เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัยสังคมของจีนได้จัดงานแถลงข่าว "รายงานวิจัยด้านสังคมและสภาวะจิตใจของชาวจีนประจำปี 2012-2013" และส่วนหนึ่งของรายงานนี้ได้กล่าวถึงการพิจารณาเลือกคู่ครองของชาวจีนในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื้อหาดังกล่าวนั้นมาจากการสำรวจจากกลุ่มเป้าหมายตัวอย่างทั้งชายและหญิงในสังคมจีนยุคใหม่ซึ่งได้สะท้อนให็เห็นถึงทัศนคติ ค่านิยม และความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก โดยประเด็นที่ทำการสำรวจนั้นได้แยกเป็นประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเลือกคู่ครองและใช้ชีวิตคู่ที่มีทัศนะวิพากษ์ตามขั้นตอนของการสำรวจทางสังคมศาสตร์
ประเด็นแรกเกี่ยวกับความคาดหวังด้านรายได้ของคู่ครองสำหรับชาวจีนยุคใหม่นั้นมีจำนวนชายจีนที่ยอมรับและคาดหวังว่า ภรรยาของตนจะหาเงินเข้าบ้านได้มีอัตราสูงขึ้นมาก แต่ยังมีข้อแม้ว่า "ช่วยกันหาเงินเข้าบ้านได้แต่รายได้ต้องน้อยกว่าสามี" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตความเป็นอยู่ในทุกวันนี้ หากรอรายได้จากผู้ชายเพียงลำพังคนเดียวอาจจะไม่พอกินพอใช้แล้ว จึงต้องยอมให้ผู้หญิงออกไปทำงานเพื่อเพิ่มรายรับในบ้าน แต่ก็ยังติดกับกรอบแบบเดิมที่ไม่อยากให้ผู้หญิงเก่งหรือมีความสามารถสูงกว่าตัวเอง อีกทั้งยังอยากจะเป็นผู้นำหลักและคนสำคัญในครอบครัวอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้ก็มีผู้ชายจีนยอมรับให้ภรรยาของตนมีรายได้เท่ากันอยู่ที่อัตราร้อยละ 25.7 ขณะที่มีผู้ชายจีนที่ยังยอมรับภรรยาที่มีความสามารถและมีรายได้มากกว่าตนอยู่ในอัตราที่ไม่ถึงร้อยละ 1 จากผู้ชายจีนที่เข้าร่วมการสำรวจทั้งหมด ถึงแม้จะเป็นอัตราที่น้อยมากแต่ก็ถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่จะสามารถขยายชัดขึ้นเพราะเป็นการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงค่านิยมและทัศนคติให้ไปในทางที่ดีขึ้นและเท่าเทียมกันมากขึ้นได้ในอนาคต
แต่ในทางกลับกัน ผู้หญิงจีนยังมีความคาดหวังให้สามีต้องหาเงินได้มากกว่าตัวเองถึงอัตราร้อยละ 44 ดูจากตัวเลขนี้แล้วก็ไม่ได้สร้างความแปลกใจอะไรให้กับผู้ทำการสำรวจและสังคม เพราะภรรยามักต้องการให้สามีมีบทบาทมากกว่า แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่า มีผู้หญิงจีนเกือบครึ่งหนึ่งที่หารายได้เข้าบ้านมากกว่าสามีของตัวเอง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงจีนว่า ได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและการก้าวกระโดดของเศรษฐกิจจากที่เคยเป็นแม่บ้านก็เปลี่ยนเป็นผู้หารายได้หลักและดูแลครอบครัวควบคู่ไปกับสามี
ส่วนอีกประเด็นเกี่ยวกับความต่างด้านอายุสำหรับคู่ครองก็ได้ทำการสำรวจในรายงานนี้ด้วยเช่นกัน ความต่างด้านอายุนั้นก็เป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับการถือนำบทบาทในครอบครัว ในรายการระบุว่า ผู้หญิงจีนทั่วไปต้องการมีสามีที่อายุมากกว่าตน แต่รายงานได้คาดการณ์ไว้ว่า ความต่างด้านอายุจะค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจตั้งแต่ปี 2005 พบว่า ผู้หญิงจีนอยากมีคู่ครองที่แก่กว่าประมาณ 4.14 ปี จนถึง 12.58 ปี ต่อมาในปี 2010 ได้ลดลงเหลือ 1.1 ปี ถึง 8.47 ปี ส่วนผู้ชายจีนอยากมีคู่ครองที่อ่อนกว่าประมาณ 0.99 ปี ถึง 5.24 ปี จะเห็นได้ว่า ทั้งสองฝ่ายไม่อยากมีคู่ครองที่อ่อนหรือแก่กว่าตนมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เพราะกลัวเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย
