ประเทศจีน ถือเป็นประเทศต้นกำเนิดของตะเกียบ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าชาวจีนต่างรู้จักมักคุ้นกับการใช้ตะเกียบมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ตะเกียบหนึ่งคู่ แม้จะเป็นอุปกรณ์ในการรับประทานอาหารที่ดูง่ายๆ แต่กลับมีความสามารถในการหนีบ พลิก คลุกเคล้า และอื่นๆ ได้อย่างมากมายหลายหลาก แสดงออกถึงคุณลักษณะพิเศษที่ว่า ง่ายแต่ซับซ้อน น้อยแต่มาก ซึ่งประวัติศาสตร์จีนเท่าที่มีการจดบันทึกถึงการใช้ตะเกียบที่เก่าแก่ที่สุดที่สามารถอ้างอึงจากตำราได้นั้น ระบุว่ามีใช้กันตั้งแต่เมื่อสามพันกว่าปีก่อน ในสมัยพระเจ้าโจ้ว กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซาง โดยว่าพระองค์ได้ทรงใช้ตะเกียบที่ทำจากงาช้าง
โดยคำเรียกตะเกียบนั้น ในยุคก่อนราชวงศ์ฉินเรียกว่า เจีย 挟 ยุคสมัยฉินฮั่น เรียกว่า จู้ 箸 ยุคราชวงศ์สุยและถังเรียกว่า จิน 筋 ซึ่งกวีเอกชื่อดังสมัยราชวงศ์ถังของจีน นามว่า หลี่ไป๋ มีกลอนบทหนึ่งกล่าวถึงว่า "พักแก้ววางตะเกียบไม่สามารถรับประทานได้ (停杯投筋不能食) " พอมาถึงราชวงศ์ซ่งจึงได้เรียกว่า ไขว้ 筷 ซึ่งการที่ชื่อเรียกของตะเกียบถูกปรับเปลี่ยนนั้น ว่ากันว่าเนื่องเพราะขัดต่อความเชื่อและค่านิยมบางอย่างเป็นสำคัญ
เช่น ตำราเล่มหนึ่งในสมัยราชวงศ์หมิงกล่าวไว้ว่า พื้นที่แถบบริเวณมณฑลเจียงซูและมณฑลเจ้อเจียงเทียบกับสมัยปัจจุบันนั้น ชาวบ้านแถวนั้นจะไม่เรียกตะเกียบว่า จู้ 箸 แต่เรียกว่า ไขว้จื่อ 筷子 เพราะชาวบ้านต่างนิยมใช้เรือเป็นพาหนะสำคัญ ซึ่งก็มีถือธรรมเนียมปฏิบัติและข้อห้ามต่างๆ เกี่ยวกับเรืออยู่มากมาย และด้วยความที่คำว่า จู้ นี้พ้องเสียงกับคำว่า จู้ 住 ที่แปลว่า หยุด จึงเปลี่ยนคำเรียกเสียใหม่เป็น ไขว้ 快 ที่แปลว่า เร็ว เพราะต่างต้องการให้เรือล่องอย่างราบรื่นและรวดเร็วไม่ใช่หยุดนิ่ง เมื่อเสียงเปลี่ยน คำเปลี่ยน ตัวหนังสือก็เลยเปลี่ยนเสียด้วย โดยใช้คำว่า ไขว้ 筷 ที่มีไม้ไผ่เป็นองค์ประกอบแสดงถึงลักษณะทางกายภาพของตะเกียบที่ส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ไผ่นั่นเอง
ส่วนตำนานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของตะเกียบนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องของ "เจียงจื่อหยา (姜子牙)" ตำนานนี้เล่าสืบทอดกันมาในหมู่ชาวบ้านแถบมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) โดยว่า เจียงจื่อหยา เป็นชายหนุ่มไร้ความสามารถทำอะไรอื่นไม่เป็นนอกจากตกปลา ดังนั้นจึงมีชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้น ฝ่ายภรรยานึกทนอยู่กับสภาพอดๆ อยากๆ นี้ต่อไปไม่ไหวแล้ว จึงคิดวางยาลอบฆ่าสามีเพื่อจะได้หลุดพ้นไปหาสามีใหม่ได้
อยู่มาวันหนึ่งเจียงจื่อหยาออกไปตกปลาอีกเช่นเคย แต่กลับสองมือเปล่ากลับมาบ้าน พอมาถึงภรรยาก็พูดขึ้นว่า "คงหิวแล้วซิท่า ฉันทำเนื้อผัดไว้ให้แล้ว รีบทานเสียเถิด" เจียงจื่อหยาด้วยความที่หิว ก็ไม่คิดสงสัยอะไรยื่นมือออกไปหยิบเนื้อเตรียมจะเข้าปาก จู่ๆ ก็มีนกตัวหนึ่งบินเข้ามาจากทางหน้าต่างจิกเข้าที่มือ เขาเจ็บจนร้องต้องปล่อยเนื้อหลุดจากมือ พอจะหยิบเนื้อขึ้นใหม่อีกครั้ง นกเจ้ากรรมก็บินมาจิกหลังมือเข้าให้อีก
เจียงจื่อหยารู้สึกเอะใจว่า เนื้อนี้กินไม่ได้หรืออย่างไร จึงลองหยิบเป็นครั้งที่สามก็ปรากฏว่าโดนจิกเข้าอีก เจียงจื่อหยาคิดว่าเห็นจะเป็นนกเทพ จึงทำเป็นไล่นกออกจากบ้าน ตามไปจนถึงที่ร้างไร้ผู้คนแห่งหนึ่ง นกเทพก็หยุดเกาะบนกิ่งไผ่ และเปล่งเสียงบอกเจียงจื่อหยาว่า จะกินเนื้อนี้ใช้มือหยิบไม่ได้ ให้ใช้สิ่งที่อยู่ใต้เท้าเรานี้คีบเนื้อเอา เจียงจื่อหยารับรู้และตรงเข้าเด็ดกิ่งไผ่สองก้านเล็กเรียวติดกลับบ้าน พอถึงภรรยาก็เร่งให้เขาทานเนื้ออีก เจียงจื่อหยาจึงใช้กิ่งไผ่ที่เด็ดติดมือกลับมานั้นหนีบเอาเนื้อขึ้นมาก็ปรากฏว่ามีกลุ่มควันสีเขียวขึ้น
เจียงจื่อหยาแกล้งทำเป็นไม่รู้เรื่องถูกวางยาพิษกล่าวกับภรรยาว่า เนื้อนี้ทำไมมีควันลอยออกมา เห็นจะมีพิษหรืออย่างไรกัน? พูดพลางยื่นเนื้อนั้นป้อนส่งให้ภรรยา ภรรยาตกใจและวิ่งหนีออกจากบ้านไปทันที เจียงจื่อหยาจึงเข้าใจทันทีว่านี่เป็นกิ่งไผ่วิเศษที่ไม่ว่าพิษอะไรก็สามารถพิสูจน์ได้หมด นับแต่นั้นมาทุกมื้ออาหารของเขาเป็นต้องใช้แท่งไม้ไผ่คู่นี้ในการทานอาหาร ต่อมาบรรดาเพื่อนบ้านรอบข้างเห็นต่างถือปฏิบัติตามอย่างใช้กิ่งไผ่ทานข้าว และแพร่หลายเป็นธรรมเนียมนิยมไปยังคนหมู่มากในท้ายที่สุด
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府
*** เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:ตำนานตะเกียบ 筷子 (2)