นักศึกษาจีนอ่านหนังสือยามเช้า
ในช่วงเช้าๆ เวลาแนนเดินไปเรียนหนังสือ ไม่ว่าจะเดินผ่านสวนในมหาวิทยาลัยหรือระเบียงหอพัก ภาพที่เห็นได้บ่อยๆ ก็คือ นักศึกษาจีนกำลังยืนบ้างนั่งบ้าง พร้อมกับถือหนังสืออยู่ในมือ บางคนจดจ่อเป็นอย่างมากกับการอ่าน และบางคนก็ชอบอ่านออกเสียงคล้ายกับการท่อง ส่วนในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยนั้น แม้ว่าจะไม่มีการเรียนการสอน แต่เราก็จะพบนักศึกษานั่งอยู่เป็นจำนวนมาก พวกเขาเหล่านี้กำลังใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่าด้วยการอ่านหนังสือค่ะ
วัฒนธรรมการอ่านหนังสือเกี่ยวพันกับคนจีนมาหลายพันปี ตั้งแต่ในสังคมจีนโบราณ ประเพณีของการสอบเพื่อเป็นข้าราชการ หรือที่เราเรียกว่าการสอบจอหงวนนั้นทำให้เกิดวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการอ่านหนังสือ การศึกษาหาความรู้ขึ้นมาในหมู่ของประชาชน เพราะว่าสังคมจีนโบราณจะยกย่องบัณฑิตเป็นอย่างมาก ในประวัติศาสตร์ของจีนนั้น มีบุคคลหลายคนที่ได้รับการยกย่องและเป็นที่เล่าขานกันในเรื่องความตั้งใจศึกษาหาความรู้ ตัวอย่างเช่น หลี่มี่ แม่ทัพในสมัยราชวงศ์สุย ในสมัยเป็นหนุ่มนั้น หลี่มี่เคยทำงานเป็นองครักษ์ในพระราชวัง แต่เนื่องจากเขาเป็นคนที่ชอบสนใจสิ่งรอบข้าง จึงถูกมองว่าเป็นคนอยู่ไม่นิ่งและโดนไล่ออกจากราชการ หลังจากโดนไล่ออกแล้ว หลี่มี่ก็ไม่ได้เสียใจ แต่เขาตัดสินใจกลับบ้านเพื่อตั้งใจหาความรู้ใส่ตน และตั้งปณิธานว่าจะต้องกลายเป็นปัญญาชนให้ได้ แม้กระทั่งวันที่ขี่วัวออกไปเยี่ยมเพื่อนของเขา เขายังเอาตำรา History of Western Han แขวนไว้ที่เขาวัวและอ่านไปด้วยระหว่างทาง เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ สุดท้ายแล้วเขาก็ประสบความสำเร็จดังใจหวัง ได้กลายเป็นแม่ทัพผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นค่ะ
เท่าที่แนนสังเกต คนจีนจะชอบอ่านหนังสือมากค่ะ และครอบครัวจีนจะสอนลูกหลานให้ท่องกลอนหรืออ่านหนังสือง่ายๆ ตั้งแต่ยังเด็ก แนนเคยเจอเด็กอายุ 2 ขวบสามารถท่องกลอนได้แล้วหลายบท และส่วนใหญ่ในบ้านคนจีนนั้น เค้าจะกันห้องไว้สำหรับอ่านหนังสือโดยเฉพาะ 1 ห้อง โดยในนั้นจะมีตู้หนังสือ โต๊ะอ่านหนังสือ และเก้าอี้สบายๆ ช่วยสร้างบรรยากาศการศึกษาในบ้านขึ้นมาทันทีเลยค่ะ
นอกจากจะชอบอ่านแล้ว คนจีนยังรู้จักเลือกอ่านด้วยค่ะ อย่างเช่นเมื่อแนนมาถึงปักกิ่งใหม่ๆ ประมาณปี 2007 มีหนังสือขายดีอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อว่า ทำอย่างไรให้ลูกได้เรียนฮาร์วาร์ด เขียนโดยคุณแม่คนจีนที่มีลูกเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หนังสือเล่มนี้ขายดีมาก ทำให้เห็นเลยค่ะว่า คนจีนรู้จักเลือกอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ใช้ได้จริง และหวังที่จะต่อยอดการศึกษาขึ้นไปเรื่อยๆ ค่ะ
