า "zhōng jiù shì." (ดิฉันเองค่ะ/ผมเองครับ) หากผู้รับสายไม่ใช่คนที่ผู้โทรต้องการพูดด้วย ก็ควรพูดว่า "qǐng shāo děng." (กรุณารอสักครู่ค่ะ/ครับ) จากนั้นจึงไปตามคนที่ผู้โทรต้องการพูดด้วยมารับโทรศัพท์ หากคนคนนั้นไม่อยู่ ผู้รับสายก็ควรบอกให้ผู้โทรทราบพร้อมเสนอความช่วยเหลือ เช่น "wáng xiān sheng bú zài, zhōng néng bāng nín shén me máng ma?" (คุณหวางไม่อยู่ค่ะ/ครับ ดิฉัน/ผมจะช่วยอะไรคุณได้บ้างไหมคะ/ครับ) หากผู้โทรโทรผิด ก็ควรพูดกับผู้โทรว่า "duì bu qǐ, nǐ dǎ cuò le." (ขอโทษค่ะ/ครับ คุณโทรผิดแล้ว)
เมื่อจบการสนทนาทางโทรศัพท์ ควรถามคู่สนทนาอย่างให้เกียรติว่า "qǐng wèn nín hái yǒu shén me shì qing ma?" (ไม่ทราบว่าคุณยังมีธุระอะไรอีกไหมคะ/ครับ) เมื่อจะวางสาย ผู้โทรควรรอให้ผู้รับวางสายก่อนแล้วจึงวางทีหลัง ผู้ที่อายุน้อยกว่าควรรอให้ผู้อาวุโสกว่าวางสายเสียก่อนแล้วตนจึงค่อยวางสาย นอกจากนี้ ห้ามวางสายโดยที่ยังไม่จบบทสนทนาและห้ามวางสายกลางคันหรือวางสายโดยกระแทกหูโทรศัพท์ เพราะการกระทำดังกล่าวอาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจผิดได้
วัดวาอาราม
![วัดเซ่าหลิน](img/1.jpg)
"ซื่อเมี่ยว" หมายถึงวัดวาอารามหรือคำเรียกโดยรวมของศาสนสถาน ในภาษาจีนมีคำเรียกศาสนสถานของศาสนาพุทธหลายคำ เช่น "ซื่อ" แรกเริ่มนั้นคำว่า "ซื่อ" ไม่ได้หมายถึงวัดพุทธ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินเป็นต้นมา "ซื่อ" มักใช้เป็นคำเรียกของบ้านพักขุนนาง ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น คำว่า "ซื่อ" ใช้เป็นชื่อเรียกที่พักสำหรับรับรองพระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์สูงที่เดินทางมาจากชมพูทวีป ต่อมาหลังจากที่ศาสนาพุทธได้เผยแผ่เข้ามาในประเทศจีน เพื่อเป็นการแสดงเคารพต่อพุทธศาสนา ชาวจีนจึงได้มีการใช้คำว่า "ซื่อ" เรียกศาสนสถานของศาสนาพุทธ นับตั้งแต่นั้นมาคำว่า "ซื่อ" จึงกลายเป็นชื่อเฉพาะของวัดในศาสนาพุทธ เช่น ไป๋หม่าซื่อหรือวัดม้าขาว เส้าหลินซื่อหรือวัดเส้าหลิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคำเรียกศาสนสถานอื่นๆ ในศาสนาพุทธ เช่น "อาน" ซึ่งหมายถึงสำนักชี นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดอีกอย่างหนึ่งของจีนคือ "สือคู" ซึ่งหมายถึงถ้ำหินสลักพุทธรูปซึ่งเป็นถ้ำที่สร้างขึ้นด้วยการเจาะหน้าผา
ชื่อเรียกศาสนสถานของศาสนาเต๋าก็มีหลายคำเช่นกัน ได้แก่ "กง", "ย่วน" และ "ฉือ" ตัวอย่างชื่อศาสนสถานของศาสนาเต๋า เช่น ฝ่าหวาย่วน ปี้สยาฉือ เป็นต้น
![หอฟ้าเทียนถาน](img/3.jpg)
ส่วนศาสนสถานของลัทธิหรู(ขงจื๊อ) เรียกว่า "เมี่ยว", "กง" และ "ถาน" ตัวอย่างเช่น ข่งเมี่ยว เหวินเมี่ยว ยงเหอกง เทียนถาน เป็นต้น
![สุเหร่า](img/4.jpg)
สำหรับศาสนสถานของศาสนาอิสลาม ในภาษาจีนจะเรียกว่า "ซื่อ" เช่น ชิงเจินซื่อ
![ทั่ยเมี่ยว (ศาลเจ้าเส้นบรรพบุรุษของพระมหากษัตรย์)](img/5.jpg)
ในสมัยโบราณชาวบ้านจะเรียกสถานที่เซ่นไหว้บรรพชน เทพเจ้ารวมถึงปราชญ์เมธีผู้ล่วงลับว่า "เมี่ยว" หรือ "ฉือ" เช่น ไท่เมี่ยว จงเย่ว์เมี่ยว ซีเย่ว์เมี่ยว หนานเย่ว์เมี่ยว เป่ยเย่ว์เมี่ยวและไต้เมี่ยว เป็นต้น
วัดวาอารามเป็นสถานที่เก็บรักษามรดกทางประวัติศาสตร์ของแต่ละราชวงศ์ไว้อย่างสมบูรณ์ วัดวาอารามต่างๆ เป็นสถานที่ที่ได้บันทึกความรุ่งโรจน์ทางสังคมวัฒนธรรมในระบบศักดินาของจีน ตลอดจนความรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยของศาสนาในแต่ละยุคสมัยเอาไว้ ด้วยเหตุนี้วัดจึงถือเป็นสถานที่สำคัญซึ่งเปี่ยมด้วยคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ วัฒนธรรมที่มีต้นกำเนิดจากวัดยังได้แทรกซึมสู่วิถีชีวิตของชาวจีนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สถาปัตยกรรม วิจิตรศิลป์ ศิลปะการเขียนพู่กันจีน ศิลปะการแกะสลัก ดนตรี ระบำ โบราณวัตถุ ประเพณีพื้นบ้านและงานวัด เป็นต้น แต่ละพื้นที่ในประเทศจีนต่างก็มีงานวัดที่มีกิจกรรมหลากหลาย ในงานวัดจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ตามแต่ละเทศกาล และยังมีการประกอบพิธีทางพุทธศาสนาหรือพิธีของศาสนาอื่นๆ ตามช่วงกำหนดเวลาด้วย