รายงานนี้ได้ทำการสำรวจร่วมกันระหว่างสถาบันสังคมศาสตร์และเว็บไซต์หาคู่ที่มีชื่อเสียงของจีน (www.baihe.com) ได้สุ่มทำการสำรวจผู้เข้าร่วมทั้งชายและหญิงที่มีอายุระหว่าง 18-40 ปี หลังจากนั้นได้นำคำตอบจากผู้เข้าร่วมประมาณ 35,000 คนมาวิเคราะห์และประเมินออกมาทำการอ้างอิง จากการสำรวจเห็นว่า "บรรทัดฐานของผู้คนในสังคมยังให้ความสำคัญกับการแต่งงานเพราะถือเป็นเรื่องที่ต้องทำตามธรรมเนียมปฏิบัติดังนั้นจึงเกิดผลกระทบทางสังคมตามมาอย่างชัดเจน คืออัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถมองข้ามไปได้" และตั้งแต่เว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ได้รับความนิยมในหนุ่มสาวชาวจีนมากขึ้น ทางคณะทำการสำรวจจึงสนใจศึกษาเกี่ยวกับสภาวะทางจิตใจและความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ใช้บริการนี้ว่า การแต่งงานที่เกิดจากการหาคู่ผ่านช่องทางนี้นั้นเกิดจากความรักแท้จริงหรือต้องการเพียงแค่หาคู่เพื่อแต่งงานให้พ้นจากข้อครหาของสังคมกันแน่
"ดิฉันมีงานและรายได้ที่ดีมากอยู่แล้ว พอเลือกสามีก็เลยไม่ได้สนใจในเรื่องรายได้ของเขาเท่าไรนัก คาดหวังแต่เพียงขอให้คนนั้นมีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคงบ้างไม่จำเป็นต้องสูงก็ได้" น.ส.หาน ฉวง วัย 30 ปี สาวจีนที่เข้าร่วมการหาคู่ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์นี้ได้เปิดเผยความคาดหวังและความในใจอย่างตรงไปตรงมาในประวัติส่วนตัวที่ต้องโชว์บนเว็บไซต์เพื่อหาคู่ ต่อมา เธอก็ได้คู่ครองที่เหมาะสม มีรายได้เท่ากันและทั้งคู่ก็ได้แต่งงานในที่สุด
นอกจากกรณีที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว จากการสำรวจยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งอีกด้วย นั่นคือ ในปัจจุบัน ผู้หญิงจีนกลายเป็นผู้หญิงทำงานมากขึ้นและมีความเป็นอิสระสูงโดบมีถึงร้อยละ 39 ปฏิเสธการเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียวหลังแต่งงาน ส่วนอีกร้อยละ 98 ไม่อยากแบมือขอเงินจากสามี จากตัวเลขนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ได้ว่า นับเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจีนครั้งใหญ่ และกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า
ในช่วงปี 1970 เป็นยุคที่เหล่าบรรดาปัญญาชนมีสถานะสูง มีการศึกษาสูงและได้รับการยอมรับในสังคมทำให้มีสิทธิ์ที่จะเลือกคู่ครองได้มากกว่าชนชั้นอื่นๆ ต่อมาในช่วงปี 1980-1990 เป็นช่วงที่ประเทศจีนพัฒนาและเติบโตแบบก้าวกระโดดทางด้านเศรษฐกิจจนทำให้บรรทัดฐานในการเลือกคู่ครองเปลี่ยนไปจากคนที่มีความรู้สูงมาเป็นคนที่มีรายได้สูงแทน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นหญิงหรือชาย อีกทั้งยังเกิดกระแสของผู้หญิงเองที่ตระหนักรับรู้ในหน้าที่และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ มีอัตราทั้งหญิงและชายจำนวนมากเริ่มยอมรับและตระหนักว่า ผู้หญิงจีนมีบทบาทและหน้าที่หลักมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องปากเรื่องท้องในครอบครัว
บริบทและปัจจัยต่างๆ ในสังคมก็ย่อมเปลี่ยนตามยุคสมัยและเวลาที่เปลี่ยนไป ครอบครัวนั้นเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมก็จริงแต่ก็เป็นหน่วยที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคมได้เช่นกัน จากบทบาทหน้าที่ของสามีในอดีตที่ต้องนำและเป็นหลักนั้นได้เปลี่ยนถ่ายและแบ่งปันมาให้ภรรยาช่วยกันแบกรับภาระต่างๆ ร่วมกัน แน่นอนว่า ความกดดันและความเครียดต่างๆที่เบาบางและจะทำให้ชีวิตคู่มีความสุขและราบรื่นขึ้น ที่สำคัญผู้หญิงเองก็มีความเป็นมนุษย์มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันและมีความสามารถไม่ต่างกับผู้ชาย หากได้การยอมรับและให้โอกาสในการดูแลครอบครัวร่วมกันย่อมเป็นสิ่งที่พิเศษที่สุด เพราะครอบครัวเป็นของทุกคนในครอบครัว ไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง คำโบราณมักกล่าวว่า "ภรรยาเปรียบเหมือนลมใต้ปีกของสามีที่คอยสนับสนุนและพยุงให้ครอบครัวบินไปตามทิศทางที่ถูกต้อง" แต่ปัจจุบัน ลมใต้ปีกที่ว่านั้นอาจจะเปลี่ยนทิศเพื่อส่งให้พัดสูงขึ้นและคงสลับกันไปมาระหว่างสามีและภรรยาพยุงให้ครอบครัวถึงจุดหมายปลายทางที่ฝันไว้ร่วมกันได้ในที่สุด
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์