จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน อ้ายซินเจี๋ยหลัว ผู่อี๋爱新觉罗•溥仪
(7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1906 - 17 ตุลาคม ค.ศ.1967)
"…รัชสมัยฮ่องเต้กวงซวี่ปีที่ 32 หรือก็คือปีค.ศ. 1906 เดือนอ้ายวันที่14ตามปฏิทิตจันทรคติ ฉันได้ลืมตาดูโลกที่ตำหนักฉุนชินหวังฝู่ 醇亲王府 ท่านปู่ของฉัน "อี้หวน 奕寰" เป็นโอรสองค์ที่เจ็ดในฮ่องเต้เต้ากวง เป็นฉุนชินหวังรุ่นแรกแห่งราชวงศ์ชิง ภายหลังเสียชีวิตได้รับพระสมัญญานามว่า "เสียน 贤" ด้วยเหตุนี้ต่อมาจึงเรียกขานว่า ฉุนเสียนชินหวัง 醇贤亲王
ท่านพ่อของฉัน "ไจ่เฟิง 载沣" เป็นลูกชายคนที่ห้าของปู่ และเนื่องจากคนโต คนที่สามและคนที่สี่ด่วนเสียชีวิตไปก่อน ส่วนลูกชายคนรอง "ไจ่เถียน 载湉" ถูกท่านป้า "พระนางซูสีไทเฮา หรือฉือสี่ไท่โฮ่ว 慈禧太后" นำตัวเข้าวัง แต่งตั้งขึ้นเป็นฮ่องเต้(ฮ่องเต้กวงซวี่) ดังนั้นพอท่านปู่เสียชีวิต ตำแหน่งอ๋องก็ตกสู่ท่านพ่อ ท่านเป็นรุ่นที่สองและถือเป็นฉุนชินหวังรุ่นสุดท้าย ส่วนฉันเองเป็นลูกชายคนโตของฉุนหวังรุ่นที่สอง
อายุได้สามขวบปีนั้น เดือนสิบวันที่20 ตามปฏิทินโบราณ พระนางซูสีไทเฮาและฮ่องเต้ทรงพระประชวรอย่างหนัก จู่ๆ ไทเฮาก็ทรงตัดสินพระทัยแต่งตั้งให้ฉันเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากฮ่องเต้กวงซวี่และถงจื้อ (พระนามเดิม ไจ่ฉุน 载淳 พระโอรสของพระนางซูสีไทเฮา) ภายในระยะเวลาสองวันนับจากฉันเข้าวังมา กวงซวี่และซูสีไทเฮาก็ทรงสิ้นพระชนมลง พอวันที่สองเดือนสิบสอง ฉันก็ขึ้นรับตำแหน่งเป็นฮ่องเต้ นับเป็นลำดับที่สิบแห่งราชวงศ์ชิง และถือเป็นฮ่องเต้องค์สุดท้าย มีชื่อรัชสมัยว่าเซวียนถ่ง 宣统 ต่อมารัชสมัยเซวียนถ่งปีที่3ก็เกิดเหตุปฏิวัติซินไฮ่ขึ้น แล้วฉันก็สละราชสมบัติ...."
และนี่คือเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือชื่อ "ครึ่งชีวิตแรกของฉัน《我的前半生》" เป็นหนังสืออัตชีวประวัติที่เขียนขึ้นโดยผู่อี๋ 溥仪ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน ซึ่งหากว่ากันตามกฏเกณฑ์แห่งการสืบราชสันตติวงศ์ของราชวงศ์ชิงแล้ว ตำแหน่งฮ่องเต้ไม่ควรจะตกสู่ผู่อี๋ เพราะในฤดูใบไม้ร่วงปี 1908 ฮ่องเต้กวงซวี่ทรงพระประชวรอย่างหนักนั้น
พระนางซูสีไทเฮาเองก็ทรงร้อนพระทัยยิ่งว่าจะแต่งตั้งใครเป็นผู้สืบทอด เนื่องเพราะฮ่องเต้ถงจื้อและกวงซวี่ทรงไม่มีโอรสหรือธิดาสืบสกุลแต่อย่างใด และถ้าไล่ตามลำดับแล้ว รุ่น "ผู่" ผู้เป็นหลานคนโตนั้นคือ ผู่เหว่ย 溥伟 ซึ่งปู่เป็นน้องชายคนที่หกของฮ่องเต้เสียนเฟิง แต่ซูสีไทเฮากลับเลือกยกตำแหน่งผู้สืบราชสมบัติคนต่อไปให้กับหลานของน้องชายฮ่องเต้กวงซวี่ หรือก็คือ ผู่อี๋ ที่ยังเล็กวัยเพียงแค่สามขวบในขณะนั้นแทน
หลายคนต่างคาดเดากันว่าเป็นเพราะพระนางฯ คิดว่าตนเองยังไหวแต่งตั้งฮ่องเต้องค์น้อยขึ้นมาย่อมง่ายต่อการควบคุม นอกจากนี้มารดาของผู่อี๋ก็เป็นน้องสาวแท้ๆ ของพระนางฯ แต่เหตุการณ์กลับกลายเป็นว่าย่างเข้ากลางเดือนพฤศจิกายน ฮ่องเต้กวงซวี่และซูสีไทเฮากลับทรงสิ้นพระชนมลงในเวลาไล่เลี่ยกัน (กวงซวี 18 สิงหาคม ค.ศ.1871 - 14 พ.ย. ค.ศ. 1908 / ซูสีไทเฮา 29 พ.ย.ค.ศ. 1835 - 15 พ.ย. ค.ศ.1908)
ผู่อี๋ด้วยวัยเพียงสามขวบถูกอุ้มขึ้นนั่งบนบัลลังก์มังกรเพื่อทำพิธีบรมราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1908 ท่ามกลางเสียงกลองเสียงดนตรีที่ดังอึกทึก และขุนนางนับร้อยที่เฝ้าคุกเข่าคำนับ สร้างความตกใจและทำให้เขาร้องไห้ไม่หยุด บิดาผู่อี๋จะปลอบอย่างไรก็ไม่ได้ผล ท้ายที่สุดนำของเล่นออกมาล่อพลางพูดปลอบขวัญว่า "ใกล้แล้ว ใกล้แล้ว อีกประเดี๋ยวก็จบสิ้นแล้ว"
