หากย้อนกลับไปเมื่อปี 1950 การมาเรียนต่อในฝั่งซีกโลกตะวันออกที่จีนนั้นถือเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก และในปีนั้นเองก็ถือเป็นปีแรกที่จีนเปิดสู่ภายนอกและต้อนรับชาวต่างชาติเข้ามาเรียนต่อในจีนด้วยเช่นกัน ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่จีนนั้นกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกแล้ว ทำให้เหล่าบรรดานักศึกษาต่างชาติมากมายยอมวางเป้และไกด์บุ๊ค เปลี่ยนมาเป็นใส่สูท ผูกเน็คไทเดินเข้าห้องเรียนแทน เพื่อหาประสบการณ์ความเป็นมืออาชีพด้านบริหารธุรกิจในสถาบันการศึกษาระดับสูงด้านธุรกิจของจีน
ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จีนได้เตรียมความพร้อมให้กับระดับผู้จัดการชาวต่างชาติแล้วกว่าหนึ่งพันคน จำนวนนี้มาจากสหรัฐฯ และยุโรป ขณะเดียวกันพวกเขาก็กำลังจะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ(MBA-Master of Business Administration) และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร (EMBA-Executive Master of Business Administration) ในจีน เพื่อยกระดับการแข่งขันทางด้านธุรกิจในระดับโลกต่อไป ซึ่งแตกต่างจากหกปีที่ผ่านมา เป้าหมายของสถาบันด้านบริหารธุรกิจนั้นเพื่อสอนและให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจจีนเท่านั้น แต่ต่อมาก็ได้มีการปรับเป้าหมายให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
สถาบันบริหารธุรกิจนานาชาติจีน-ยุโรป
(CEIBS- China Europe International Business School)
"เราไม่จำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับการทำธุรกิจจีนในฐานะผู้ผลิตแล้ว แต่เราต้องศึกษาเกี่ยวกับการบริหารตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนจากผู้ผลิตในรูปแบบเก่ามาเป็นรูปแบบบริษัทเพื่อเป็นแกนหลักของตลาดโลก" เป็นคำกล่าวของรองอธิการบดีและคณบดีแห่งสถาบันบริหารธุรกิจนานาชาติจีน-ยุโรป (CEIBS- China Europe International Business School) ซึ่งตั้งอยู่ที่นครเซียงไฮ้
ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการจีนนั้นก็ได้ตั้งเป้าของจำนวนนักศึกษาต่างชาติไว้ว่า ภายในปี 2020 จีนจะต้องรองรับนักศึกษาต่างชาติให้มากกว่าห้าแสนคน และมีจำนวนไม่น้อยกำลังมองหาหลักสูตร MBA ที่มีมาตรฐานสูง เทียบเท่าหรือได้การยอมรับจากนานาชาติเหมือนกับมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ตหรือฮาร์วาร์ด และเมื่อปี 2009 ฟอร์บสซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจและการเงินของสหรัฐฯ ได้จัดอันดับสถาบันการศึกษาระดับสูงด้านบริหารธุรกิจ และ CEIBS ได้ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 8 จาก 10 อันดับแรกของหลักสูตร MBA ที่ดีที่สุดในโลก (โดยไม่นับสถาบันในสหรัฐฯ) และทำให้สัดส่วนของนักศึกษาต่างชาติที่ CEIBS เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 39 ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจของจีนที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยฟู่ต้าน(Fudan)ได้จัดสอนหลักสูตร MBA ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวอชิงตันเช่นเดียวกับหลักสูตร MBA ของมหาวิทยาลัยชิงหัวที่มีความร่วมมือกับสถาบันการจัดการของมหาวิทยลัย MITหรือ Massachusetts Institute of Technology
แผนการปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาระยะกลางและระยะยาวของจีน(2010-2020)ได้วางแผนไว้ว่า จีนจะมุ่งเน้นและพยายามจะสร้างผู้นำทางธุรกิจให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก จากความพยายามนี้ทำให้สถาบันการศึกษาระดับสูงด้านบริหารธุรกิจเกิดการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มมีการจัดสอนหลักสูตร MBA ครั้งแรกในปี 1991 จนกระทั่งปัจจุบันมีหลักสูตร MBA กว่า 90 สาขาเฉพาะทางในสถาบันการศึกษาชั้นนำ 9 แห่ง แต่อีก 20 ปีหลังจากนี้ไปนั้น จีนจะต้องพัฒนาและจัดการคัดสรรหลักสูตร MBA บางหลักสูตรที่มีศักยภาพและต่อยอดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯและยุโรปเพื่อพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
