มีเพื่อนชาวจีนบอกว่า ใครที่เปิดกิจการในเมืองจีนนั้น ยิ่งเปิดใหญ่เท่าไร คนก็จะยิ่งเยอะ ถ้าเปิดเล็กคนก็จะไม่สนใจ พอมาเห็นร้านหนังสือร้านนี้ผมก็เชื่อตรรกะเบี้ยวๆ ของเพื่อนคนนั้นทันที ฟังตอนแรกก็ไม่เชื่อ เพราะยิ่งกิจการใหญ่ยิ่งต้องมีความเสี่ยง เพราะมีการลงทุนสูง แต่แนวคิดที่เคยติดหัวมาต้องแงะทิ้งออกไปทันที เพราะที่เมืองจีนนั้น ไม่เคยไม่มีที่ไหนไม่มีคน ร้านอาหารขนาดคูหาเดียว คนยังต่อคิวกินกันเลย (ถ้าอร่อยจริง) และบางทีต้องก้มหน้าก้มตานั่งกินกับใครก็ไม่รู้ที่มานั่งซดบะหมี่อยู่ข้างๆ แบบแขนชนแขนเลยทีเดียว ความเสี่ยงเรื่องลูกค้าจึงแทบไม่มี
ที่ร้านหนังสือแห่งนี้ก็เช่นกัน คนแย่งกันซื้อหนังสือราวกับมีมหกรรมลดราคาขนานใหญ่ แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเท่าที่ผมแวะเข้าไปดู ก็เห็นแต่ละชั้นมีกระบะใส่หนังสือลดราคาอยู่เพียงชั้นละแห่งเท่านั้น แต่เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนจีนอ่านหนังสือกันอย่างคึกคักนั้น ผมพบเมื่อได้ลองสุ่มพลิกหนังสือบางเล่มดู แล้วก็บวกลบคูณหารในใจประมาณ 5 นาที จึงเกิดหลอดไฟขึ้นมาบนหัว ทั้งเรื่องแต่ง และเรื่องแปล พบน้อยมากว่ามีราคาเกินเล่มละ 50 หยวน
ช่วงที่ผมเคยทำงานด้านผลิตหนังสืออยู่นั้น ก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อคุมราคาหนังสือให้อยู่ไม่เกิน 200 บาท ทั้งการบรรณาธิกร การเลือกเรื่องมาจัดพิมพ์ การกำหนดจำนวนพิมพ์ การคาดการณ์ทางการตลาด การหาสปอนเซอร์ในบางกรณี การพูดคุยกับนักเขียนเพื่อขอตัดทอนเนื้อหา คิดหาวิธีจัดหน้าที่ประหยัดเนื้อที่ ลดการใช้เทคนิคพิเศษในการผลิต และพยายามไม่ให้เกิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เอาใจใส่อย่างละเอียดตั้งแต่มาถึงมือผม จนไปโรงพิมพ์และออกวางแผง แต่ก็คุมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะราคาหนังสือนั้นขึ้นอยู่กับราคากระดาษที่ผูกกับราคาน้ำมันโลก
มาเห็นราคาหนังสือที่นี่ ทำให้อยากอ่านภาษาจีนออกเสียเหลือเกิน
นอกจากนี้ ด้านหน้าเยื้องกับร้านหนังสือ ที่เป็นจุดจอดรถรับส่งผู้โดยสารของสนามบินปักกิ่งนั้น ยังเป็นศูนย์กลางการจองตั๋วของสายการบินต่างๆ อาทิ ไชน่า อิสเทิร์น ไชน่า เซ้าธ์เทิร์น หูหนาน แอร์ไลน์ ไชน่า แอร์ไลน์ เป็นต้น ทำให้เพิ่มปริมาณคนในบริเวณนี้ให้หนาตามากขึ้นอีกด้วย
และค่าโดยสารชัตเทิล บัส ราคาเพียง 16 หยวนเท่านั้น
ซีตานเริ่มกลายเป็นแหล่งการค้ามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง เพราะในช่วงนั้นเริ่มมีพ่อค้าที่มาจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศมารวมตัวกันที่นี่ ก่อนที่จะเข้าไปสู่ส่วนอื่นๆ ของตัวเมือง ทำให้เกิดโรงแรมที่พัก ภัตตาคาร และร้านค้าต่างๆ ขึ้นเพื่อรองรับพ่อค้าเหล่านี้
