ตำนานตะเกียบของเจียงจื่อหยา (姜子牙) ที่กล่าวถึงในครั้งก่อน ว่ากันว่าเป็นคนในยุคสมัยเดียวกับพระเจ้าโจ้ว กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซาง จึงถือว่าเป็นตำนานที่ช่วยยืนยันว่า ทางภาคใต้ของจีนในยุคราชวงศ์ซางนั้นใช้ตะเกียบที่ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งตำนานเกี่ยวกับตะเกียบยังมีอีกสองตำนานที่จะหยิบยกมาเล่า ได้แก่ ตำนานตะเกียบกับพระสนมต๋าจี่ (妲已) พระสนมองค์โปรดของพระเจ้าโจ้ว
โดยเป็นเรื่องที่เล่าขานกันในแถบมณฑลเจียงซูว่า พระเจ้าโจ้วนั้นทรงมีพระอารมณ์เหลือร้าย เอาพระทัยยากมาก ยามเสวยพระกระยาหารมักจะติว่าเนื้อไม่สดบ้าง น้ำแกงร้อนเกินบ้าง กับข้าวเย็นชืดเสวยไม่ลงบ้าง เรียกว่านี่ไม่ดี นั่นไม่ได้มิเป็นที่พอพระทัยสักอย่าง และสั่งประหารพ่อครัวจนเป็นที่หวั่นเกรงไปทั่ว พระสนมต๋าจี่ก็ทรงรับรู้ในความเอาพระทัยยากของพระองค์ จึงชิมอาหารก่อนถวายพระองค์ด้วยตนเองก่อนทุกครั้ง ซึ่งก็ทำให้ดีกรีพิโรธขุ่นเคืองของพระเจ้าโจ้วลดลงไปได้
จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง พระสนมต๋าจี่ได้ชิมอาหารชามหนึ่งก็พบว่าน้ำแกงนั้นร้อนเกิน แต่จะสั่งให้ยกไปเปลี่ยนก็ไม่ทันการณ์แล้ว เพราะพระเจ้าโจ้วได้ทรงเสด็จมาถึงโต๊ะเสวยแล้ว พระสนมต๋าจี่จึงทรงดึงปิ่นหยกที่ปักผมออกมาคีบอาหารในน้ำแกงที่ร้อนขึ้นมาเป่า รอจนเย็นได้ที่จึงค่อยป้อนถวาย พระเจ้าโจ้วได้รับการปรนนิบัติเยี่ยงนี้ก็รู้สึกพอพระทัยอย่างมากถึงกับมีรับสั่งว่า นับแต่นี้ต่อไปให้พระสนมต๋าจี่ทรงป้อนพระองค์เช่นนี้ทุกวัน
ต๋าจี่จึงให้ช่างหลวงทำปิ่นหยกยาวเป็นพิเศษให้สองอัน เกิดเป็นที่มาของตะเกียบหยกขึ้น และต่อมาวิธีการคีบอาหารรับประทานด้วยตะเกียบก็ได้แพร่หลายในหมู่ชาวประชาทั่วไป และแม้ว่าต๋าจี่จะไม่ใช่ต้นกำเนิดคิดประดิษฐ์ตะเกียบจริง แต่ตำนานนี้ถือว่ามีความสมจริงกว่าตำนานเจียงจื่อหยาเพราะไม่มีเรื่องเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ส่วนอีกหนึ่งตำนานตะเกียบนั้นเป็นตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยเป็นตำนานเกี่ยวกับต้าอี่ว์ (大禹) ต้นกำเนิดราชวงศ์เซี่ย ซึ่งว่ากันว่าในยุคสมัยจักรพรรดิเหยาและซุ่น (ยุคห้าจักรพรรดิ 2,550 - 2,140 ปีก่อนค.ศ.) เกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง ต้าอี่ว์เมื่อได้รับพระบัญชาให้หาวิธีแก้ไขก็สาบานตนว่าจะปลดทุกข์แก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชนให้จงได้ และได้ทุ่มกายใจและเวลาทั้งหมดให้กับเรื่องนี้อย่างเต็มที่
แม้จะผ่านบ้านถึง 3 ครั้ง 3 คราก็ไม่ยอมหยุดแวะเข้าไปเลยสักหน มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจังโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เรียกว่าเวลาพักผ่อนนอนหลับหรือทานข้าวก็ไม่อยากจะยอมให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์แม้แต่นาทีเดียว จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง ต้าอี่ว์นั่งเรือไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง รู้สึกหิวจนทนไม่ไหวแล้ว ก็จัดการก่อไฟตั้งน้ำต้มเนื้อขึ้น พอเนื้อในหม้อสุกได้ที่ ด้วยความที่ร้อนจะใช้มือหยิบทานก็จะลวกมือเอา ต้าอี่ว์ก็ไม่อยากจะเสียเวลารอจนเนื้อนั่นเย็นลงค่อยทาน เพราะใจนึกแต่จะไปจัดการกับเรื่องน้ำท่วม จึงไปหักกิ่งไม้เล็กมาสองอันจัดการคีบเนื้อเข้าปาก
และนับแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อเป็นการประหยัดเวลาต้าอี่ว์จึงใช้กิ่งไผ่ก้านเรียวคีบเนื้อที่ต้มเดือดในหม้อขึ้นมาทาน นานวันเข้าก็เกิดเป็นความชำนาญและเคยชิน คนใต้ปกครองเห็นต่างก็นิยมชมชอบ เพราะนอกจากจะไม่ร้อนมือแล้ว อาหารที่ทานก็ไม่ติดเปรอะเปื้อนมือด้วย จึงเอาเป็นเยี่ยงอย่างและก่อเกิดเป็นค่านิยมใช้ตะเกียบขึ้น และแม้ว่าตำนานจะเป็นเพียงเรื่องเล่าขานที่อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงมากบ้างน้อยบ้าง แต่การคิดสรรใช้ตะเกียบรับประทานอาหารก็แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวจีนได้อย่างดี
และด้วยความที่ตะเกียบเป็นสิ่งที่ผูกพันและใกล้ชิดกับคนจีนมานับแต่โบราณกาล ซึ่งต่างก็ถือว่าตะเกียบเป็นของมงคลจะมอบเป็นของขวัญของกำนัลหรือของชำร่วยงานแต่งงานก็สบายใจผู้ให้และสุขใจผู้รับ เพราะนอกจากจะเป็นคู่แล้ว ตะเกียบหรือไขว้จื่อ (筷子) ในภาษาจีนยังพ้องเสียงกับความหมายดีๆ ที่เสมือนอวยพรคู่แต่งงานให้มีลูกเร็วๆ (早生贵子 จ่าวเซิงกุ้ยจื่อ) มีความสุขสันต์ (快快乐乐 ไขว้ไขว้เล่อเล่อ) ให้รักมั่นปรองดองเคียงคู่กันไปเหมือนดั่งตะเกียบนั่นเอง และด้วยรูปลักษณ์ที่ตรงไม่คดงอ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนความซื่อสัตย์เถรตรงได้อีกด้วย และเพราะความใกล้ชิดผูกพันจึงก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ
ข้อห้ามหรือถือเป็นมารยาทเกี่ยวกับการใช้ตะเกียบอยู่ไม่น้อย อาทิ
1) ต้องสั้นยาวเท่ากัน เพราะการใช้ตะเกียบสั้นยาวต่างกันนั้นชาวจีนถือว่าเป็นเรื่องอัปมงคล หมายความถึงการตาย
2) จับตะเกียบอย่าให้นิ้วชี้ยื่นออกมา เพราะชาวจีนถือว่าการจับตะเกียบแล้วนิ้วชี้ที่ยื่นออกมานั้นเป็นการชี้ว่าคนอื่น ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง รวมถึงการถือตะเกียบชี้คุยโต้ตอบกับผู้อื่นด้วย
3) ห้ามอมหรือดูดตะเกียบ แล้วยิ่งมีเสียงด้วยแล้วยิ่งถือว่าไม่สุภาพมากๆ
4) อย่าใช้ตะเกียบเคาะจานชาม เพราะจะถูกมองว่าเป็นพวกขอทานที่เคาะเพื่อร้องเรียกความสนใจขออาหารจากผู้อื่น
5) อย่าถือตะเกียบวนไปมา เพราะไม่รู้ว่าจะเลือกจานไหนดี จะถูกมองว่าไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน
6) ใช้ตะเกียบเลือกคุ้ยอาหารในจานกับข้าวไปมา ถูกมองว่าขาดการอบรมเช่นกัน
7) คีบกับข้าวระวังอย่าให้หล่นใส่จานอื่นหรือตกบนโต๊ะ จะถูกมองว่าไร้มารยาท
8) อย่าปักตะเกียบไว้กลางชามข้าวยื่นส่งให้คนอื่น เพราะถือเป็นการไหว้ข้าวคนตาย เป็นต้น
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府