ปัจจุบัน สถาบันที่จัดการหลักสูตร MBA ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดในจีน คือ หลักสูตร IMBA (International Master of Business Administration) ของมหาวิทยาลัยชิงหัว ซึ่งเริ่มการสอนมาตั้งแต่ปี 1997 โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการจัดการ MIT ในเวลานี้มีหลักสูตร MBA ของจีนจำนวนมากที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทางฝั่งตะวันตกเหมือนกับมหาวิทยาลัยชิงหัว ที่จะมีการจัดการเรียนการสอนโดยเริ่มมาจากฝั่งทางตะวันตก แต่สถาบันของจีนเองก็ไม่ได้เดินแนวทางตามรากฐานความคิดของทางตะวันตกทั้งหมด ในทางตรงข้ามพวกเขากลับมีความมั่นใจที่จะสร้างความแตกต่างในระดับโลกโดยใช้โอกาสจากความเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์พิเศษ
มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tshinghua University)
"ตอนนี้ จีนกำลังใช้โครงสร้างเศรษฐกิจแบบสากลโดยเข้าใจตัวโครงสร้างนี้เป็นอย่างดีว่า จะเป็นผลประโยชน์มหาศาล" จากภาพที่มองเห็นว่าตลาดจีนนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงทำให้ไมค์ หนุ่มอเมริกันวัย 26 ปี ลาออกจากงานขายและการตลาดที่สร้างรายได้ให้ปีละ 120,000 ดอลล่าห์สหรัฐฯ หันมาเรียนต่อด้าน MBA ที่มหาวิทยาลัยชิงหัว และเป็นหลักสูตรที่มีความร่วมมือระหว่างสองสถาบันทำให้นักศึกษาได้รับประโยชน์จากเครือข่ายศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบันมากมาย นับว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับบางคนด้วย ไมค์ยังกล่าวได้อย่างน่าสนใจอีกว่า "ขณะที่คุณกำลังเรียน MBA อีกด้านหนึ่งคุณเองกำลังสร้างเครือข่ายไปด้วยและเครือข่ายที่คุณสร้างก็สามารถเป็นในทางที่คุณต้องการ แค่นี้ก็ถือว่าเป็นเหตุผลที่ดีแล้วสำหรับการมาเรียนที่นี่"
นอกจากเรื่องวุฒิการศึกษาและเครือข่ายศิษย์เก่าในสถาบันที่มีชื่อเสียงแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลของนักศึกษาต่างชาติที่มาศึกษาต่อในจีน คือ การครองชีพและค่าเล่าเรียนนั้นมีไม่สูงนัก ยกตัวอย่างค่าเล่าเรียนสำหรับ 2 ปีของหลักสูตร IMBA มหาวิทยาลัยชิงหัวอยู่ที่ 29,800 ดอลล่าห์สหรัฐฯ แต่หากไปสมัครเรียนที่ MIT ในสหรัฐฯ นักศึกษาต้องจ่ายค่าเล่าเรียนประมาณ 50,300 ดอลล่าห์สหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่า นักศึกษาต่างชาติที่เรียน MBA ในจีน หลังจากจ่ายค่าเล่าเรียนแล้ว ยังเหลือเงินใช้จ่ายอย่างสบายๆ และได้สวัสดิการในฐานะนักศึกษาต่างชาติอีกด้วย
จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่มาศึกษาต่อในจีน
และตัวเลขเปรียบเทียบของนักศึกษาต่างชาติในประเทศต่างๆ
วันนี้ จีนมีนักศึกษาต่างชาติกว่า 260,000 คน และกลายเป็นอันดับที่ 4 ของจุดหมายปลายทางด้านการศึกษาต่อของนักศึกษาทั่วโลก รองจากฝรั่งเศส อังกฤษและสหรัฐฯ และรายงานอ้างอิงจากสถาบันการศึกษานานาชาติ มีนักศึกษาต่างชาติร้อยละ 30 ต้องการมาศึกษาต่อในหลักสูตร MBA และ EMBA ที่จีน ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลจีนในการสร้างแรงจูงใจให้กับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อที่จีนโดยได้สนับสนุนงบประมาณด้านทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาต่างชาติเป็นจำนวนกว่า 800 ล้านหยวน
การสร้างแรงจูงใจกับนักศึกษาต่างชาติไม่ได้ให้ประโยชน์กับจีนในแง่เดียวเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างความกระจ่างและรู้รอบด้านมากขึ้นในประเด็นที่มักมีการเข้าใจผิดบ่อยครั้งกับการเป็นมหาอำนาจของจีน และถือเป็นผลกำไรมหาศาลของจีนที่จะได้รับต่อไปด้วย
สุชารันต์ สถาพรอานนท์
แหล่งข้อมูลจาก CHINADAILY.COM.CN