สังเกตจาก "ไผ่ฟั่ง" หรือ "ประตูโขง" ขนาดใหญ่ที่ตระหง่านอยู่ด้านหน้าสุดของลานวัฒนธรรมซีตาน ซึ่งยังคงอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นสักขีพยานและสัญลักษณ์ให้ทราบว่าบริเวณแห่งนี้เคยเป็นถนนสำคัญมาก่อนนั่นเอง
ต่อมาหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว บริเวณนี้ได้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการ เพราะมีหน่วยงานของรัฐบาลมาตั้งอยู่ในบริเวณนี้ บวกกับในช่วงปี 1950 ที่เมืองเริ่มมีการขยายขนาดใหญ่ บ้านเรือนผู้คนขยับขยายมาทางทิศตะวันตกมากขึ้น เลยยิ่งทำให้แหล่งการค้าแห่งนี้เติบโตขึ้นตามไปด้วยอย่างมาก
ในปัจจุบันส่วนที่เป็นโซนร้านค้าในอาคารแบบโบราณก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ตรงกลางของหมู่ห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ทั้งหลาย มีลักษณะเป็นสื่อเหอย่วน(บ้านโบราณของปักกิ่ง ที่มีห้องสี่ทิศล้อมรอบลานตรงกลางขนาดใหญ่)
นอกจากประวัติศาสตร์ด้านการค้าแล้ว ซีตานยังเคยเป็นที่แสดงการเคลื่อนไหวของพลังประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 1979 กำแพงที่ทอดตัวอยู่ตามถนนซีตานเคยเป็นที่ติดโปสเตอร์ และที่แสดงหนังสือพิมพ์แจ้งข่าวเขียนด้วยลายมือขนาดใหญ่ ซึ่งโดยมากเป็นข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่คนจีนเรียกว่า "ต้าจื้อเป้า"
หลังจากนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองอะไรเกิดขึ้นอีก มีแต่การพัฒนาในฐานะแหล่งรวมของห้างสรรพสินค้าสำคัญ อาทิ ห้างซีตาน ห้างจงหยู ห้างจอย ซิตี้ ห้างแกรนด์ แปซิฟิกแล้ว ยังมีร้านค้าเก่าแก่ที่เปิดมาตั้งแต่สมัยก่อนอยู่ด้วย อาทิ ร้านขายยากุ้ยเชียงชุน ร้านรองเท้าว่านหลี่ ร้านขายชาหยวนฉางโฮ่ว เป็นต้น
ที่ซีตานกลายเป็นแหล่งรวมของเด็กแนว และคนฮิปๆ ของปักกิ่งนั้น เพราะที่นี่มีโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ มีโรงโบว์ลิ่ง มีลานสเก็ตน้ำแข็งที่เล่นได้ทั้งปี มีลานวัฒนธรรมกว้างใหญ่ด้านบนให้เล่นสเก็ตบอร์ด เล่นท่าจักรยานฟิกซ์เกียร์ได้ มีสินค้านานาชนิดที่นำสมัย และราคาไม่แพงเกินกำลังซื้อของเหล่าวัยรุ่น
โดยเฉพาะใน "ห้างซีตานหมิงจูซื่อฉาง" หรือแปลเป็นไทยได้ว่า "ตลาดไข่มุกซีตาน" หรือ ที่วัยรุ่นปักกิ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า "หมิงจู" นั้นเป็นแหล่งรวมของวัยรุ่นขนานแท้ เพราะแต่ละชั้นแบ่งตามประเภทสินค้าต่างๆ อย่างชัดเจน และมีให้เลือกมากมาย ทั้งเครื่องประดับกุ๊กกิ๊กน่ารัก อุปกรณ์เสริมความงาม พวกตุ๊กตาตัวเล็กๆ ที่เอามาห้อยกับเป้ได้ เสื้อผ้า และรองเท้า ทั้งหมดรวมอยู่ในห้างเดียว ทางเดินขนาดพอสวนกัน 2 คนสบายๆ กลายเป็นสวนกัน 5 คน ทุกซอยที่ซอกซอนไปจึงเหมือนค่อยๆ ไหลไป จะหยุดดูของนานๆ ก็ต้องปักหลักให้ดีๆ
