เมนูอาหารเลิศรสของคนจีนในปัจจุบันมีอยู่มากมาย แต่เมื่อถึงเวลาหิวท้องร้องปั่นป่วน เวลาก็เร่งด่วนอย่างแรง แต่สมองกลับไม่แล่น คิดไม่ออกบอกไม่ถูกว่าจะทานอะไรดี ก็มักจะจัดเข้าสู่โหมดการสั่งอาหารจีน "เมนูสิ้นคิด" ที่มีอันดับความท๊อปฮิตสั่งกันติดปากต่อจาก "จิงเจี้ยงโร่วซือ (京酱肉丝)" หรือ หมูผัดเต้าเจี้ยวหวานปักกิ่ง หนึ่งเมนูเด็ดของปักกิ่งก็มาต่อกันอีกจานกับอาหารเส้นยอดนิยมของปักกิ่ง "จ๋าเจี้ยงเมี่ยน (炸酱面)" หรือ หมี่แห้งคลุกซอสผัด
ซอสผัดของจ๋าเจี้ยงเมี่ยน มีหมูเนื้อแดงติดมัน
ซอสเต้าเจี้ยว และซอสหวานเป็นส่วนประกอบหลัก
จ๋าเจี้ยงเมี่ยน เป็นอาหารเส้นจานโปรดของคนปักกิ่ง ที่ไม่เพียงเพราะความอร่อย แต่ยังชนะใจด้วยความสะดวกบวกประหยัด เพราะมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในอดีตไม่ได้ดีนัก บางคนเพื่อประหยัดค่าอาหารกลางวันก็ยอมเสียเวลาร่วมครึ่งชั่วโมงในการเดินทางกลับไปทานข้าวที่บ้าน เมื่อกลับถึงบ้านแล้วเพื่อไม่ต้องเสียเวลาในการปรุงให้ยุ่งยากอีก ก็เลือกที่จะลวกเส้นก๋วยเตี๋ยวขึ้นมาทานกับซอสผัดที่ทำเตรียมไว้ล่วงหน้า ที่แม้ว่าจะใช้น้ำมันผัดแต่ก็สามารถทานได้หมดโดยไม่รู้สึกเลี่ยน และยังมีผักสดหรือลวกสุก อาทิ แตงกวา ถั่วงอก แครอท ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา หรือเต้าหู้เส้น ใส่คลุกผสมเพิ่มความอร่อยและเสริมคุณค่าให้กับหมี่จานโปรด
การขุดพบเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก
ณ แหล่งขุดค้นทางโบราณคดี "หล่าเจีย" มณฑลชิงไห่
และจะว่าไปแล้วอาหารเส้นเป็นอาหารที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะจีน อิตาลี และกลุ่มประเทศอาหรับ ต่างมีความเป็นมาเกี่ยวกับอาหารเส้นที่เก่าแก่ ซึ่งในเดือนตุลาคม ปี 2005 ได้มีการค้นพบเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ถูกชามครอบปิดผนึกไว้ในสภาพกึ่งสูญญากาศ ณ แหล่งขุดค้นทางโบราณคดี "หล่าเจีย 喇家" อำเภอหมินเหอเสี้ยน มณฑลชิงไห่ มีอายุสมัยวัฒนธรรมราวสี่พันปีก่อน เส้นก๋วยเตี๋ยวดังกล่าวมีสีออกน้ำตาลอมเหลือง ทำมาจากข้าวฟ่างหรือข้าวเดือย มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางราว 3 มิลลิเมตร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวในอดีตเกิดแผ่นดินไหวขึ้นทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ถูกกลบทับในชั่วพริบตา โครงกระดูกที่ขุดพบรวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ถูกรักษาสภาพไว้อย่างสมบูรณ์และกลายเป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญ ซึ่งหลักฐานการค้นพบเส้นก๋วยเตี๋ยวโบราณครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าชนชาติจีนนับแต่อดีตหลายร้อยหลายพันปีก่อนสามารถทำเส้นก๋วยเตี๋ยวขึ้นได้แล้ว และประเทศจีนน่าจะเป็นประเทศผู้ให้กำเนิดก๋วยเตี๋ยว
มุมหนึ่งของแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีหล่าเจีย มณฑลชิงไห่
และจากหลักฐานการจดบันทึกในอดีตที่ถูกค้นพบ มีการเอ่ยถึงก๋วยเตี๋ยวที่เก่าก่อนสุดอยู่ในช่วงยุคฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) ซึ่งในอดีตการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดทำให้เกิดโรคภัยได้ง่าย แต่ก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารที่ผ่านการต้มจึงช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยได้มาก ซึ่งการทานก๋วยเตี๋ยวในอดีตเหล่าผู้ดีมีตระกูลหรือพวกมีอันจะกิน จะทานเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ เพราะสามารถซื้อเนื้อซื้อกระดูกมาต้มปรุงเป็นน้ำซุปรสดีได้
ทั้งนี้ คำเรียกก๋วยเตี๋ยวหรือ "เมี่ยนเถียว 面条" มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป โดยในสมัยฮั่นตะวันออกเรียกว่า จู๋ปิ่ง (煮饼)" ยุคเว่ยจิ้น(ค.ศ.220-420)เรียกว่า "ทังปิ่ง (汤饼)" ราชวงศ์เหนือใต้(ค.ศ.420-589)เรียกว่า "สุ๋ยอิ่น (水引)" ยุคราชวงศ์ถัง(ค.ศ. 618-907)เรียกว่า "เหลิ่งถาว (冷淘 หมี่เย็น)" เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งแบบแห้งและแบบน้ำหลากรสให้เลือกสรรได้อย่างสะดวกครบครันและรวดเร็ว
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรส "อี๋ว์เซียงโร่วซือ" และ "จ๋าเจี้ยงเมี่ยน"
อีกหนึ่งทางเลือกแบบอิ่มด่วนสะดวก