รูป A สถิติจำนวนผู้มีคุณสมบัติผ่านเข้าสู่การสอบคัดเลือกของแต่ละปี
ปีนี้มีการเปิดรับเฉพาะผู้จบการศึกษาใหม่และผู้มีประสบการณ์แล้วเท่านั้น จึงทำให้ผู้จบการศึกษาใหม่ต่างแห่กันมาสมัครในตำแหน่งงานตามเมืองใหญ่และหน่วยงานที่มีชื่อเสียงซึ่งมีผลให้อัตราการแข่งขันสูงขึ้นมาก เช่น บางตำแหน่งในกระทรวงการต่างประเทศมีสัดส่วนผู้สมัครสอบกว่า 1,000 คนต่อ 1 ตำแหน่ง แต่บางตำแหน่งตามชนบทพื้นที่ห่างไกลทางเขตตะวันตกของจีนก็แทบไม่มีใครสมัครเลย จนทางผู้จัดการสอบต้องขอความร่วมมือให้ผู้สมัครลองสมัครตำแหน่งเหล่านี้ เพื่อความเป็นไปได้ในการผ่านการคัดเลือกเพราะคะแนนไม่สูงเท่าตำแหน่งตามเมืองใหญ่และหน่วยงานใหญ่ รวมถึงช่วยกันกระจายความเจริญและสร้างความสมดุลสู่ท้องที่ชนบทห่างไกล
รูป B บรรยากาศการสอบคัดเลือกของปีนี้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนสมัครเข้าสอบคัดเลือกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐสูงขึ้นทุกปีนั้น มาจากค่านิยมและประโยคที่ว่า "Iron rice bowl" เป็นคำเปรียบเทียบตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐในระบบสังคมนิยมที่เป็นอาชีพมั่นคง มีสวัสดิการรัฐดูแลรอบด้าน และมีโอกาสก้าวหน้าในอนาคตด้วย แต่ก็ยังมีอีกหลายคนเข้าใจผิดกับการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเพราะคิดว่า เป็นงานง่ายๆ เช้าชาม เย็นชาม ทำให้หมดวันไปก็ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการที่เลี้ยงดูแลไปจนตลอดชีวิต
หากพิจารณาแต่ละตำแหน่งต่างๆ ที่เปิดรับสมัครนั้น จะเห็นว่า ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย บางตำแหน่งต้องทำหน้าที่ประสานงานให้กับโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องพร้อมต่อคำสั่งตลอด 24 ชั่วโมง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่กงศุลก็ต้องมีการทำงานในช่วงกลางคืนสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ หรือตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานบรรเทาภัยพิบัติ นอกจากต้องเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมงแล้วยังต้องพร้อมต่อการเดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุได้ทุกเมื่อ เป็นต้น
รูป C บรรดาผู้เข้าสอบขณะรอห้องสอบเปิด
ค่านิยมการเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั่นเป็นค่านิยมที่ดี หากมองว่า การทำงานให้รัฐเป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติ ทำด้วยความเสียสละ รับผิดชอบ มีอุดมการณ์และสร้างสรรค์ให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขย่อมเป็นผลดีกับประเทศแน่นอน แต่หากมีทัศนคติมองแค่ว่า เป็นงานง่ายๆ ไม่ต้องดิ้นรนมากก็มีความมั่นคงตลอดชีวิต แค่เริ่มต้นคิดแบบนี้ก็ไม่น่าจะผ่านคุณสมบัติในลำดับต้นๆ ของการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว
แต่ไม่ว่าจะทำงานกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ทุกๆหน่วยงานมักจะพิจารณาจาก "ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน" เหมือนกันทั้งสิ้น
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์