สวนสาธารณะไร้ชื่อ คุณลุงนักเล่นว่าว
แม้จะเป็นวันอาทิตย์ แต่ผู้คนก็มากมายทั้งคนเดินเข้าและเดินออกจากสถานี ทั้งรถเก๋งที่มารับจ้างเป็นแท็กซี่ ทั้งวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งผมว่าน่าจะมีที่นี่ที่เดียว เพราะรัฐบาลห้ามมอเตอร์ไซค์ใช้น้ำมันเข้าในเมือง ตะโกนเรียกลูกค้ากันจอแจ ผมจึงเดินถอยออกไปตั้งหลักที่หน้าโรงพยาบาล Beijing Mingshi Hospital ซึ่งอยู่ทางออกทิศใต้ โรงพยาบาลเอกชนประจำย่านนี้ ตอนแรกนึกว่าเป็นโรงพยาบาลที่รักษาแบบแผนจีน เพราะมีรูปปั้นหินของท่านหมอวิเศษหัวโถว ผู้ค้นคิดยาชาในยุคสามก๊กยืนเงียบขรึมเฝ้าหน้าร้านอยู่
มองลอดสะพานอู่เคอซง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถนนวงแหวนที่ ๔ ไปเห็นสีเขียวขจีของหมู่สนและแปลงดอกไม้หลากสีที่ถูกจัดและดูแลอย่างสวยงามทอประกายความงดงามสู้กับเมฆครึ้มฝนบนฟ้าเบื้องบน ผมข้ามแยกไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เห็นแก่ความสวยงามของดอกไม้นะครับ แต่เป็นเพราะสนามกีฬาที่ตามหาตระหง่านอยู่หลังสวนสวยนั่นเอง และที่สำคัญที่บริวณสวนนั้นมีต้นสนขึ้นอยู่ ที่นั่นอาจจะเป็นเป้าหมายที่ผมตามอยู่ก็ได้ เพราะสัญลักษณ์สำคัญก็น่าจะอยู่ในจุดที่โดดเด่นสังเกตได้ง่ายเช่นนี้
สนามกีฬาอู่เคอซง หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Wukesong Indoor Stadium แห่งนี้ ตั้งอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมและการกีฬาของกรุงปักกิ่ง ลงเสาเข็มตั้งแต่วันที่ ๒๙ มีนาคม ปี ๒๐๐๕ และแล้วเสร็จในวันที่ ๑๑ มกราคม เมื่อต้นปีนี้นี่เอง สนามแห่งนี้จุผู้ชมได้ ๑๘,๐๐๐ คน โดยมีพื้นที่ทั้งหมด ๖๔,๐๐๐ ตารางเมตร ซึ่งลดจากโครงการที่เริ่มต้นไว้ที่ ๓๕๐,๐๐๐ ตารางเมตร เพราะถูกหั่นงบประมาณออกไป ๔๓ เปอร์เซ็นต์
สนามกีฬาแห่งนี้ไม่ใช่แค่เป็นสนามบาสเก็ตบอลที่ได้ระดับมาตรฐานเท่านั้น แต่ยังสร้างมาเพื่อประโยชน์ในการแสดงด้วย มีจอภาพขนาดใหญ่ที่ให้ภาพคมชัด และเพื่อความสบายในการชมการแข่งขัน ทุกที่นั่งได้หุ้มเบาะอย่างดี นอกจากนี้ยังได้สร้างเทคโนโลยีระบบชะล้างกระจกด้วยน้ำฝน อาคารด้านนอกประกอบจากอะลูมินั่ม อัลลอยด์ ที่สามารถสะท้อนความร้อนจากรังสีอินฟราเรดของดวงอาทิตย์ได้ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประหยัดพลังได้มากถึง ๗๐ เปอร์เซนต์
ปัจจุบันกำลังจะตกทอดเป็นมรดกแห่งกีฬาโอลิมปิกที่รัฐบาลได้มอบไว้ให้ประชาชนมาใช้บริการ ทั้งในส่วนของสนามกีฬา และลานวัฒนธรรม แต่ยังปรับปรุงไม่แล้วเสร็จ เพราะกำลังมีการรื้อถอนสนามเบสบอลออก เพราะกีฬาชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมของชาวปักกิ่งเท่าที่ควร
บ่ายวันที่ผมไปถึงนั้นมีชาวบ้านมาออกกำลังกาย พาสัตว์เลี้ยงมาเดินเล่น มานั่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นที่ชุมนุมของนักเล่นว่าวที่ลานอิฐด้านหน้าทางเข้าแล้ว เรียกได้ว่า แม้ยังไม่เปิดเพื่อสาธารณะชนอย่างเป็นทางการแต่ก็ตกทอดมาถึงประชาชนโดยพฤตินัยแล้ว โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสวนสาธารณะด้านหัวมุมสี่แยกอู่เกอซงนั้น มีผู้คนมาท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสัปดาห์ทอง ๑ ตุลาคม ซึ่งเป็นเทศกาลวันชาติจีนเป็นจำนวนมาก
สำนักพิมพ์วิทยุโทรทัศน์ สถานที่ราชการไม่ยอมมีชื่อ
1 2 3 4 5 6 7
|