การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนทำให้เกิดความต้องการด้านการเดินทางและการขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว หลายปีที่ผ่านมานี้ การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงในหลายเส้นทางในจีนสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวอย่างดี จากข้อมูลของกระทรวงการรถไฟจีน รถไฟความเร็วสูงเป็นที่สนใจของผู้โดยสารชาวจีนที่มีความต้องการด้านการเดินทางมากขึ้น และกลายเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเดินทางด้วยรูปแบบอื่นๆ เช่น รถยนต์ รถไฟแบบดั้งเดิม หรือเครื่องบิน ผู้โดยสารส่วนใหญ่เห็นว่า ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย และรวดเร็ว
ปีนี้ จีนได้เปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงในหลายเส้นทาง เช่นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา จีนเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางเมืองฮาร์บิน- ต้าเหลียน ซึ่งได้เชื่อม 3 มณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้แก่ มณฑลเฮยหลงเจียง จี๋หลินและเหลียวหนิง ซึ่งเป็นเขตที่ภูมิอากาศหนาวเย็นจัดของประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของพื้นที่ดังกล่าว โดยเส้นทางรถไฟนี้มีความยาวทั้งหมด 921 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่กระทรวงการรถไฟจีนแนะนำว่า ในเส้นทางฮาร์บิน-ต้าเหลียน มีรถไฟความเร็วสูงให้บริการ 67 เที่ยวต่อวัน โดยวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วงหน้าร้อน และเฉลี่ย 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วงหน้าหนาว ใช้เวลาเดินตลอดเส้นทางเพียงประมาณ 3-4 ชั่วโมง
การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวทำให้การเดินทางภายใน 3 มณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนใช้เวลาการเดินทางไม่เกินครึ่งวัน และจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจระเบียงอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมเคมีหนักในมณฑลเฮยหลงเจียง เข้ากับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในมณฑลจี๋หลิน และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรในมณฑลเหลียวหนิง รวมถึงท่าเรือที่ต้าเหลียนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ในเชิงการท่องเที่ยว การเปิดเส้นทางรถไฟดังกล่าวยังเป็นการช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวในภูมิภาคดังกล่าวได้อย่างดีอีกด้วย
หลังเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงใน 3 มณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเพียง 25 วัน จีนได้เปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางปักกิ่ง-กว่างโจว โดยมีระยะทางรวม 2,298 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลก วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การเปิดบริการดังกล่าวช่วยลดเวลาการเดินทางจากกรุงปักกิ่งไปยังเมืองกว่างโจวจาก 20 ชั่วโมง เหลือเพียง 8 ชั่วโมง
เจ้าหน้าที่กระทรวงการรถไฟแห่งประเทศจีนอธิบายว่า เส้นทางรถไฟสายนี้ผ่าน 6 มณฑล และเมืองขนาดใหญ่หลายเมือง เช่น เมืองสือเจียจวง เจิ้งโจว อู่ฮั่น และฉางซา นอกจากนี้ ยังผ่านเขตเศรษฐกิจสำคัญของจีนหลายแห่ง เช่น เขตเศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-ถางซาน เขตเศรษฐกิจภาคกลาง เขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี เขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง ตลอดเส้นทางมีสถานีรถไฟ 35 แห่ง มีขบวนรถไฟที่วิ่งให้บริการในเส้นทางนี้ 155 คู่ขบวนต่อวัน และจะมีการเสริมเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์ และช่วงวันหยุดยาว เจ้าหน้าที่กระทรวงการรถไฟยังเปิดเผยว่า การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงปักกิ่ง-เมืองกว่างโจวนั้น แสดงให้เห็นว่า โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนพัฒนาขึ้นสู่ระดับใหม่แล้ว โดยการเปิดเส้นทางใหม่นี้ จะทำให้จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เปิดให้บริการแล้วอยู่ที่ประมาณ 9,300 กิโลเมตร
จากข้อมูลของกระทรวงการรถไฟของจีน การใช้พลังงานของรถไฟความเร็วสูงมีประสิทธิภาพมากกว่าของรูปแบบการขนส่งอื่นอย่างมาก ปัจจุบัน ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงคิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดของจีน แต่รถไฟความเร็วสูงกลับใช้พลังงานไม่ถึงร้อยละ 20 ของยอดการใช้พลังงานในการดำเนินการขนส่งทุกรูปแบบ การใช้รถไฟความเร็วสูงของจีนจึงเป็นวิธีการประหยัดพลังงานและลดภาวะมลพิษที่ดีในอีกทางหนึ่ง
ก่อนหน้านี้หลายปี รถไฟจีนมีขีดความสามารถในการรองรับความต้องการในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ายังไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งฉุดรั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันการดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟก็เต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีและงบประมาณ จนกระทั่งปี 2004 รัฐบาลจีนจึงได้ประกาศเดินหน้าโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงและผลักดันนวัตกรรมทางเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งอนุมัติการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางปักกิ่ง-เทียนจินเป็นเส้นทางแรก พร้อมกำหนดเป้าหมายให้สามารถเปิดให้บริกายภายใน 5 ปี