สาเหตุที่คนเลือกมาที่นี่กันมาก เพราะสามารถต่อราคาสินค้าได้ด้วยครับ เพราะร้านส่วนใหญ่เป็นแผงเช่ารายย่อย ไม่ได้เป็นของทางห้างสรรพค้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต่อได้เหมือนกับตลาดรัสเซีย หรือ สิ่วซุ่ย ที่นักท่องเที่ยวไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะถูกไกด์บังคับให้ไปตามโปรแกรม
ถ้าเทียบกันแล้วที่ "หมิงจู" นี้ก็ประมาณ "เจเจมอลล์" หรือ "ยูเนี่ยนมอลล์" เพราะขายของคล้ายกัน เพียงแต่ที่นี่เป็นสไตล์จีนทั้งสินค้าและจำนวนประชากร อีกทั้งเปิดถึงแค่ 5 โมงเย็นเท่านั้น
นอกจากนี้ที่ด้านนอกยังมีร้านตัดผมมากมาย อยากรู้ว่าทรงผมไหนกำลังฮิตที่สุดในหมู่วัยรุ่นปักกิ่งให้มาดูได้ที่นี่ อยากรู้ว่าแต่งตัวแบบไหนถึงจะอินเทรนด์ก็ให้มาเดินดูเด็กแนวที่นี่ได้ และที่สำคัญด้านรอบตึกอีกฝั่งหนึ่งยังเป็นมุมอาหารกินเล่น เช่น ปลาหมึกย่าง เนื้อแพะย่าง บะหมี่ชามเล็ก โดริยากิ ข้าวโพดต้ม และเต้าหู้ทอด ผู้คนจะรุมๆ กันอยู่ที่หน้าร้าน จะไม่ค่อยมีใครเดินไปกินไป ดังนั้นพอซื้อเสร็จก็จะยืนกินกันอยู่ที่หน้าร้าน
ผมไม่รู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร แต่รู้สึกว่าคนเยอะๆ แล้วมันก็อร่อยดี
ซีตานเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาเมืองให้ทันสมัย เพื่อต้อนรับโอลิมปิกปี 2008 ของกรุงปักกิ่ง จึงถูกให้ความสำคัญระดับสูง ขนาดคาราวานประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยังเอาทุเรียนมาฉีกโชว์กลางห้าง เรียกวัยรุ่นจีนให้เดินตามกลิ่นมาช้อปกัยมันมือ
เท่าที่ซีตานเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็แทบจะเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งเดียวจริงๆ ที่ครองใจวัยรุ่นมาโดยตลอด ผู้คนก็ยังมุ่งหน้ามาที่นี่ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าที่นี่จะเป็นส่วนของคนปักกิ่งโดยแท้จริง เพราะไม่มีคณะทัวร์เดินถือธงของชาวจีนต่างมณฑล ไม่มีรถบัสขนาดใหญ่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไม่มีผู้สูงวัยมากนัก นับเป็นพื้นที่ของวัยรุ่นอย่างแท้จริง
ถ้าจะดูกระแสแฟชั่นของวัยรุ่นในเมืองไทยต้องไปสยามแสควร์ แต่ถ้ามาปักกิ่งต้องมาซีตานเท่านั้นนะครับ
เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมป๊อปของปักกิ่งขนานแท้
พัลลภ สามสี