พวกขุนนางน้อยใหญ่ที่ได้ยินต่างเอาไปพูดกันว่าช่างไม่เป็นมงคลเอาเสียเลย และไม่ถึงสามปีก็เป็นเรื่องขึ้นจริงๆ เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ล้มล้างราชวงศ์ชิง และสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นในปี 1912 ผู่อี๋เนื่องด้วยยังเล็กพระนางหลงอวี้ไทเฮา(隆裕太后มเหสีของจักรพรรดิกวงซวี่ ถือเป็นพระมารดาเลี้ยงของผู่อี๋) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนประกาศสละราชสมบัติในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1912
และตามข้อกำหนดที่ตกลงกันว่าภายหลังการสละราชสมบัติจะไม่มีการปลดฮ่องเต้ ผู่อี๋ยังคงประทับภายในพระราชวังต้องห้ามต่อไปได้ และในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 ผู่อี๋ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นฮ่องเต้อีกครั้ง โดยจางซวิน 张勋 นำกำลังทหารเข้าปฏิวัติและประกาศคืนราชบัลลังก์ให้กับผู่อี๋ แต่ก็เป็นได้เพียง 12 วันก็ต้องลงจากบัลลังก์มังกรหวนคืนสู่สามัญอีกครั้ง ต่อมาปี1924 เฝิงอวี้เสียง 冯玉祥 พร้อมพรรคพวกทำการรัฐประหารและกำจัดเงื่อนไขสิทธิพิเศษต่อเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ชิง ทำให้ผู่อี๋ถูกขับออกจากวัง และหันหน้าเข้าพึ่งสถานทูตญี่ปุ่น
ต่อมาเกิดเหตุการณ์ 18 กันยายน ค.ศ.1931 (Mukden Incident) ซึ่งถือเป็นการจุดชนวนสงครามระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารจีนและนำไปสู่การก่อตั้งประเทศแมนจูกั๋วในปีต่อมา และผู่อี๋ได้ถูกยกขึ้นเป็นฮ่องเต้ครั้งที่ 3 ในปี 1934 โดยการสนับสนุนของกองทัพญี่ปุ่น ต่อเมื่อญี่ปุ่นประกาศแพ้สงครามในเดือนสิงหาคม ปี 1945 ผู่อี๋ได้ถูกจับกุมตัวระหว่างการหลบหนีไปประเทศญี่ปุ่นโดยทหารโซเวียตและถูกคุมขังไว้ที่ไซบีเรียนาน 5 ปี ต่อมาสหภาพโซเวียตได้ส่งตัวผู่อี๋ในฐานะอาชญากรสงครามให้กับรัฐบาลจีนในเดือนสิงหาคมปี 1950 และถูกคุมขังปรับเปลี่ยนค่านิยมและความประพฤติเสียใหม่อยู่เกือบ 10 ปี ต่อมาภายหลังจึงได้รับนิรโทษกรรมในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1959
ภายในสถานกักกัน ผู่อี๋เริ่มเรียนรู้ที่จะผูกเชือกรองเท้าด้วยตัวเอง ซักเสื้อผ้าเอง ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกในชีวิต ความสำนึกตนว่าเป็นเจ้าเหนือหัวค่อยๆ มลายไป เกิดความรู้สึกที่ว่าตนเป็นประชาชนคนหนึ่งมีสิทธิเท่าเทียมกันเป็น "เจ้าของประเทศร่วมกัน" เข้ามาแทนที่ เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมา ผู้เฒ่าผู้แก่ที่พบหากทำการหมอบคำนับต่างถูกผู่อี๋ตำหนิทันทีว่ามีความคิดล้าหลัง และต่อมามีความตั้งใจว่าจะเขียน "ครึ่งชีวิตหลังของฉัน《我的后半生》" ออกมาเป็นหนังสือภาคต่อ
แต่ม่านชีวิตของเขาก็ต้องปิดฉากลงเสียก่อนด้วยโรคมะเร็งร้ายที่คุกคามและจากไปในวัย 62 ปี โดยมีการจัดพิธีเผาศพและนำอัฐิเก็บไว้ที่สุสานปาเป่าซานเก๋อมิ่งกงมู่ 八宝山革命公墓 กรุงปักกิ่ง ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ได้มีการย้ายอัฐิไปบรรจุที่หัวหลงหวงเจียหลิงหยวน (华龙皇家陵园) มณฑลเหอเป่ย ซึ่งเป็นสุสานของเอกชนที่สร้างติดกับสุสานฉงหลิง 崇陵 ที่ฝังพระศพฮ่องเต้กวงซวี่แห่งราชวงศ์ชิง
หนังสืออัตชีวประวัติ "ครึ่งชีวิตแรกของฉัน" ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
ได้รับการตีพิมพ์ 21 ครั้ง มียอดรวมการพิมพ์จำหน่ายกว่า 1,863,000 เล่ม
ถือเป็นงานเขียนที่มีพลังชีวิตสูงมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