นอกจากการส่งเสริมการอ่านหนังสือในครอบครัวแล้ว องค์กรการศึกษาของจีนเองก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน เมื่อปี 2006 Fujian Normal University เริ่มต้นแคมเปญ"อ่านและออกกำลังกายตอนเช้า" โดยทางมหาวิทยาลัยให้เหตุผลว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่แต่ในหอพัก ใช้ชีวิตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นส่วนมาก และมักตื่นสาย ทำให้ขาดนิสัยการอ่านและขาดการออกกำลังกาย บางรายไปหลับในเวลาเรียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักศึกษาทั้งทางสุขภาพและการศึกษา เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น นักศึกษาควรที่จะตื่นแต่เช้ามาฝึกการอ่านและออกกำลังกาย อย่างนี้จึงจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ ร่างกายแข็งแรง และมีสมองโล่งปลอดโปร่งพร้อมเรียนตลอดทั้งวัน
หลังจากทางมหาวิทยาลัยดังกล่าวเปิดตัวแคมเปญนี้ มีนักศึกษาให้ความร่วมมือเป็นจำนวนมาก บางคนออกมาอ่านตำราภาษาอังกฤษตอนเช้า บางคนอ่านตำราภาษาจีนร่วมกับการออกกำลังกาย บางคนก็มาวิ่ง กระโดดเชือกหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ถือว่าเป็นแคมเปญที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากค่ะ
ในแง่ของการสร้างวัฒนธรรมรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น แนนคิดว่ามีหลายปัจจัยเป็นตัวส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายค่ะ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำไม่ใช่เพียงแค่การกระตุ้นประชาชนให้เห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือ แต่ยังต้องสร้างบรรยากาศและจัดสรรสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแก่การอ่านให้อีกด้วย แนนขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยปักกิ่งนะคะ ที่นี่เป็นสถานศึกษาที่มีปัจจัยเอื้อต่อการสร้างวัฒนธรรมการอ่านในกลุ่มนักศึกษาค่อนข้างครบถ้วน ได้แก่
1. มหาวิทยาลัยปักกิ่งมีห้องสมุดขนาดใหญ่ และเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือมากที่สุดในเอเชีย มีหนังสือ นิตยสาร ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในสาขาวิชาต่างๆ มากมาย ห้องสมุดแห่งนี้เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 6:30 – 22:30 นักศึกษาปริญญาตรีสามารถยืมหนังสือได้ ครั้งละ 15 เล่ม นักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกสามารถยืมได้ครั้งละ 25 เล่ม โดยยืม 1 ครั้งใช้ได้ 1 เดือน และสามารถยืมหนังสือเล่มเดียวติดต่อกันได้นานที่สุดถึง 3 เดือนค่ะ
2. ภายในและรอบๆมหาวิทยาลัยมีร้านหนังสืออยู่ทั่วไป ในมหาวิทยาลัยมีร้านหนังสือไม่ต่ำกว่า 5 ร้าน โดยแต่ละร้านไม่ได้ขายเฉพาะหนังสือเรียนเท่านั้น แต่ยังมีหนังสืออ่านเล่น เช่น วรรณกรรมต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้แล้ว มหาวิทยาลัยปักกิ่งยังมีโรงพิมพ์เป็นของตนเอง ซึ่งถ้านักศึกษาไปติดต่อซื้อหนังสือแบบเหมาห้องก็จะได้ราคาลด 20% ค่ะ แต่ร้านหนังสือเหล่านี้ยังถือว่าเล็กๆ เท่านั้นถ้าเทียบกับร้านหนังสือนอกมหาวิทยาลัย เพราะศูนย์หนังสือที่ปักกิ่งนั้น เขาขายหนังสือกันเป็นตึกๆ เลยค่ะ และก็กระจายตัวกันอยู่มากมายตามจุดต่างๆ ของเมือง นับแค่ศูนย์หนังสือที่สามารถเดินไปถึงได้ภายใน 5 นาทีจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งก็มีอยู่ 2 เจ้าแล้วค่ะ โดยแต่ละเจ้าก็เป็นตึก 4-5 ชั้น มีหนังสือให้เลือกซื้อละลานตาไปหมดเลยค่ะ แต่ถ้าเรายังไม่อยากซื้อ ก็สามารถไปนั่งอ่านได้ ทางร้านเค้าจะจัดเก้าอี้ไว้ตามชั้นหนังสือ เราสามารถเอาหนังสือที่ขายออกมาอ่านได้ตามชอบค่ะ แนนไปทีไรก็เห็นเด็กนักเรียนมัธยมมานั่งอ่านกันเต็มทุกที
3. หนังสือที่จีนราคาถูกมาก ถ้าเป็นหนังสือเรียนทั่วไป พิมพ์ด้วยกระดาษคุณภาพธรรมดา ราคาเล่มหนึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 50-150 บาท ส่วนหนังสือที่พิมพ์ 4 สีก็ไม่ได้ราคาแพงนัก แนนเคยซื้อสารานุกรมสำหรับเด็กชุดหนึ่ง มีทั้งหมด 3 เล่ม พิมพ์ด้วยกระดาษอย่างดี เนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษและจีน ราคาชุดละไม่ถึง 500 บาทค่ะ
4. ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ทางมหาวิทยาลัยจะจัดพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้าจำหน่ายหนังสือมือสอง พวกนิตยสาร พ็อกเก็ตบุ้ค หนังสือเรียน และหนังสือติวสอบ มีทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีนและภาษาต่างประเทศ แนนเคยเห็นพจนานุกรมไทย-จีนเล่มใหญ่ขายในราคาเพียง 300 บาทค่ะ และที่แนนซื้อบ่อยๆ ก็พวกหนังสืออ่านเล่นภาษาอังกฤษ ราคาเฉลี่ยเล่มละ 50 บาทเท่านั้น คุ้มมากๆ ค่ะ
5. ช่วงก่อนเปิดเทอมและปิดเทอม มหาวิทยาลัยจะจัดพื้นที่ให้นักศึกษาเอาหนังสือใช้แล้วมาขายกัน ส่วนมากเป็นตำราเรียน ราคาไม่แพง แล้วแต่ต่อรองกันค่ะ
ช่วงก่อนเปิดเทอมและปิดเทอมจะมีนักศึกษานำหนังสือเรียนที่ตนไม่ใช้แล้วมาขาย
การอ่านหนังสือเป็นการเข้าถึงแหล่งข่าวสารข้อมูล คนที่ไม่รักการอ่านจึงเป็นคนที่เสียโอกาสในการเปิดโลกทัศน์ เราจึงควรปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูกหลานตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญในช่วงนี้คือ พ่อ-แม่ ผู้ปกครองของเด็กค่ะ ถ้าผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กเห็นในห้องหนังสือ หรืออ่านหนังสือไปพร้อมๆ กันกับเด็ก เด็กก็จะค่อยๆ เกิดความสนใจในการอ่านหนังสือขึ้นมาได้ นอกจากนั้น ผู้ปกครองยังควรเลือกซื้อหนังสือที่ดีมีประโยชน์มาไว้ในบ้านสักจำนวนหนึ่ง เพราะถ้าบ้านทั้งบ้านมีหนังสืออยู่ไม่กี่เล่มกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ เราก็ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมรักการอ่านขึ้นมาได้หรอกค่ะ
การอ่านหนังสือเป็นวิถีทางที่ช่วยพัฒนาคนให้ "ฉลาดคิด" และเมื่อผู้คน "คิดเป็น" ประเทศชาติก็จะมีความก้าวหน้า ดังนั้น เพื่อความเจริญก้าวหน้าของสังคม และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนยุคหลัง เรามาช่วยกันสร้างวัฒนธรรมรักการอ่านขึ้นในสังคมกันเถอะค่ะ
แนน